ที่ปรึกษา รมว.เกษตรและสหกรณ์ ชื่นชม มข. พุ่งเป้าโครงการวิจัยด้านแมลง ขับเคลื่อนไทยแหล่งโปรตีนโลก ยกนิ้วโป้ง ตีโจทย์อนาคตถูกทิศทาง!

เมื่อวันศุกร์ที่ 16 ตุลาคม 2563  เวลา 10.00 น.  รองศาสตราจารย์ นพ.ชาญชัย  พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น พร้อมด้วย นายวรทัศน์  ธุลีจันทร์  รองผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น ร่วมต้อนรับ   นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์  เนื่องในโอกาสเดินทางมาตรวจราชการ งานตามนโยบายกระทรวงเกษตรและสหกรณ์  และการขับเคลื่อนศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรม (AIC) ในพื้นที่จังหวัดขอนแก่น  ในระหว่างวันที่ 15-16 ตุลาคม  2563 โอกาสนี้ได้มีการประชุมขับเคลื่อนศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรม (Agritech and Innovation Center : AIC) ร่วมกับกลุ่มร้อยแก่นสารสินธุ์  4 จังหวัด ได้แก่กาฬสินธุ์, ขอนแก่น, มหาสารคาม, ร้อยเอ็ด  โดยมีคณะกรรมการบริหารศูนย์ AIC เข้าร่วมกว่า 100 คน  ณ ห้องประชุมสารสิน ชั้น 2 อาคารสิริคุณากร สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยขอนแก่น

โดยเมื่อเวลา 10.00 น. นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เดินทางถึง มหาวิทยาลัยขอนแก่น และได้เยี่ยมชมการจัดแสดงนิทรรศการเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตรแต่ละจังหวัด ต่อจากนั้น จึงประชุมและมอบนโยบายการขับเคลื่อนศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรม (AIC) ร่วมกับคณะกรรมการบริหารศูนย์ AIC จังหวัด 4 จังหวัด

นายวรทัศน์ ธุลีจันทร์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น

นายวรทัศน์  ธุลีจันทร์  รองผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น กล่าวถึงข้อมูลด้านเศรษฐกิจของจังหวัดขอนแก่น โดยระบุถึง รายได้ต่อหัวประชากร 122,950 บาท ต่อคน ต่อปี   จัดอยู่ในอันดับที่ 1 ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ  และอันดับที่ 32 ของประเทศ มีจุดแข็งที่สำคัญ คือ การมีที่ตั้งที่ได้เปรียบเชิงภูมิศาสตร์รัฐศาสตร์  เป็นจุดกึ่งกลางของอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง เป็นศูนย์กลางการบริหาร และบริการภาครัฐ  ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อยู่ในแนวเส้นทางระเบียงเศรษฐกิจ  ASEAN – EWEC ปัจจุบันได้กำหนดวิสัยทัศน์ในการพัฒนา เป็น มหานครน่าอยู่  มุ่งสู่เมืองนวัตกรรม  ศูนย์กลางเชื่อมโยงอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง  ได้มีการดำเนินโครงการสำคัญต่าง ๆ เพื่อพัฒนาจังหวัดขอนแก่น  เช่น การพัฒนาจังหวัดขอนแก่นสู่เมืองอัจฉริยะ  Smart City และ MICE City การพัฒนาอาชีพด้านการเกษตร  ทั้งด้านพืช  ปศุสัตว์ และประมง ตามนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์  ในรูปแบบเกษตรแปลงใหญ่ หรือ เกษตรอินทรีย์  เพื่อพัฒนาเกษตรกรสู่  Smart Farmer  มีการนำเทคโนโลยี ภูมิปัญญาท้องถิ่น และวิธีการปฏิบัติที่ดีเป็นไปตามหลักสากลมาปรับใช้เพื่อให้เกษตรกรมีความภาคภูมิใจในความเป็นเกษตรกรและสามารถพึ่งตนเองได้อย่างยั่งยืน

รองศาสตราจารย์ นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น

รองศาสตราจารย์ นพ.ชาญชัย  พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า ในนามของประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรม (Agritech and Innovation Center : AIC) จังหวัดขอนแก่น และกลุ่มจังหวัดร้อยแก่นสารสินธุ์ รู้สึกยินดีและขอต้อนรับที่ท่านได้เดินทางมาปฏิบัติภารกิจในการติดตามงานตามนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และร่วมประชุมขับเคลื่อนศูนย์ AIC ของพื้นที่เขตตรวจราชการที่ 12 ณ จังหวัดขอนแก่น

เมื่อคราวที่ท่านอลงกรณ์ได้มาเยี่ยมมหาวิทยาลัยขอนแก่นในการมาเปิดงานเกษตรภาคอีสาน ในเดือนมกราคมปี 2562 ในวันนั้นท่านได้พูดถึงแนวคิดที่จะตั้งศูนย์ AIC ขึ้น เพื่อที่จะยกระดับขีดความสามารถ ความเข้มแข็งของเกษตรกร โดยใช้นวัตกรรมที่ก่อให้เกิดความก้าวหน้าทางการเกษตร หลังจากที่ท่านกลับไปแล้วได้ทำงานอย่างรวดเร็ว และมีการตั้ง AIC ทุกจังหวัด ผมรู้สึกชื่นชมการทำงานที่รวดเร็วของท่านเป็นอย่างยิ่ง  ฉะนั้นในวันนี้ที่ท่านได้มาเยี่ยมทำให้ AIC ทุกจังหวัดมีขวัญกำลังใจ ที่ท่านจะได้รับทราบความก้าวหน้าในการดำเนินงาน ปัญหา อุปสรรคของการขับเคลื่อนงานในระดับพื้นที่  เชื่อว่าด้วยผลงานแนวคิด นโยบายการตั้งศูนย์ AIC จะก่อให้เกิดประโยชน์กับประชาชน เกษตรกร ในพื้นที่ และเป็นพื้นฐานการสร้าง Smart farmer young Smart farmer และ start up ตอบสนองนโยบายของรัฐบาลที่จะทำให้ประเทศไทยเป็นผู้นำโลกด้านอาหารต่อไป”รองศาสตราจารย์ นพ.ชาญชัย  กล่าว

นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวถึง แนวคิดในการตั้งศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรม (AIC) ซึ่งเป็นความร่วมมือของ 4 ภาคีหลัก ประกอบด้วย ภาครัฐบาล ภาคเอกชน ภาควิชาการ ภาคเกษตรกร  ในการปฏิรูปพลิกฟื้นภาคเกษตร ตามนโยบายเทคโนโลยีเกษตร 4.0

“เราต้องมีโครงสร้างกลไกที่เป็นระดับพื้นที่ เราถึงจะพลิกฟื้นปฏิรูปภาคการเกษตรได้อย่างพลิกฟ้าคว่ำแผ่นดินเหมือนอย่างประเทศจีน  เดิมทีเป็นประเทศด้อยพัฒนารับผิดชอบคนพันกว่าล้านคน ไม่น่าเชื่อว่าในช่วง 20 ปีหลัง จีนจับทิศทางถูก โดยการใช้ระบบโครงสร้างเศรษฐกิจใหม่ผสมผสานระหว่างเศรษฐกิจการตลาด มาผสมกับระบบสังคมนิยม สิ่งที่เป็นเครื่องยนต์ในการพลิกฟ้าคว่ำแผ่นดิน คือ เทคโนโลยีองค์ความรู้ภูมิปัญญาพื้นฐานของจีน นี่คือตัวอย่างที่เราได้เห็นว่าการพลิกฟื้นการปฏิรูปจากจนเป็นรวยสามารถทำได้ จากรายได้ต่อหัวของคนจีนที่ต่ำกว่าเรามาก วันนี้สามารถพลิกฟื้นเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่อันดับ 2 ของโลก แซงเยอรมันและญี่ปุ่น ซึ่ง The Wall Street Journal สื่อของอเมริกาได้วิเคราะห์ว่าจีนใช้เวลาพัฒนาไม่เกิน 8 ปี ตรงนี้เป็นข้อพิสูจน์ว่าเราเดินมาถูกทาง  เรามีเครื่องยนต์ตัวหลัก คือ ส่วนราชการของทุก ทบวงกระทรวง กรม ที่มีหน้าที่ในการพัฒนาประเทศ ซึ่งเราต้องเสริมเครื่องยนต์ตัวใหม่เข้าไปเป็น new engine ต้องมีบริหารจัดการที่รวดเร็ว ภายใต้เครื่องยนต์ตัวใหม่ 4 คือ ภาครัฐบาล ภาคเอกชน ภาควิชาการ ภาคเกษตรกรมาเรียนรู้ซึ่งกันและกัน”

ต่อจากนั้นที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวชื่นชมนิทรรศการ ความคืบหน้าของโครงการภายใต้ศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรม (Agritech and Innovation Center : AIC) ของกลุ่มร้อยแก่นสารสินธุ์  โดยเฉพาะโครงการวิจัยเกี่ยวกับแมลงอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยขอนแก่น เพราะสอดคล้องกับ การที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ประกาศตั้งเป้าให้ประเทศไทยเป็นฮับ(Hub)โปรตีนจากแมลงของโลก

“สืบเนื่องจาก องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ หรือ เอฟเอโอ (Food and Agriculture Organization of the United Nations-FAO) ได้ประกาศเมื่อ 2-3 ปีที่ผ่านมาว่า ภายใต้การเพิ่มของประชากรโลกอย่างรวดเร็วใน 15 ปีข้างหน้า ความต้องการโปรตีนจากสัตว์จะเพิ่มขึ้น 30% แต่ว่าการผลิตเนื้อสัตว์ในปัจจุบัน จะไม่เพียงพอ ฉะนั้นภาวะการขาดแคลนอาหารความมั่นคงทางอาหารจะเป็นโจทย์ใหญ่มาก ดังนั้นข้อสรุปของ FAO จึงประกาศว่า แมลง คือ แหล่งโปรตีนที่สำคัญที่สุดของโลกในอนาคต เมื่อสักครู่จึงใช้เวลานานพอสมควรในการดูนิทรรศการ โดยเฉพาะโครงการวิจัยเกี่ยวกับแมลงที่เรียกว่าเป็น eatable insect หมายถึงแมลงที่สามารถกินได้ทั้งคนและสัตว์ ฉะนั้นการที่ มหาวิทยาลัยขอนแก่นได้ตั้งศูนย์แห่งความเป็นเลิศด้านแมลงถือว่ามีความก้าวหน้ามาก ในการตีโจทย์อนาคต

นายอลงกรณ์ กล่าวต่อไปว่า “ประเทศไทยเป็นประเทศผู้ส่งออกอาหารอันดับ 2 ของเอเชีย รองจากประเทศจีนเท่านั้น และ เป็นอันดับ 11 ของโลก เพราะฉะนั้นทั่วโลกต้องการประเทศไทย FAO ออกรายงานล่าสุดเมื่อ 13 กรกฎาคมที่ผ่านมา โดยระบุถึง องค์การอนามัยโลก สหประชาชาติ ที่เผยแพร่ข้อมูลว่าโลกกำลังเข้าสู่ภาวการณ์ขาดแคลนอาหาร จากหลายปัจจัย รวมไปถึงอัตราของการเพิ่มประชากรโลกที่เสี่ยงต่อความอดอยากเกือบ 300 ล้านคน ตัวเลขนี้เพิ่มขึ้นในระยะเวลาเพียงปีเดียว ประเทศไทยจึงมีภาระที่ไม่ใช่แค่เพียงการไต่อันดับมูลค่าการส่งออกรายได้เพิ่มขึ้น แต่ต้องคำนึงถึงคนยากคนจนทั้งในประเทศ และ ต่างประเทศทั่วโลกที่ไม่สามารถเข้าถึงอาหาร ดังนั้นสิ่งที่เราจะทำได้คือ เราต้องใช้เทคโนโลยี องค์ความรู้ และ ศูนย์ AIC คือความหวังทั้งมวล ทั้งในระดับของพื้นที่และในระดับของศูนย์แห่งความเป็นเลิศที่ต้องเก่งในระดับโลก ดังนั้นหน้าที่ของ AIC ที่ได้ทำมาในช่วงที่ แรกตั้งแต่เดือน มิถุนายน – สิงหาคม และเข้าช่วงที่ 2 ในเดือนกันยายน เป็นต้นมาคือการพัฒนาต่อยอดไปถึงเกษตรกร อุตสาหกรรม การค้า ผู้บริโภคภายใต้เกษตร อาหารปลอดภัย  ซึ่งการดำเนินการตามแนวทางนี้เป็นสิ่งที่จะทำให้ประเทศไทย บรรลุเป้าหมายการเป็น top tenของโลกตามที่รัฐบาล รัฐมนตรีกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ประกาศ และตั้งเป้าหมายไว้

หลังจากเสร็จสิ้นการประชุมใน เวลา 13.30 น. ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์  และคณะเดินทางต่อไปยัง ศพก.กลุ่มวิสาหกิจชุมชนแปลงใหญ่จิ้งหรีด ณ บ้านแสนตอ ต.บัวใหญ่ อ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น เป็นลำดับถัดไป

Scroll to Top