สำนักข่าว: brand inside
URL: https://brandinside.asia/engineer-essential-skills/
วันที่เผยแพร่: 15 ก.ย. 2563
โลกปัจจุบันหมุนเร็วและเต็มไปด้วยความท้าทาย แม้แต่อภิมหาเศรษฐีแห่งอาลีบาบา แจ็ค หม่า ก็ยังเคยออกมายอมรับว่าความท้าทายที่น่ากลัวที่สุดคือ “การศึกษา” เพราะในโลกอนาคตมันจะไม่ใช่การแข่งขันกันด้วยความรู้เพียงอย่างเดียว แต่คือการแข่งขันด้วยความคิดสร้างสรรค์ จินตนาการ การเรียนรู้ ความคิดอย่างมีอิสระ อย่างที่เรารู้กันดีว่า วิชาชีพวิศวกรรมถือเป็นแรงขับเคลื่อนหลักของภาคอุตสาหกรรมในบริษัทใหญ่ๆ ระดับโลก ทั้ง Google หรือ Amazon ก็ล้วนกำลังเจอกับความท้าทายนี้ ทำให้ “วิศวกร” ต้องรีบปรับและเปลี่ยนเพื่อรับมือความท้าทายที่เกิดขึ้น วิศวกรยุค 4.0 ไม่ได้จำกัดอยู่แค่กรอบอาชีพเดิม หากแต่ได้กระจายไปในหลายกลุ่มธุรกิจ
ดังนั้น ต้นทางการผลิตวิศวกรจึงมีความสำคัญมาก เพราะเมื่อ Technical Skills หรือความสามารถด้านอาชีพอาจไม่เพียงพออีกต่อไป หากอยากอยู่รอด ต้องมีทักษะอีกด้านที่เรียกว่า Essential Skills หรือ “กึ๋น” ในการใช้ชีวิต เตรียมความพร้อมให้ (ว่าที่) และวิศวกรไทยเท่าทันกับความต้องการอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลง ทำงานได้ราบรื่น และสามารถอยู่รอดได้ในโลกยุค NEXT NORMAL ทำให้เป็นวิศวกรที่โดดเด่นเต็มศักยภาพ
อริญญา เถลิงศรี กรรมการผู้จัดการ SEAC (Southeast Asia Center) ศูนย์พัฒนาและส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตแห่งภูมิภาคอาเซียน กล่าวว่า “SEAC ยังคงมุ่งมั่นดำเนินธุรกิจเพื่อพันธกิจ Empower Lives Through Learning อย่างต่อเนื่อง ด้วยความเชื่อที่ว่ามนุษย์ทุกคนมีโอกาสบรรลุทุกๆ เป้าหมายของชีวิตได้หากมีการเรียนรู้ พัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น เราไม่เคยหยุดยั้งในการร่วมมือกับพันธมิตรที่มีเป้าหมายเดียวกัน คือ การมุ่งพัฒนาและยกระดับศักยภาพคนไทยผ่านการ Reskill & Upskill
ล่าสุด SEAC ได้ร่วมมือกับคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เพื่อร่วมกันออกแบบ พัฒนาหลักสูตรการฝึกอบรมและยกระดับทักษะสร้างความพร้อมของการทำงาน ให้แก่บุคลากร และคนทั่วไป รวมถึงโปรแกรมบ่มเพาะการสร้างนวัตกรรมสำหรับนักศึกษาสาขาวิศวกรรมศาสตร์ ไปจนถึงร่วมกันจัดกิจกรรมปูความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับความสำคัญของวิศวกรรมศาตร์ ให้กับเยาวชนที่มีความสนใจ ทั้งหมดด้วยจุดมุ่งหมายเพื่อสร้างให้ทุกคนพร้อมทั้งทักษะเชิงวิชาการและทักษะที่จำเป็นและสอดคล้องกับความต้องการในสถานการณ์ปัจจุบัน หรือ Essential Skills ไม่ว่าจะเป็นเรื่องทักษะการแก้ปัญหา ความสามารถในการบริหารตัวเอง การมี Entrepreneurial Mindset และการบริหารคนเพื่อทำงานร่วมกัน เช่นนี้เป็นต้น
การร่วมมือกันในครั้งนี้ถือเป็นอีกก้าวสำคัญของ SEAC ในการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน ผ่านการบูราณาการความร่วมมือและความเชี่ยวชาญของทั้งสองหน่วยงาน คือคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่นซึ่งมีความเข้มแข็งอยู่แล้วในเชิง Technical Skills และ SEAC ที่มีความชำนาญในด้าน Essential Skills กับการเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมเติมเต็มองค์ความรู้ในทุกมิติและเตรียมความพร้อมสร้างกำลังคนคุณภาพให้ประเทศไทย”
ข้อมูลจากสภาวิศวกร เมื่อเดือนกรกฎาคมปี พ.ศ. 2562 ที่ผ่านมา ระบุว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีคนรุ่นใหม่ที่สำเร็จการศึกษาด้านวิศวกรรมศาสตร์น้อยลงอยู่ที่ 33,000 คนต่อปี ในจำนวนนี้มีผู้ขอใบอนุญาตประกอบวิชาชีพประมาณ 7,000 คนต่อปี ซึ่งอาจมีเพียงบางส่วนที่ประกอบอาชีพวิศวกร และคาดว่าในอนาคตอันใกล้ ไทยจะมีสัดส่วนของคนเป็นวิศวกรเพียงร้อยละ 5 ของประชากรทั้งประเทศ ในขณะที่สถาบันการศึกษาหลายแห่งเปิดการเรียนการสอนหลักสูตรวิศวกรรมศาสตร์ในหลากหลายสาขาวิชา เพื่อผลิตบัณฑิตป้อนเข้าตลาดแรงงาน และป้องกันไม่ให้กลายเป็นวิชาชีพที่ขาดแคลนในอนาคต เพราะในระยะเวลา 20 ปีต่อจากนี้ ประเทศไทยได้มีการแบ่งกลุ่มอุตสาหกรรมยุทธศาสตร์ เป็นกลุ่ม First S-Curve และกลุ่ม New S-Curve ซึ่งจะรวมไปถึงอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับงานด้านวิศวกรรมที่เป็นพื้นฐานหลักในการผลิต การเพิ่มมูลค่า และการสร้างนวัตกรรม เช่น ด้านยานยนต์ ด้านอิเล็กทรอนิกส์ หุ่นยนต์ การบิน เชื้อเพลิง และเคมี เป็นต้น
รองศาสตราจารย์ ดร. รัชพล สันติวรากร คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) กล่าวว่า “ปัจจุบัน มหาวิทยาลัยขอนแก่นมีหลักสูตรทางด้านวิศวกรรมศาสตร์ เปิดสอนในสาขา วิศวกรรมโยธา วิศวกรรมไฟฟ้า วิศวกรรมเกษตร วิศวกรรมคอมพิวเตอร์ วิศวกรรมระบบอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น หลักสูตรนานาชาติ เปิดสอนในสาขาวิศวกรรมโทรคมนาคม วิศวกรรมโลจิสติกส์ วิศวกรรมเคมี และวิศวกรรมสื่อดิจิทัล หลักสูตร ปริญญาโทที่เด่นๆ อาทิ วิศวกรรมการจัดการอุตสาหกรรมและโลจิสติกส์ วิศวกรรมวัสดุและการผลิต และที่มีเปิดสอนทั้งปริญญาโทและปริญญาเอก อาทิ วิศวกรรมพลังงาน วิศวกรรมชีวการแพทย์ เป็นต้น
ในฐานะสถาบันการเรียนรู้ มีเป้าหมายในการผลิตบัณฑิตให้มีความรู้และทักษะในศตวรรษที่ 21 และเป็นผู้ประกอบการนวัตกรรม เรียกง่ายๆ ว่า ต้องการสร้างคน ซึ่งตรงนี้สอดคล้องกับเป้าหมายและพันธกิจของ SEAC ที่อยากให้คนไทยมีความรู้ความสามารถ ที่พร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงในอนาคต ปัจจุบัน เราจึงมีความมุ่งมั่นเป็นอย่างมากในการสร้าง หลักสูตรสร้างคน เพื่อให้คนไปสร้างชาติ เพราะเราเล็งเห็นถึงข้อเท็จจริงที่ว่า Technical Skills ไม่เพียงพอ ต้องมี Essential Skills เข้ามาเสริมให้คนของเรามีความสามารถที่รอบด้าน โดดเด่นและตอบโจทย์สังคมมากขึ้น ครั้งนี้
ทางมหาวิทยาลัยได้ให้ความสนใจไปยัง 3 กลุ่มหลัก ได้แก่ เยาวชนที่กำลังจะเข้าสู่ระบบอุดมศึกษา นักศึกษาในคณะวิศวกรรมศาสตร์และบุคคลภายนอก โดยเราได้ออกแบบหลักสูตรผ่านการพัฒนาที่เรียกว่า “3Cs” ได้แก่ 1) Camp สำหรับแนะแนว ปูพื้นฐานเยาวชนที่อยากเป็นวิศวกรในอนาคต เราพบว่าเยาวชนจำนวนมากมีการ “ตกออก” หรือ การค้นพบความชอบตัวเองในภายหลังว่าชอบ/ไม่ชอบ สนใจ/ไม่สนใจในเรื่องไหน อาจทำให้เสียเวลาในการเรียนและการใช้ชีวิต ดังนั้น การเตรียมพร้อมผ่านการแนะแนวในชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นจนถึงมัธยมศึกษาตอนปลายจึงเป็นเรื่องที่สำคัญมาก 2) Career สำหรับคนทั่วไปที่ต้องการเพิ่มทักษะความรู้ผ่านการ Reskill & Upskill เตรียมความพร้อมเข้าสู่การทำงาน หรือการเปลี่ยนสายงาน และ 3) Club สำหรับนักศึกษาวิศวกรรมศาสตร์ กับการฝึกสอนให้มี Entrepreneurship Mindset เพื่อให้วิศวกรนรุ่นใหม่สามารถดำเนินอาชีพในศตวรรษที่ 21 และมีความสามารถเทียบเท่ามาตรฐานระดับสากลได้
การร่วมมือพัฒนาหลักสูตรการเรียนรู้กับ SEAC ในครั้งนี้ เราเชื่อว่าจะสามารถตอบสนองความต้องการของคนยุคใหม่ให้มีทักษะรอบด้าน มุมมองที่กว้างขึ้น และมีทัศนคติเชิงบวกในการร่วมพัฒนาประเทศต่อไป”