ปฐมนิเทศโครงการจ้างงานประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การะบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (COVID-19)

      “มข.จัดปฐมนิเทศ โครงการจ้างงานประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การะบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (COVID-19)โครงการสร้างอาชีพ
สร้างชีวิต สร้างชาติ มหาวิทยาลัยขอนแก่น”

         วันที่ 1 มิถุนายน 2563 มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้จัดการปฐมนิเทศ โครงการจ้างงานประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การะบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (COVID-19) โครงการสร้างอาชีพ สร้างชีวิต สร้างชาติ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ผ่านระบบออนไลน์ VDO Conference ด้วย Zoom ให้กับผู้ที่ได้รับการจ้างงานในโครงการ 1,425 คน โดยมี ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กล่าวเปิดและปาฐกภาพิเศษเรื่อง “บทบาทของ อว.กับการสร้างอาชีพ สร้างชีวิต สร้างชาติ” พร้อมด้วย รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวรายงาน และ ดร.สมศักดิ์ จังตระกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น คำกล่าวต้อนรับ ดำเนินการปฐมนิเทศและพิธีกรโดย นางสาววัลยา ภูงาม หัวหน้างานกิจกรรมกองสื่อสารองค์กร มหาวิทยาลัยขอนแก่น ซึ่งโครงการนี้อันเป็นโครงการจากนโยบายของรัฐบาลที่ให้หน่วยงานทุกภาคส่วนดำเนินมาตรการต่าง ๆ เพื่อป้องกันควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 อย่างเข้มงวด ควบคู่ไปกับการใช้มาตรการเยียวยา และช่วยเหลือประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยมอบหมายให้มหาวิทยาลัยขอนแก่น ร่วมกับภาครัฐ เอกชนในจังหวัดขอนแก่น จัดทำโครงการจ้างงานประชาชนในการสร้างอาชีพ สร้างชีวิต สร้างชาติ ดำเนินการดูแลแรงงานในพื้นที่ 8 จังหวัด ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ คือ จังหวัดขอนแก่น จังหวัดกาฬสินธุ์ จังหวัดมหาสารคาม จังหวัดร้อยเอ็ด จังหวัดเลย จังหวัดหนองบัวลำภู จังหวัดชัยภูมิ และ จังหวัดหนองคาย เพื่อเป็นการพัฒนาชุมชนชนบท และชุมชนเมือง สร้างงานรองรับผลกระทบจากสถานการณ์วิกฤต เสริมศักยภาพให้กับกำลังแรงงานสมัยใหม่

        รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวตอนหนึ่งว่า “การดำเนินงานของมหาวิทยาลัยขอนแก่นที่ผ่านมา ได้มีการเปิดรับสมัคร ประชาชนทั่วไปที่เป็นผู้ได้รับผลกระทบของสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า หรือ โควิด-19ครั้งที่ 1 ตามประกาศของมหาวิทยาลัยขอนแก่น ลงวันที่ 28 เมษายน จากนั้นได้มีการขยายระยะเวลาการรับสมัครออกไป ตามที่ท่านรัฐมนตรีได้สั่งการในเรื่องของการขยายระยะเวลาการรับสมัครไปจนถึงวันที่ 5 พฤษภาคม ซึ่งขณะนี้มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้มีการประกาศรายชื่อบุคคลที่ได้รับการพิจารณาให้เข้าร่วมโครงการดังกล่าวแล้ว เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม และกำหนดให้มีการประกอบพิธีปฐมนิเทศ ในวันนี้ ผ่านระบบออนไลน์ ตามมาตรการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า หรือ โควิด-19 อย่างเข้มงวด อีกทั้งมหาวิทยาลัยขอนแก่น ยังได้ประกาศเปิดรับสมัครบุคคล ที่สนใจเข้าร่วมโครงการดังกล่าว ในรอบที่ 2 ตามประกาศมหาวิทยาลัยขอนแก่นที่ 779/2563 เพื่อพิจารณาบุคคลเข้าร่วมโครงการโดยเสร็จสิ้นการดำเนินงานไปแล้วในภาพรวมทั้งหมด รวมทั้งสิ้น 1,355 คน และในส่วนที่ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย ได้ทำการคัดเลือกและมอบให้มหาวิทยาลัยขอนแก่น กำกับติดตาม อีก 70 คน รวมทั้งสิ้น 1,425 คน
        รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล กล่าวอีกว่า ผู้ที่เข้าร่วมโครงการจ้างงานของมหาวิทยาลัยขอนแก่น มีภารกิจหน้าที่สำคัญอยู่ 3 ประการ คือ 1) สำรวจข้อมูลเกี่ยวกับสินทรัพย์เพื่อการประกอบอาชีพ อาทิเช่น สินทรัพย์ทางกายภาพ สินทรัพย์ทางสังคม ภูมิปัญญาท้องถิ่น ต่าง ๆ ที่อยู่ในพื้นที่ต่าง ๆ ตามภูมิลำเนาของตนเอง แล้วบันทึกในระบบฐานข้อมูลขนาดใหญ่ 2)วิเคราะห์ข้อมูลร่วมกับที่ปรึกษา และผู้เชี่ยวชาญของมหาวิทยาลัยขอนแก่น และเครือข่ายที่ร่วมดำเนินโครงการทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และมูลนิธิพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน เพื่อหาโอกาสและวางแผนพัฒนาต่อยอด เพื่อสร้างตนเองให้เป็นผู้ประกอบการ และ 3) รวมทั้งการที่จะต้องเข้าร่วมในการพัฒนาทักษะของตนเอง โดยมหาวิทยาลัยขอนแก่นได้มีการพัฒนาทักษะในลักษณะReskill – Upskill ตามศักยภาพของสินทรัพย์ที่มีในพื้นที่ และความต้องการของกลุ่มเป้าหมายทั้งที่ต่อยอดอาชีพเดิม หรือทักษะใหม่ที่รองรับการพัฒนากำลังคนของประเทศ ซึ่งมหาวิทยาลัยขอนแก่นและเครือข่ายที่ร่วมดำเนินการคาดหวังว่าจะเป็นโอกาสที่ทุกคนจะได้สร้างงาน สร้างอาชีพได้อย่างมั่นคง และยั่งยืนต่อไป

        ดร.สมศักดิ์ จังตระกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น กล่าวตอนหนึ่งว่า ที่ผ่านมารัฐบาลได้ดำเนินทุกมาตรการเพื่อควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดอย่างเข้มงวด ควบคู่ไปกับการกำหนดมาตรการเยียวยาและให้ความช่วยเหลือกับผู้ที่ได้รับผลกระทบ จังหวัดขอนแก่น ได้มีการเตรียมแผนการดำเนินงานเพื่อทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัยขอนแก่น สำหรับการจัดส่งทีมนักวิชาการ มาทำการประเมินภาพรวมของจังหวัดว่าเป็นไปตามนโยบายและแนวทางที่รัฐบาล ซึ่งโครงการจ้างงานประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ฯ โดยท่านรัฐมนตรีฯ ได้พิจารณาอนุมัติงบประมาณในการช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบ โดยมอบหมายให้กับมหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นแม่ข่ายในการบูรณาการและบริหารจัดการโครงการ ดังกล่าว ครอบคลุมพื้นที่ 8 จังหวัด มีพื้นทีเป้าหมายในการดำเนินโครงการ 300 พื้นที่ ด้วยการจ้างงานมากถึง 1,355 คน ในระยะเวลาการทำงาน 4 เดือน ในอัตราการจ้างเดือนละ 9,000 บาท ซึ่งจะเห็นได้ว่าโครงการดังกล่าวนี้นั้นเน้นหนักในเรื่องของการส่งเสริมการพัฒนาทักษะในการทำงานในด้านต่าง ๆให้กับกลุ่มเป้าหมาย เพื่อให้กลุ่มเป้าหมายสามารถสร้างงานสร้างอาชีพและเป็นผู้ประกอบการได้ในที่สุด อีกทั้ง ถือเป็นการแก้ไขปัญหาที่ตรงจุดและมีความยั่งยืน
        ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กล่าวเปิดและปาฐกภาพิเศษเรื่อง “บทบาทของ อว.กับการสร้างอาชีพ สร้างชีวิต สร้างชาติ” ว่า “การดำเนินโครงการครั้งนี้เป็นการบรรเทาความเดือดร้อนให้กับพี่น้องประชาชน แต่สิ่งที่สำคัญมันไม่ใช่เพียงแค่การให้มีงานทำ แต่ได้มอบนโยบายเพื่อเป็นการเปิดโอกาสที่จะให้ประชาชนได้เข้ามาเห็นภาพการทำงานของมหาวิทยาลัยและหน่วยจ้างงานในพื้นพี่ถึงการดำเนินงานในโครงการต่างๆที่มหาวิทยาลัยลงไปในพื้นพี่เพื่อให้ผู้ที่ได้รับการจ้างงานจะนำไปติดต่อยอดทำงานร่วมกันหลังจากที่เสร็จสิ้นโครงการ นอกจากนี้มหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัยในโครงการจะเป็นผู้ทำหน้าที่เสริมทักษะที่จำเป็นในอาชีพให้กับทุกคนที่จะนำไปใช้สำหรับอนาคต เช่นทักษะภาษาอังกฤษ ทักษะด้านดิจิทัล ทักษะการจัดการด้านการเงิน เป็นการติดอาวุธทางปัญญาให้กับประชาชน


       ในการปฐมนิเทศ โครงการจ้างงานประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การะบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (COVID-19)โครงการสร้างอาชีพ สร้างชีวิต สร้างชาติ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ยังได้มีการเสวนาออนไลน์เรื่อง “อนาคตกำหนดได้ด้วยตัวเรา” ผุ้ร่วมเสวนาประกอบด้วย นายวิวัฒน์ ศัลยกำธร อดีต รมต.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ประธานสถาบันเศรษฐกิจพอเพียง ประธานมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ นายโจน จันได ผู้ก่อตั้งศูนย์เรียนรู้การพึ่งตัวเอง สวนพันพรรณ นายปรีชา หงอกสิมมา วนพรรณ ออร์แกนิค การ์เด้น นายอภิโชค ประเสริฐรุ่งเรือง เจ้าของไอเดีย แค่เรื่องขนกระเป๋าก็ทำเงินได้ รุ่นพี่จากคณะวิศวกรรม มข.สู่การเป็นเจ้าของธุรกิจร้อยล้าน ดร.พณชิต กิตติปัญญางาม นายกสมาคม Thailand Tech Startup Association และ CEO-ZTRUS บริษัทนำเสนอโซลูชันการจัดการข้อมูลเอกสารสู่ข้อมูลดิจิทัลบนแพลตฟอร์มออนไลน์ ดำเนินรายการโดย รศ.ดร.ศุภวัฒนากร วงศ์ธนวสุ ผู้รับผิดชอบโครงการจ้างงานประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การะบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (COVID-19) มหาวิทยาลัยขอนแก่น
     

     


อุดมชัย สุพรรณวงศ์ / ข่าว
ณัฐวุฒิ จารุวงศ์ / ภาพ

Scroll to Top