หากจะกล่าวว่าประเทศไทยเป็น “ประเทศแห่งเกษตรกรรม” ก็คงไม่ผิด เพราะจำนวนพี่น้องเกษตรกร 8.7 ล้านคน ประกอบกับพื้นที่ที่ใช้ทำการเกษตรกว่า 142.9 ล้านไร่ หรือคิดเป็นสัดส่วน 44.5 ของพื้นที่ประเทศทั้งหมด ส่งผลให้สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) วิเคราะห์มูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) พบว่าภาคเกษตรกรรมมีมูลค่า 1,531,120 ล้านบาท หรือร้อยละ 8.81 ของ GDP รวมของประเทศ แต่จากปัญหาทางทางธรรมชาติที่ส่งผลต่อผลผลิตที่ลดลง และปัญหาทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ทำให้เกษตรกรที่มีรายได้น้อยอยู่แล้วประสบปัญหาหนี้สินเพิ่มมากขึ้น เกษตรกรบางส่วนจึงหันไปพึ่งการทำการเกษตรแบบ “เกษตรเคมี” มากกว่า โดยหวังจะช่วยให้มีผลผลิตที่เพิ่มขึ้น มีรายได้ที่เพิ่มขึ้น ทว่านี่อาจเป็นการสร้างความเสียหายต่อที่ดินทำกิน และส่งผลต่อความยั่งยืนในการทำการเกษตรในอนาคต
จากปัญหานี้เองทำให้มีนักวิชาการหันมาสนใจศึกษาถึงวิธีการที่จะช่วยเหลือเกษตรกรให้มีรายได้ที่เพิ่มขึ้น มีสภาพที่ดินทำกินที่เอื้อต่อการผลิต และสร้างความยั่งยืนให้กับเกษตรกร ซึ่งความสนใจนี้ทำให้ รศ.ดร.นันทวัน ฤทธิ์เดช อาจารย์ประจำภาควิชาจุลชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ศึกษาวิธีการแก้ปัญหาแบบ “เกษตรอินทรีย์” โดยการนำแกลบมาหมักกับเชื้อจุลินทรีย์เพื่อบำรุงดินและส่งเสริมการเจริญเติบโตของพืช ซึ่งงานวิจัยนี้เกิดขึ้นจากการนำแกลบที่ใช้ปรับปรุงดินอยู่แล้วไปต่อยอดให้มีประสิทธิภาพที่ดีขื้นและสร้างมูลค่าเพิ่มให้เกษตรกรไทย
งานวิจัยนี้ได้นำแกลบดิบมาทำการปรับสภาพด้วยน้ำประปา โมลาส(กากน้ำตาล) ปูนขาว กรดอะซิติก(กรดน้ำส้ม) เป็นเวลา 30 วัน และนำแกลบดิบผสมกับปุ๋ยคอกและหัวเชื้อแบคทีเรีย (Co-inoculums) เป็นระยะเวลา 2 เดือน ผลการทดลองพบว่า การทรีตเมนต์ที่ pre-treated ด้วยกากน้ำตาลและปูนขาวหมักร่วมกับจุลินทรีย์ส่งเสริมการเจริญเติบโตของเมล็ดข้าวได้ดีที่สุด แกลบหมักเหล่านี้ยังถูกนำมาทดลองต่อในดิน 3 ชนิด ได้แก่ ดินปกติ ดินเค็ม และดินเปรี้ยว และได้ทดลองปลูกข้าวไปในดินทั้ง 3 ชนิดนี้ด้วย ผลการทดลองชี้ให้เห็นถึงค่า pH ความเป็นด่างของแกลบหมักที่สร้างสมดุลให้ค่าความเป็นกรดของดินเปรี้ยว จากสภาพความเป็นกรดให้ให้มีสภาพความเป็นกลาง
การทดลองทำให้ของเหลือทิ้งทางการเกษตรอย่างแกลบกลายเป็นสารบำรุงที่มีคุณภาพ ช่วยแก้ปัญหาดินเสื่อมโทรมให้พร้อมเพาะปลูกต่อได้ทันที นอกจากนี้ยังเป็นการลดการใช้สารเคมีกับผลิตภัณฑ์ จึงเป็นการลดต้นทุน เพิ่มรายได้ และสร้างความยั่งยืนให้กับการเกษตร
รศ.ดร.นันทวัน ฤทธิ์เดช ให้สัมภาษณ์ถึงความท้าทายในงานวิจัยนี้ว่า “งานวิจัยนี้เป็นการทดลองใหม่ที่ยังไม่เคยเกิดขึ้น จึงต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมอยู่ตลอด และต้องเตรียมร้อมแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นตลอดเวลา เพราะไม่สามารถคาดการณ์ได้เลยว่าผลการทดลองจะออกมาเป็นอย่างไร”
จากความสำเร็จนี้เอง ทำให้งานวิจัยนี้เป็นหนึ่งในงานวิจัยของมหาวิทยาลัยขอนแก่นที่จะได้นำผลงานไปแสดงที่งาน Expo ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในปี 2025 ณ ประเทศมาเลเซีย และยังได้มีผลงานบทความวิจัยตีพิมพ์ในระดับนานาชาติ Q1 ฐานข้อมูล Scopus + ISI ในวารสารชื่อ Journal oof Soil Science and Plant Nutriton เพื่อเป็นแหล่งศึกษาความรู้ต่อไป
การใช้แกลบหมักผสมเชื้อจุลินทรีย์เพื่อบำรุงดินและส่งเสริมการเจริญเติบโตของพืช เป็นงานวิจัยที่ช่วยเหลือเกษตรในทุกมิติ ทั้งการสร้างสรรค์นวัตกรรมจากผลผลิตทางการเกษตร การสร้างรายได้และสร้างความยั่งยืนให้กับพี่น้องเกษตรกรชาวไทย ดั่งปณิธานแห่งการครบรอบ 60 ปี มหาวิทยาขอนแก่นที่ว่า “60 ปี แห่งการสร้างสรรค์และพัฒนาเพื่อสังคม”
สำหรับพี่น้องเกษตรกรหรือประชาชนที่สนใจจะนำแกลบมาหมักกับเชื้อจุลินทรีย์เพื่อบำรุงดินและส่งเสริมการเจริญเติบโตของพืช สามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ภาควิชาจุลชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
ข่าว : พรหมภพ วอหา นักศึกษาสหกิจศึกษา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มข.
Revolutionary Breakthrough: KKU’s Scientist Turns Agricultural Waste into “Green Gold” for Farmers
https://www.kku.ac.th/18826