เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2567 เวลา 09.00 น. ณ ห้องประชุมสารสิน ชั้น 2 อาคารสิริคุณากร สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยขอนแก่น คณะกรรมการด้านการบริหารจัดการที่ดี มหาวิทยาลัยขอนแก่นจัดประชุมบรรยาย และแลกเปลี่ยนเรียนรู้เรื่อง “การสร้างเส้นทาง Open Society KKU” โดยมี อาจารย์ณัฐสมล ธนกุลรังสฤษดิ์ รองอธิการบดีฝ่ายกฎหมายและสื่อสารองค์กร กรรมการและเลขานุการคณะกรรมการด้านการบริหารจัดการที่ดี กล่าวชี้แจงวัตถุประสงค์ ความเป็นมาของการจัดประชุม และนายสุรพล เพชรวรา อุปนายกสภามหาวิทยาลัยและกรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิ ประธานคณะกรรมการด้านการบริหารจัดการที่ดี ให้เกียรติบรรยายพิเศษ “การสร้างเส้นทาง Open Society KKU” นายอำนาจ พรหมสูตร ผู้ทรงคุณวุฒิ ประธานคณะทำงานคัดเลือกรางวัลโครงการแนวปฏิบัติที่ดี (Good Practice) และแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศ (Best Practice) มหาวิทยาลัยขอนแก่น ชี้แจงหลักเกณฑ์การประเมินโครงการฯพร้อมทั้งการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน ซึ่งมีผู้เข้าร่วมประชุมกว่า 100 คน ประกอบด้วยคณบดี ผู้อำนวยการกอง หัวหน้าส่วนงาน และคณะกรรมการ ที่เกี่ยวข้อง โดยเปิดให้เข้าร่วมประชุมผ่านระบบออนไลน์ด้วย
นายสุรพล เพชรวรา อุปนายกสภามหาวิทยาลัยและกรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิ ประธานคณะกรรมการด้านการบริหารจัดการที่ดี กล่าวว่า กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้กำหนดนโยบาย “Open Society” เพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยสู่ยุค “ประเทศไทย 4.0” ที่ให้ความสำคัญกับความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน โดยส่งเสริมการพัฒนาภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี โดยมุ่งเน้นการสร้างความเข้มแข็งจากภายในและปรับโครงสร้างเศรษฐกิจด้วยนวัตกรรมที่ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วม นโยบายนี้ยังสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ของสหประชาชาติที่สนับสนุนการพัฒนาสังคม สิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน
แนวคิด “Open Society” มีบทบาทสำคัญต่อการสนับสนุนเสรีภาพทางวิชาการและส่งเสริมการมีส่วนร่วม ของนักศึกษา มหาวิทยาลัยหลายแห่งมีการจัดกิจกรรมและหลักสูตรเพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน ความยุติธรรมทางสังคม และการมีส่วนร่วมของประชาชน ตัวอย่างเช่น มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้ดำเนินการตามแผนยุทธศาสตร์ พ.ศ. 2568 – 2571 โดยเน้นเสาหลักด้าน “Spiritual” เพื่อปลูกฝังจิตวิญญาณของการเป็นสังคมเปิด ส่งเสริมให้เกิดการบริหารด้วยหลักธรรมาภิบาลที่ดีและเน้นการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนอย่างโปร่งใส มหาวิทยาลัยให้ความสำคัญกับ Open Society ทั้ง 3 ด้าน ประกอบด้วย ด้านเสรีภาพทางวิชาการ ด้วยการสนับสนุนการวิจัยและการแสดงออกทางความคิดโดยไม่ถูกจำกัด ด้านการมีส่วนร่วมของนักศึกษา โดยการเปิดโอกาสให้นักศึกษาเข้ามามีบทบาทในกิจกรรมและการตัดสินใจต่างๆ ของมหาวิทยาลัย สุดท้ายด้านการศึกษาเพื่อความตระหนักรู้ด้วยการสอนนักศึกษาเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนและความยุติธรรมทางสังคม
นายสุรพล กล่าวเพิ่มเติมว่า การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์นี้ยังได้วางแนวทางในการสร้างความโปร่งใสและความรับผิดชอบผ่านตัวชี้วัดธรรมาภิบาล เช่น ITA เพื่อประเมินคุณธรรมและความโปร่งใส โดยมุ่งให้บุคลากรทุกระดับปฏิบัติจริง ทั้งยังเสริมด้วยการส่งเสริมค่านิยมธรรมาภิบาล 10 ประการ และการแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง ทางสังคม
ดังนั้น การบูรณาการแนวคิด “Open Society” เข้ากับหลักธรรมาภิบาลเป็นการช่วยสร้างมหาวิทยาลัยที่มีคุณภาพ ยั่งยืน และเป็นแหล่งองค์ความรู้ที่ตอบโจทย์สังคมได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ด้าน นายอำนาจ พรหมสูตร ผู้ทรงคุณวุฒิ ประธานคณะทำงานคัดเลือกรางวัลโครงการแนวปฏิบัติที่ดี (Good Practice) และแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศ (Best Practice) มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของการดำเนินการคัดเลือกรางวัลโครงการฯ ว่า เพื่อสนับสนุนให้ส่วนงาน หน่วยงานเห็นความสําคัญของการพัฒนาและการปรับปรุงแนวปฏิบัติการดําเนินการของหน่วยงานให้สอดคล้องกับหลักธรรมาภิบาลที่กําหนด เพื่อคัดเลือกผลงานที่โดดเด่นที่เสนอจากส่วนงาน หน่วยงาน เพื่อรับการพิจารณารับรางวัลโครงการฯ ประจําปีงบประมาณ พ.ศ.2568 และเพื่อเชิดชูเกียรติส่วนงาน หน่วยงานที่มีความมุ่งมั่น ตั้งใจในการพัฒนาการดําเนินการของส่วนงาน หน่วยงานให้มีแนวปฏิบัติที่ดี (Good Practice) หรือแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศ(Best Practice) ตามหลักเกณฑ์ที่กําหนด
นายอำนาจ กล่าวต่อว่า คณะกรรมการฯ มีการแบ่งกลุ่มและประเภทรางวัล ออกเป็น 3 กลุ่ม ดังนี้ กลุ่มวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี กลุ่มวิทยาศาสตร์สุขภาพ กลุ่มมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ รวม 24 ประเภทรางวัล ส่วนหลักเกณฑ์การประเมินโครงการแนวปฏิบัติที่ดี (Good Practice) แนวปฏิบัติที่เป็นเลิศ (Best Practice) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 คณะกรรมการฯ มีการวางกรอบระยะเวลาดําเนินการ ดังนี้
– วันที่ 30 พฤศจิกายน 2567 ส่วนงาน หน่วยงาน ส่งโครงการแนวปฏิบัติบัติที่ดี (Good Practice) และแนวปฏิบัติบัติที่เป็นเลิศ (Best Practice) เข้ารับการประเมินรางวัล
– วันที่ 30 พฤศจิกายน – 16 ธันวาคม 2567 กองยุทธศาสตร์ ตรวจสอบรายละเอียดตามหลักเกณฑ์การประเมินรางวัล
– วันที่ 6 ธันวาคม – มีนาคม 2567 คณะทํางานพิจารณารายละเอียดของโครงการที่เสนอรับรางวัลและตรวจประเมินในพื้นที่จากการปฏิบัติบัติงานจริง หรือเชิญส่วนงาน หน่วยงานนําเสนอเพื่อพิจารณาตัดสิน
– วันที่ 30 เมษายน 2567 คณะทํางานเสนอที่ประชุมคณะกรรมการกํากับดูแลองค์กรที่ดี (Good governance) พิจารณาให้ความเห็นชอบ
– วันที่ 3 มิถุนายน 2567 คณะกรรมการจัดพิธีประกาศผลและมอบรางวัล
ผู้ที่ประสงค์จะส่งโครงการเข้าร่วมพิจารณาคัดเลือกในปีงบประมาณ 2568 จะต้องนำเสนอภายในวันที่ 30 พฤศจิกายน 2567 เพราะฉะนั้นช่วงเวลานี้แต่ละโครงการจะต้องกลับไปปรับปรุงเอกสารให้มีความสมบูรณ์ตรงประเด็นตามเกณฑ์การประเมิน โดยพิจารณาตามแนวทางดังนี้ 1.ศึกษาเกณฑ์การประเมินรางวัลให้ละเอียด 2.กําหนด OKR ของโครงการให้ชัดเจนสอดคล้องกับรางวัลที่เสนอ 3.ศึกษาตารางแนบ 1 ว่า โครงการที่เสนออยู่ในกลุ่มไหนเพื่ออธิบายแนวปฏิบัติที่สอดคล้องกับหลักธรรมภิบาลของกลุ่มนั้นให้ครบถ้วน 4. ทําคู่มือให้ครอบคลุมรายละเอียดที่กําหนดไว้ในหลักเกณฑ์ และ 5.อธิบายความโดดเด่นของแนวปฏิบัติในโครงการที่เสนอมาให้ชัดเจน สุดท้ายนี้ขอแสดงความชื่นชมสำหรับโครงการที่ได้รับรางวัลชนะเลิศในปีนี้ ทั้ง 3 โครงการด้วย
สุดท้าย อาจารย์ณัฐสมล ธนกุลรังสฤษดิ์ รองอธิการบดีฝ่ายกฎหมายและสื่อสารองค์กร กรรมการและเลขานุการคณะกรรมการด้านการบริหารจัดการที่ดี กล่าวถึงการจัดกิจกรรมครั้งนี้ว่า จากการประชุมคณะกรรมการด้านการบริหารจัดการที่ดี (Good Governance) มหาวิทยาลัยขอนแก่น ครั้งที่ 2/2567 เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2567 ได้มีมติให้จัดการประชุม “การสร้างเส้นทาง Open Society KKU” เพื่อสนับสนุนให้มหาวิทยาลัยเป็นหน่วยงานที่โปร่งใส โดยเปิดเผยข้อมูล สู่สาธารณะอย่างเป็นระบบ โปร่งใส และสามารถตรวจสอบได้ การประชุมครั้งนี้ยังเน้นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ จากโครงการที่ได้รับรางวัลแนวปฏิบัติที่ดี (Good Practice) และแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศ (Best Practice) เพื่อให้แต่ละส่วนงานสามารถนำแนวทางนี้ไปพัฒนาการดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ส่วนวัตถุประสงค์หลักของการประชุม คือการสร้างแนวทางให้มหาวิทยาลัยเผยแพร่ข้อมูลการดำเนินงานสู่สาธารณะ เพื่อแสดงถึงความโปร่งใสในการบริหาร และเพื่อเปิดโอกาสให้เกิดการเรียนรู้จากโครงการที่เป็นแบบอย่างด้านการบริหาร ซึ่งได้รับรางวัลโครงการแนวปฏิบัติที่ดี (Good Practice) และแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศ (Best Practice)
ภายหลังเสร็จสิ้น การประชุมบรรยายและแลกเปลี่ยนเรียนรู้เรื่อง “การสร้างเส้นทาง Open Society KKU” ประธานคณะกรรมการด้านการบริหารจัดการที่ดี ได้มอบของที่ระลึกเพื่อร่วมแสดงความยินดีกับรางวัลแห่งความภาคภูมิใจ และแสดงความขอบคุณที่ได้ร่วมแบ่งปันความรู้ ประสบการณ์ ในโครงการแนวปฏิบัติที่ดี (Good Practice) และแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศ (Best Practice) ทั้ง 3 โครงการ ดังนี้
1.โครงการระบบบริการตรวจคัดกรองทารกแรกเกิดและดูแลผู้ป่วยโรคหายากชั้นเลิศโรงพยาบาลศรีนครินทร์ (รางวัลชนะเลิศ ประเภท Good Practice ปี 2566) โดย ดร.ทนพ.นพพร สวัสดิ์จุ้ย และดร.ทนพ.ปริญญา ประสงค์ดี
2.โครงการการผลิตไก่ KKU1 เพื่อการพัฒนาเป็นอาหารสุขภาพและการส่งออกเชิงพาณิชย์ด้วยแนวทางการส่งเสริมเกษตรฐานรากเชื่อมโยงอุตสาหกรรมไก่แบบครบวงจร คณะเกษตรศาสตร์ (รางวัลชนะเลิศ ประเภท Best Practice ปี 2566) โดย รศ.ดร.วุฒิไกร บุญคุ้ม หัวหน้าโครงการ
3.โครงการการพัฒนาระบบงานเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการข้อร้องเรียนสำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยขอนแก่น (รางวัลชนะเลิศ ประเภท Good Practice ปี 2566) โดย นางสาวอัคริมา สุ่มมาตย์ หัวหน้าโครงการ
ข่าว : เบญจมาภรณ์ มามุข
ภาพ : เบญจมาภรณ์ มามุข / อรรถพล ฮามพงษ์
ภาพบรรยากาศการประชุม :
https://storage.kku.ac.th/share.cgi?ssid=37218cbf92124108bc329349f186f6ae
https://storage.kku.ac.th/share.cgi?ssid=ddd45c6dd34b4727a6f14f69b974b3ab
KKU Launches “Open Society KKU” Initiative for Transparency and Sustainability