คณะวิศวกรรมศาสตร์ จัดหลักสูตร วิศวกรรมอุตสาหการเพื่อการปรับปรุงประสิทธิภาพและกระบวนการผลิต Non-Degree สำหรับกลุ่มมิตรผล เพื่อพัฒนาทักษะเทคโนโลยีสมัยใหม่

คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น  จัดโครงการพัฒนาพนักงานระดับ ปวส. (Production Professional Program: PPP) ขึ้น เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2567 ที่ผ่านมา  เป็นความร่วมมือระหว่างคณะวิศวกรรมศาสตร์และกลุ่มมิตรผล โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อยกระดับศักยภาพของพนักงานระดับ ปวส. ที่ปฏิบัติงานในกลุ่มโรงงานและสายงานวิศวกรรม โครงการนี้ มุ่งเน้นการพัฒนาทักษะในการปฏิบัติงาน รวมถึงทักษะการบริหารจัดการกระบวนการผลิตที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรม เทคโนโลยีสมัยใหม่ และการบริหารทรัพยากรภายในกระบวนการผลิต เพื่อให้พนักงานสามารถเติบโตในตำแหน่งงานที่สูงขึ้นและรองรับการขยายตัวของธุรกิจในอนาคต

รศ.ดร.รัชพล สันติวรากร คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ เผยว่า โครงการนี้ฯ ถูกออกแบบมาเพื่อตอบสนองความต้องการในการพัฒนาศักยภาพของบุคลากรในสายงานวิศวกรรมและการผลิต โดยเฉพาะผู้ที่มีวุฒิการศึกษาระดับ ปวส. ที่ทำงานในโรงงานน้ำตาลและโรงงานเอทานอลในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ การพัฒนาทักษะและความรู้ในด้านวิศวกรรมอุตสาหการ การปรับปรุงประสิทธิภาพและกระบวนการผลิต ถือเป็นก้าวสำคัญที่จะช่วยเสริมสร้างศักยภาพขององค์กรและรองรับการเติบโตในอนาคต “มั่นใจว่าผู้เข้าร่วมโครงการฯ ในครั้งนี้ ทั้งจากโรงงานน้ำตาลและโรงเอทานอล จะได้รับประโยชน์อย่างเต็มที่จากหลักสูตรนี้ และสามารถนำความรู้ที่ได้รับไปปรับใช้ในสายงาน  เพื่อพัฒนากระบวนการผลิตและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับองค์กร ขอบคุณกลุ่มมิตรผลที่ให้ความไว้วางใจคณะวิศวกรรมศาสตร์  มหาวิทยาลัยขอนแก่น ในการร่วมพัฒนาโครงการนี้ และขอขอบคุณทีมงานทุกท่านที่มีส่วนร่วมในการดำเนินโครงการให้ประสบความสำเร็จ ขอให้ทุกท่านมีความสุขกับการเรียนรู้ และนำความรู้ไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการปฏิบัติหน้าที่ที่ได้รับผิดชอบต่อไป

ผศ.ภาณุพงษ์ วันจันทึก ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายบริการวิชาการและถ่ายทอดเทคโนโลยี ผู้รับผิดชอบโครงการ เผยว่า หลักสูตรประเภทประกาศนียบัตร (Non-Degree) โดยใช้ชื่อหลักสูตร วิศวกรรมอุตสาหการเพื่อการปรับปรุงประสิทธิภาพและกระบวนการผลิต (Industrial Engineering for Productivity and Process Improvement) โดยคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น การฝึกอบรมมีระยะเวลา 60 วัน ภายในระยะเวลา 2 ปี เริ่มต้นโครงการ ในเดือนกันยายน 2567 ถึง เดือนกันยายน 2569 โดยเนื้อหาประกอบด้วยการเรียนรู้ทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติ รวมถึงการทำโครงการเพื่อให้พนักงานสามารถนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ในกระบวนการทำงานจริง โครงการนี้มีผู้เข้าร่วมทั้งหมดจำนวน 36 คน ซึ่งมาจากโรงงานน้ำตาลและโรงเอทานอลในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ ฝ่ายผลิตไฟฟ้า ฝ่ายวิศวกรรม ฝ่ายผลิตน้ำตาลทราย และโรงงานผลิตเอทานอลจากหลายแห่ง อาทิ โรงงานในจังหวัดกาฬสินธุ์ ภูเขียว และเกษตรสมบูรณ์ โดยกลุ่มเป้าหมายเหล่านี้ได้รับการคัดเลือกตามเกณฑ์ความสามารถและศักยภาพในการพัฒนา เพื่อนำไปสู่การเติบโตในตำแหน่งงานที่สูงขึ้นในอนาคต

“ผลที่คาดหวังจากโครงการนี้คือ พนักงานจะมีทักษะและความรู้ที่สามารถปรับปรุงกระบวนการผลิต การซ่อมบำรุง และการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล พัฒนาและเพิ่มประสิทธิภาพในสายงานของตนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะช่วยให้บริษัทสามารถแข่งขันในตลาดโลกได้ดีขึ้น ทั้งนี้ โครงการยังส่งเสริมให้พนักงานมีความรู้และแนวคิดในการนำความรู้ไปเผยแพร่ให้กับทีมงานในองค์กรต่อไป อย่างไรก็ตามโครงการนี้เป็นการลงทุนระยะยาวที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาศักยภาพของบุคลากรในกลุ่มโรงงานและวิศวกรรม เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการเติบโตและขยายตัวของธุรกิจในอนาคต” ผศ.ภาณุพงษ์ กล่าว

Scroll to Top