สถาบันวิจัยและพัฒนาวิชาชีพครูสำหรับอาเซียน มหาวิทยาลัยขอนแก่น จัดการประเมินทักษะทางคณิตศาสตร์ภาคธุรกิจ ในโครงการนำร่องระบบการประเมินทักษะทางคณิตศาสตร์ภาคธุรกิจแบบ Open badge (Certification for Business-Oriented Mathematics skill) : CBMS ในวันอาทิตย์ที่ 15 กันยายน 2567 เวลา 13:00-16:30 น. ณ อาคารพจน์ สารสิน มหาวิทยาลัยขอนแก่น
โดยการจัดงานดังกล่าว เกิดขึ้นภายใต้ความร่วมมือด้านวิชาการกับหน่วยงานภาคเอกชน ระหว่าง สถาบันวิจัยและพัฒนาวิชาชีพครูสำหรับอาเซียน มหาวิทยาลัยขอนแก่น มูลนิธิการศึกษาเพื่อการพัฒนาทักษะการคิด บริษัท TOYO SYSTEM Co., LTD. ประเทศญี่ปุ่น และ The Mathematics Certification Institute of Japan
และโอกาสนี้ ได้รับเกียรติ จาก Mr. Hideki Shoji ประธานบริษัท TOYO SYSTEM Co., LTD. ประเทศญี่ปุ่น กล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมงาน โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พงศ์ธนัช แซ่จู ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาวิชาชีพครูสำหรับอาเซียน มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวรายงานวัตถุประสงค์ของโครงการฯ ให้กับผู้บริหารมหาวิทยาลัย คณาจารย์ ผู้ทรงคุณวุฒิประจำสถาบันฯ ผู้ปกครอง นักเรียน และนักศึกษาที่เข้าร่วมงาน
จากนั้น ศาสตราจารย์ ดร.ศุภชัย ปทุมนากุล รองปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ให้เกียรติเป็นประธานในพิธีเปิด พร้อมกับปาฐกถา ในหัวข้อ “Skill Certificate และ Skill Transcript”
ศาสตราจารย์ ดร.ศุภชัย ปทุมนากุล กล่าวว่า “การพัฒนาทรัพยากรนั้นสำคัญ คือ การแก้ปัญหาทางการศึกษา ให้ความสำคัญกับการกำหนดทักษะที่จำเป็นสำหรับอาชีพต่าง ๆ ให้มีความชัดเจน และมีการประเมินทักษะที่เฉพาะเจาะจงกับงานนั้น ๆ ซึ่งเป็นนโยบายของทางกระทรวง อว. ที่ดำเนินการมา 2-3 ปี”
และได้รับเกียรติจาก ศาสตราจารย์ ดร. มนต์ชัย ดวงจินดา บรรยายในหัวข้อ “Why Skills are important in Digital Era?” ให้ผู้เข้าร่วมได้เห็นทักษะต่าง ๆ ที่จำเป็นในยุคนี้ พร้อมนี้ รองศาสตราจารย์ ดร.ไมตรี อินทร์ประสิทธิ์ ได้กล่าวถึงความสำคัญของระบบการประเมินที่ได้รับความร่วมมือในการพัฒนาร่วมกับ The Mathematics Certification Institute of Japan ให้กับผู้รับการประเมินทุกท่านได้ทราบถึงความสำคัญดังกล่าว
ซึ่งการประเมินทักษะนี้ ได้รับการยอมรับจากภาคเอกชนประเทศญี่ปุ่น สามารถใช้ประกอบการคัดเลือกคนเข้าทำงานในบริษัท รวมทั้งการพัฒนาทักษะบุคลากรของบริษัทต่าง ๆ โดยระบบ CBMS สามารถวัด Career Skills 5 ทักษะสำคัญ ได้แก่
1) การมีความเข้าใจในสถานการณ์ปัจจุบัน (GRASP)
2) การวิเคราะห์จากข้อมูลที่มี (Analysis)
3) การตัดสินใจตัวเลือกที่เหมาะสมที่สุด (Determination)
4) การคาดการณ์อนาคต (Forecast)
5) การสื่อสารไปยังอีกฝ่ายได้ตรงประเด็น (Communicate)
ซึ่งได้มีผู้สนใจเข้าร่วมการสอบวัดประเมินฯ จำนวนทั้งสิ้น 36 คน จากการเปิดรับสมัครครั้งแรก 50 ที่นั่ง โดยเป็นการประเมินรูปแบบ Internet based ไปยัง Server ที่ประเทศญี่ปุ่น ทำให้ผู้เข้าสอบสามารถทราบผลการสอบได้ทันทีหลังสอบเสร็จ
ข่าว อรรค อินทร์ประสิทธิ์
เรียบเรียง พีรณัฐ เอี่ยมทอง