เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2567 สำนักบริการวิชาการ ร่วมกับ คณะบริหารธุรกิจและการบัญชี นำเสนอผลการวิจัยโครงการศึกษาและเก็บข้อมูลขยะอาหารและบรรจุภัณฑ์ภายในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ณ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ สวทช. โดยคณาจารย์จากคณะบริหารธุรกิจและการบัญชี ได้แก่ ผศ.ดร.ปรวรรณ เสนาไชย, อ.ดร.พงศ์พันธุ์ ศรัทธาทิพย์, นายวจนะ ภูผานี และนายประหยัด สืบเมืองซ้าย รักษาการผู้อำนวยการกองบริหารงานสำนักบริการวิชาการ
การนำเสนอผลการวิจัยและศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อทราบสัดส่วนของขยะมูลฝอยประเภทต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและที่พักของผู้ประกอบการในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยมีคณะนักวิจัย MTEC สวทช. ซึ่งมีขั้นตอนโดยการเก็บข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่าง โรงแรมและรีสอร์ทจากทั้งหมดจำนวน 35 แห่ง ภายในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 5 จังหวัด ประกอบด้วย นครราชสีมา ขอนแก่น อุบลราชธานี อุดรธานี และเลย เพื่อทราบสัดส่วนขยะมูลฝอยประเภทต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจากอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและที่พักของผู้ประกอบการในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ศึกษาพฤติกรรมการบริโภคและสาเหตุการเกิดขยะประเภทต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและที่พักของผู้ประกอบการ รวมถึงกระบวนการและวิธีในการจัดการขยะมูลฝอยของผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและที่พักในภาคตะวันออกเฉียงเหนือเพื่อพัฒนากลยุทธ์ กลวิธีในการบริหารจัดการขยะมูลฝอยให้แก่ผู้มีส่วนร่วมได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป
ผศ.ดร.ปรวรรณ เสนาไชย กล่าวว่า กระบวนการเก็บข้อมูล ทีมวิจัยใช้เกณฑ์การคัดเลือก 5 จังหวัดหลักในภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่มีความเกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรม การท่องเที่ยวและที่พัก โดยอ้างอิงข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ กระทรวงเศรษฐกิจและสังคม ประจำปี 2563 และ ใช้เกณฑ์ในการคัดเลือกทั้งหมด 3 มิติ ได้แก่ 1. จังหวัดที่มีสถานประกอบการที่พักเยอะที่สุด 2. จังหวัดที่มีจำนวนห้องพักเยอะที่สุด 3. จังหวัดที่มีจำนวนนักท่องเที่ยวมาพักเยอะที่สุด ซึ่งเกณฑ์นี้สามารถคาดคะเนบ่งชี้ได้ว่าอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและที่พักในจังหวัดนั้น ๆ มีแนวโน้มที่จะผลิตขยะมูลฝอยในปริมาณที่มากกว่าที่พักจังหวัดอื่น ๆ
จากข้อมูลการวิจัยครั้งนี้ นักวิจัย MTEC สวทช.จะนำไปพัฒนาแอปพลิเคชันตรวจสอบปริมาณขยะอาหารและบรรจุภัณฑ์อาหาร ใช้สำหรับตรวจสอบปริมาณขยะอาหารและบรรจุภัณฑ์อาหารที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน เพื่อสร้างความตระหนักและเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการลดของเสียจากการบริโภคอาหาร ใช้งานได้ครอบคลุมทุกกลุ่มเป้าหมายตั้งแต่ระดับบุคคล ครัวเรือน ตลอดจนผู้ประกอบการในภาคอุตสากรรมอาหาร ปัจจุบันแอปพลิเคชันถูกต่อยอดพัฒนาให้มีระบบที่รองรับการจัดการขยะอาหารอย่างเป็นระบบในอนาคต