วันศุกร์ที่ 23 สิงหาคม 2567 คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ร่วมกับสถาบันวิศวกรรมปัญญาประดิษฐ์ (A.I. Engineering Institute CMKL) และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย จัดงาน “EGAT Open House : Smart Energy Solutions 2567” ขึ้น ณ โรงแรมบายาสิตา มหาวิทยาลัยขอนแก่น
รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมงานว่า มหาวิทยาลัยขอนแก่นรู้สึกยินดีและเป็นเกียรติที่ได้ต้อนรับทุกท่านเข้าสู่งาน “EGAT Open House : Smart Energy Solutions 2567” จากความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยขอนแก่น การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และสถาบันวิศวกรรมปัญญาประดิษฐ์ (A.I. Engineering Institute CMKL) เพื่อพัฒนาองค์ความรู้และขับเคลื่อนด้านพลังงานของประเทศ โดยเฉพาะพลังงานสะอาดและระบบไฟฟ้าอัจฉริยะ ซึ่งเป็นสิ่งที่สอดคล้องกับกระแสโลก ซึ่งคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ดำเนินการด้านนี้มาอย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพ ประกอบกับการผลิตบัณฑิตเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของผู้ใช้งาน และเป็นการสร้างผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่นำไปใช้ได้จริง
“กิจกรรมนี้ทำให้นักศึกษาและนักวิจัยได้แสดงศักยภาพในการใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์มาแก้ปัญหาด้านพลังงานและจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศในอนาคต ความร่วมมือกับภาคอุตสาหกรรมในครั้งนี้ยังเกิดประโยชน์อย่างมหาศาลต่อมหาวิทยาลัย โดยเฉพาะก่อให้เกิดการเรียนรู้เทคโนโลยีล่าสุด และการพัฒนาหลักสูตรให้ตอบโจทย์กับตลาดแรงงาน สร้างโอกาสในการสร้างงานให้กับบัณฑิตของเราอีกด้วย”
ด้านนายสหชาติ พิลาอ่อน ผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กฟผ. กล่าวรายงานว่า วันนี้เป็นก้าวสำคัญในการพัฒนาองค์ความรู้และนวัตกรรมของประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกิจกรรม Open house ระหว่าง มข.และ กฟผ. ครั้งนี้นับเป็นครั้งที่ 2 ที่มีนักศึกษาและผู้เข้าร่วมทั้งหมด 140 คน จาก 6 สถาบันชั้นนำของประเทศไทย ทั้งมหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มหาวิทยาลัยมหิดล สถาบันพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และมหาวิทยาลัยซีเอ็มเคแอล ซึ่งการมีส่วนร่วมของหลากหลายสถาบันการศึกษาเช่นนี้จะช่วยสร้างความหลากหลายทางความคิดและมุมมอง อันจะนำไปสู่การพัฒนานวัตกรรมด้านพลังงานที่ครอบคลุมและมีประสิทธิภาพอย่างยิ่ง
“การจัดงานครั้งนี้สอดคล้องกับนโยบายของ กฟผ.ในหลายด้าน ทั้งการส่งเสริมการวิจัยและพัฒนา โดยเฉพาะการส่งเสริมให้ใช้ปัญญาประดิษฐ์มาพัฒนานวัตกรรมด้านการไฟฟ้า เพื่อพัฒนาบุคลากรที่เชี่ยวชาญด้านพลังงานและเทคโนโลยีสมัยใหม่ ตอบโจทย์ด้านพลังงานระดับประเทศ และช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนต่อไปในอนาคต”
ขณะที่ ศ.ดร.ศุภชัย ปทุมนากุล รองปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) ระบุว่า ในนามกระทรวงการอุดมศึกษาฯ ขอแสดงความชื่นชมในความร่วมมือครั้งนี้ ในการจัดกิจกรรมที่สะท้อนให้เห็นถึงนโยบายสำคัญของกระทรวงในการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างสถาบันการศึกษาและภาคอุตสาหกรรม เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศ โดยเฉพาะด้านพลังงาน และเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญของการพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจในยุคดิจิทัล
“นับเป็นอีกเวทีสำคัญที่จะเชื่อมโยงความรู้กับความต้องการของภาคอุตสาหกรรม อันจะนำไปสู่การพัฒนาเทคโนโลยีด้านพลังงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและสามารถนำไปใช้ได้จริงในระดับอุตสาหกรรม ขอให้งานนี้เป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาและสร้างสรรค์อุตสาหกรรมพลังงานของประเทศไทย และนำพาเราสู่อนาคตของพลังงานสะอาดอย่างยั่งยืน”
สำหรับงาน “EGAT Open House : Smart Energy Solutions 2567” นอกจากการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านพลังงานและเทคโนโลยีแล้ว ยังมีการบรรยายพิเศษหัวข้อ : From idea to pitch : Crafting a business Model and presenting it Effectively โดย รศ.กฤตพา แสนชัยธร คณะบริหารธุรกิจและการบัญชี มหาวิทยาลัยขอนแก่น รวมถึงการบรรยายพิเศษหัวข้อ : การเชื่อมโยงการศึกษาและภาคอุตสาหกรรมเพื่อพัฒนานวัตกรรม โดย ศ.ศุภชัย ปทุมนากุล รองปลัดฯ อว. และบรรยายพิเศษหัวข้อ : ความท้าท้ายและโอกาสในอนาคตด้านพลังงานไฟฟ้าของประเทศไทยและภารกิจ กฟผ. โดยคุณสหชาติ พิลาออน ผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กฟผ. อีกด้วย
ขณะเดียวกันยังมีการจัดแข่งขัน Hackathon : Unlock the Potential of AI Engineering ในการพัฒนาหาแนวทางที่ขับเคลื่อนด้วย AI เพื่อแก้ปัญหาด้านพลังงาน ซึ่งมีผู้เข้าร่วมการแข่งขันทั้งหมด 8 หัวข้อจากปัญหาที่เกิดขึ้นจริงโดยได้รับข้อมูลจากเจ้าหน้าที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และการค้นหาข้อมูลเพิ่มเติม ซึ่งหลังจากขับเคี่ยวกันตลอด 1 วัน ทีมที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ คือ ทีม ABC – Anti Bird Camera รองชนะเลิศอันดับ 1 คือ ทีม หม้อพร้อม MOR+ และรองชนะเลิศอันดับ 2 ได้แก่ ทีม carbon capture utilization and storage
สำหรับ ทีม ABC – Anti Bird Camera ประกอบด้วยสมาชิก ได้แก่ นางสาวกชกร เอี่ยมสุวรรณ ชั้นปีที่ 4 สาขาวิทยาการข้อมูล มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, นายปัญญ์ เมฆหมอก ชั้นปีที่ 4 สาขานวัตกรรมคอมพิวเตอร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง, นายปัณณวิชญ์ ครุฑนาค ชั้นปีที่ 2 ICT มหิดล และนายรณกฤต ทองใบใหญ่ ชั้นปีที่ 2 สาขาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
ทั้งนี้ ทีมผู้ชนะให้สัมภาษณ์หลังรับรางวัลว่า ทางทีมได้รับโจทย์ Power Substation Bird Control : การแก้ปัญหาการอุปกรณ์ในสถานีไฟฟ้าขัดข้องเนื่องจากนก ซึ่งแม้โจทย์ที่ได้มาจะไม่ยากมาก แต่ข้อมูลที่ได้รับอาจจะน้อยไป ทำให้ต้องมีการหาข้อมูลเพิ่มเติม จนออกแบบการแก้ไขปัญหามาเป็น Product คือ กล้องตรวจจับนกโดยใช้ Ai และขับไล่นกได้ด้วยเสียง และเลเซอร์ เพื่อไม่ให้กระทบต่อชุมชนและมาตรฐานสถานีไฟฟ้า หลังก่อนหน้านี้ใช้หลายวิธีแต่ไม่สามารถจัดการปัญหาได้
“ตอนแรกไม่ได้คาดหวังว่าจะชนะ ดีใจมากที่ได้รับรางวัลในวันนี้ และรู้สึกโชคดีที่ได้เพื่อนร่วมทีมที่ดีและมีความสามารถ ขอบคุณมหาวิทยาลัยขอนแก่นที่เปิดโอกาสที่ดี หวังว่าในอนาคตจะมีกิจกรรมที่ดีและยิ่งใหญ่กว่านี้ เพื่อให้นักศึกษาจากหลากหลายสถาบันได้มาแลกเปลี่ยนและแข่งขันกันมากขึ้นเพื่อเพิ่มความสนุกและประสบการณ์ที่ดีต่อไป”
สามารถชมภาพเพิ่มเติมได้ที่ : https://storage.kku.ac.th/share.cgi?ssid=49fc21179bf24d158b987896e5f67014