“วาดภาพด้วยใจ สู้ภัยโควิด” มข.ชวนนำ ‘ศิลปะบริสุทธิ์’ รวมพลังส่งใจถึงใจผ่านภัยโควิดร่วมกัน

            เมื่อวันที่ 14 เมษายน 2563 ณ ศูนย์วัฒนธรรม มหาวิทยาลัยขอนแก่น รศ.ดร.นิยม  วงศ์พงษ์คำ รองอธิการบดีฝ่ายศิลปวัฒนธรรมและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เปิดตัวโครงการ “วาดภาพด้วยใจสู้ภัยโควิด” รวบรวมกำลังใจจากคนไทยในรูปแบบงานศิลปะบริสุทธิ์  ให้กำลังใจซึ่งกันและกัน ให้ข้ามพ้นวิกฤติสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19  โดยใช้ระบบสังคมออนไลน์รวบรวมผลงานศิลปะ  พร้อมตั้งเป้าร่วมมือกับศิลปินแห่งชาติแสดงผลงานในรูปแบบอนุสรณ์สถาน

           รศ.ดร.นิยม  วงศ์พงษ์คำ  กล่าวว่า  “จากสถานการณ์ไวรัสโควิด-19  ระบาดทั่วโลกในขณะนี้  นับเป็นความโชคดีของมหาวิทยาลัยขอนแก่นที่อธิการบดีเป็นนายแพทย์ จึงลุ่มลึกในศาสตร์วิทยาศาสตร์สุขภาพ มีการรับรู้ในเรื่องโรคโควิด-19 และรับมือได้เป็นอย่างดี  มีการวางแผนรับมือกับโรคโควิด-19 มาอย่างเป็นขั้นตอนที่ถูกต้อง  ในปีงบประมาณ 2563 ฝ่ายศิลปวัฒนธรรมและเศรษฐกิจสร้างสรรค์  ได้จัดกิจกรรมต่าง ๆ สร้างสุขให้บุคลากรทุกหน่วยงานในมหาวิทยาลัยขอนแก่นได้เสพวัฒนธรรมท้องถิ่นผ่านกิจกรรม “งานสุขีมั่น สู่ขวัญเดือนเกิด” ได้ร่วมพบปะทำกิจกรรมร่วมกันในงานสำคัญที่จัดขึ้น  ซึ่งในสถานการณ์ปัจจุบันกิจกรรมที่มีการรวมตัวคนจำนวนมากจะต้องหยุดทั้งหมด เป็นมาตรการรักษาระยะห่างระหว่างกัน (Social distancing) เพื่อให้ปลอดภัยจากโรคระบาดโควิด-19”

รศ.ดร.นิยม  วงศ์พงษ์คำ รองอธิการบดีฝ่ายศิลปวัฒนธรรมและเศรษฐกิจสร้างสรรค์

            “แต่การแสดงออกของมนุษย์มีหลายวิธี โดยไม่ต้องมารวมตัวกัน เป็นโอกาสที่จะมีวิธีคิดใหม่ๆ  จากภาพเดิมที่เคยเห็นพนักงานขนส่งนำเครื่องไทยธรรมมาส่งพระแทนที่คนส่งจะนำมาถวายเอง  หรือฝากส่งสิ่งของให้กับพ่อ แม่ หรือผู้ใหญ่ที่เคารพ  สร้างความสงสัย และตั้งคำถามว่านี่คือความเหมาะสม ถูกต้องหรือไม่  แต่ในปัจจุบันกลับเป็นจุดพลิกเปลี่ยนเร็วมาก เป็นยุครุ่งเรืองที่ข้ามผ่านมาสู่อีกยุคออนไลน์ กลายมาเป็นตักบาตร  กรวดน้ำออนไลน์  เป็นยุคทองของสังคมการเปลี่ยนผ่านด้านวิทยาศาสตร์  การทำงานด้านสปิริตหรือจิตวิญญาณของฝ่ายศิลปวัฒนธรรมและเศรษฐกิจสร้างสรรค์  ในสถานการณ์โรคระบาดจึงต้องหันมาส่งเสริมด้านจิตใจ เสริมสร้างกำลังใจควบคู่กับการทำงานด้านวิทยาศาสตร์  เป้นที่ทราบกันดีว่า  ตราบใดที่ยังไม่มีวัคซีนป้องกัน ชีวิตจะยังไม่มีความปลอดภัย  คนเราหากร่างกายเจ็บป่วยต้องอาศัยยารักษาให้แข็งแรง  ซึ่งในด้านจิตใจนั้นจะต้องมีการเยียวยาให้เข้มแข็งเช่นกัน  หากจิตใจเข้มแข็งร่างกายก็จะแข็งแรงได้ ดังคำกล่าว  “ใจเป็นนาย กายเป็นบ่าว”  ดังนั้น  การป้องกันตัวจึงเป็นการดีกว่าการรักษาตัว  เช่น หากเราเว้นระยะห่างตามด้านวิทยาศาสตร์ จะทำให้มีโอกาสที่จะติดเชื้อเพียง 1%   หากอยู่ที่บ้านโอกาสติดเป็น 0%   แนวคิดในการสร้างพื้นที่ศิลปะขึ้นมา จึงเป็นโครงการที่จะพยุงจิตใจ ได้มีการแสดงออกทั้งเพื่อคนอื่นและเพื่อตนเองให้ก้าวผ่านสถานการณ์ที่ลำบากเช่นนี้  จึงเป็นที่มาของโครงการ “วาดด้วยใจ สู้ภัยโควิด”
            รศ.ดร.นิยม  วงศ์พงษ์คำ  กล่าวต่อไปว่า  “ผู้ร่วมกิจกรรม สามารถทำงานศิลปะไร้รูปแบบ ทำขึ้นมาจากใจ ปราศจากกฎเกณฑ์ นี่คือ  “ศิลปะบริสุทธิ์”  ซึ่งทางศิลปะถือว่ามีค่าที่สุด สื่อออกมาจากจิตใจ พลังของแต่ละคนจะออกมาเป็นผลงานตามความถนัด  ไม่ว่าจะเป็นการวาดภาพ  การวาดโดยใช้โปรแกรมเขียนรูป การถ่ายภาพประกอบข้อความให้กำลังใจ  สามารถสร้างสรรค์ผลงานเชิงบวกที่สร้างกำลังใจ เป็นภาพแห่งความรัก สมัครสมาน สามัคคี  ทำที่ไหนก็ได้โดยไม่ต้องเดินทางมารวมตัวกัน  ส่งเพียงผลงานมารวบรวมจุดเดียว อันจะก่อให้เกิดพลังส่งกำลังใจให้กับคนไทยทั้งประเทศ”

            กิจกรรมจะจัดขึ้น 3 ช่วง ช่วงแรก ผู้ร่วมกิจกรรมสามารถส่งภาพออนไลน์ พร้อมตั้งชื่อผลงาน และชื่อผู้สร้างสรรค์ผลงาน ส่งทางเพจเฟซบุคของ ศูนย์วัฒนธรรม มหาวิทยาลัยขอนแก่น KKU Culture Center  หรือhttps://www.facebook.com/culturecenterkku/?epa=SEARCH_BOX   ภายในวันที่ 30 เมษายน 2563  ซึ่งจะมีการทำเป็นสูจิบัตรงานศิลปะ จัดแสดงเป็นรูปเล่มดิจิทัล  ช่วงที่ 2 เป็นการนำภาพรวมพลังทำเป็นอนุสรณ์สถาน ช่วงที่ 3 หลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายลงจะเชิญศิลปินแห่งชาติมาถอดผลงานเหล่านี้ออกเป็นประติมากรรม จัดสร้างเป็นอนุสาวรีย์ที่บ่งถึงพลังชาวมหาวิทยาลัยขอนแก่น และชาวไทยที่ส่งพลังใจให้กันและกันทั่วประเทศผ่านงานศิลปะ  จะเกิดภาพจำแห่งประวัติศาสตร์แห่งความร่วมใจของคนไทยที่จะสร้างพลังใจถึงใจอย่างเป็นรูปธรรม นอกจากร่างกายที่แข็งแรงแล้ว จิตวิญญาณที่เข้มแข็งจะทำให้คนไทยทั้งประเทศก้าวผ่านสถานการณ์ยากลำบากไปพร้อมกันอย่างงดงาม

ภาพผลงานตัวอย่าง

ข่าว   :   วัชรา  น้อยชมภู
ภาพ  :   วัชรา   น้อยชมภู  /  ศูนย์วัฒนธรรม มหาวิทยาลัยขอนแก่น

 

Scroll to Top