คณะเทคโนโลยี สาขาวิชาเทคโนโลยีการอาหาร นำโดย ผศ. ดร.ปฏิมากร คล้ายประสิทธิ์ คุณเทพฤทธิ์ ปิติฤทธิ์ คุณธีรวัฒน์ ปัญญา และคุณกรองจิตต์ แสงสว่าง ร่วมกับ สำนักงานเกษตรจังหวัดขอนแก่น จัดอบรมให้ความรู้และฝึกทักษะใน “โครงการพัฒนาสินค้าเกษตรอัตลักษณ์พื้นถิ่นในตลาดมูลค่าสูงตอบสนองการตลาดในระดับสากล” โดยทีมวิทยาการของสาขาวิชาฯ ได้ดูแลจัดกิจกรรมการแปรรูปข้าวทับทิมชุมแพหนึ่งในวัตถุดิบพื้นถิ่นอัตลักษณ์เด่นของจังหวัดขอนแก่น เพื่อส่งเสริมการสร้างคุณค่า พัฒนาความหลากหลาย และเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์จากวัตถุดิบพื้นถิ่น ณ ห้องปฏิบัติการแปรรูปอาหาร คณะเทคโนโลยี ในระหว่างวันที่ 29 มิถุนายน 2567 ถึง 13 กรกฎาคม 2567 โดยมีตัวแทนผู้นำเกษตรกรจาก 4 อำเภอ ตามบริบทพื้นที่ เข้าร่วมทั้งสิ้น 200 ราย ประกอบด้วย
- รุ่นที่ 1: เกษตรกรกลุ่มผู้ปลูกข้าวทับทิมชุมแพ อำเภอชุมแพ จำนวน 50 ราย ฝึกอบรมในวันเสาร์ที่ 29 มิถุนายน 2567
- รุ่นที่ 2: เกษตรกรกลุ่มผู้ปลูกข้าวทับทิมชุมแพ อำเภอบ้านฝาง จำนวน 50 ราย ฝึกอบรมในวันอาทิตย์ที่ 30 มิถุนายน 2567
- รุ่นที่ 3: เกษตรกรกลุ่มผู้ปลูกข้าวทับทิมชุมแพ อำเภอพล จำนวน 50 ราย ฝึกอบรมในวันเสาร์ที่ 6 กรกฎาคม 2567
- รุ่นที่ 4: เกษตรกรกลุ่มผู้ปลูกข้าวทับทิมชุมแพ อำเภอแวงใหญ่ จำนวน 50 ราย ฝึกอบรมในวันเสาร์ที่ 13 กรกฎาคม 2567
เมื่อวันเสาร์ที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2567 เป็นการฝึกอบรมให้กับรุ่นสุดท้ายของโครงการฯ ได้รับเกียรติจาก ผศ. ดร.อารยา เชาว์เรืองฤทธิ์ คณบดีคณะเทคโนโลยี มาร่วมกิจกรรมและให้ข้อแนะนำกับผู้เข้าร่วมอบรมในครั้งนี้ด้วย
สำหรับ ผศ. ดร.ปฏิมากร คล้ายประสิทธิ์ อาจารย์ผู้นำทีมการฝึกอบรม ได้พูดถึงแนวคิดในการจัดทำอบรมพัฒนาทักษะครั้งนี้ว่า “การใช้วัตถุดิบคือข้าวทับทิมชุมแพ ในพื้นที่เพาะปลูกของจังหวัดขอนแก่น มาต่อยอดเพื่อการแปรรูปผลิตภัณฑ์สินค้าเกษตร เป็นการเริ่มต้นของการสร้างแนวคิดด้านนวัตกรรมให้แก่กลุ่มเกษตรกร โดยเริ่มจากวัตถุดิบที่มี จากการแปรรูปที่อาจจะไม่ได้ใช้เครื่องมือซับซ้อน แต่เป็นการเริ่มต้นการสร้างแนวคิดการพัฒนาสินค้าเกษตรนวัตกรรมนำไปสู่สินค้าเกษตรในเชิงการพัฒนาสู่สากลในอนาคตได้อีกด้วย การอบรมกลุ่มเกษตรกรในโครงการนี้ เป็นการสร้างความสัมพันธ์และการทำงานร่วมกันของหน่วยงานเกษตรจังหวัด และกลุ่มเกษตรกรที่เข้าร่วมอบรม เพื่อนำไปสู่การพัฒนาสินค้าเกษตรอื่นๆ ต่อไปได้ในอนาคตอีกเช่นกัน”
ด้าน คุณไพศาล ผาจันดา ประธานกลุ่มข้าวทับทิมชุมแพ ข้าวอินทรีย์, ประธานแปลงใหญ่, ประธานศูนย์ข้าวชุมชน และประธานศูนย์การเรียนรู้เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) ได้กล่าวถึงความรู้สึกในการร่วมกิจกรรมว่า “เป็นโครงการที่มีประโยชน์ต่อสังคม ต่อชุมชน ในแง่สร้างความสามัคคีในกลุ่ม เพราะเราได้ร่วมกันสร้างและการผลิต และร่วมกันแก้ปัญหาด้านสินค้าผลผลิตตกต่ำ เช่น หากการขายข้าวไม่ได้ราคา ก็สามารถประยุกต์ใช้ความรู้ในการเข้าร่วมกิจกรรมนี้ ไปสร้างมูลค่าเพิ่มแก่ผลิตภัณฑ์ให้มีราคาสูงขึ้น และหากมีรายได้จากการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่มาจากการทำงานของกลุ่ม ก็ถือว่าเป็นการประสบผลสำเร็จในการแก้ไขปัญหาสินค้าเกษตรตกต่ำได้อย่างถูกจุด ซึ่งท้ายที่สุดยังย้ำว่า โครงการนี้และการอบรมในครั้งนี้ เป็นโครงการที่เป็นประโยชน์ต่อชาวนาและเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ในการแก้ไขปัญหาผลผลิตราคาตกต่ำได้อย่างแท้จริง”
โครงการพัฒนาสินค้าเกษตรอัตลักษณ์พื้นถิ่นในตลาดมูลค่าสูงตอบสนองการตลาดในระดับสากล กิจกรรมการแปรรูปข้าวทับทิมชุมแพเพื่อเพิ่มมูลค่าสูงนี้ มีจุดมุ่งหมายเพื่อนำผลผลิตทางการเกษตรมาต่อยอดด้านการแปรรูป โดยมีแนวคิดด้าน “การแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรเพื่อเพิ่มมูลค่าด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม” เน้นทฤษฎีและหลักการการแปรรูปข้าวทับทิมชุมแพเป็นผลิตภัณฑ์น้ำนมข้าวทับทิมชุมแพ การควบคุมคุณภาพและความปลอดภัยในกระบวนการแปรรูป สำหรับภาคปฏิบัตินั้น ได้มีการนำผลผลิตทางการเกษตร “ข้าวทับทิมชุมแพ” มาแปรรูปเป็นน้ำนมข้าวทับทิมชุมแพ โดยใช้หลักการและทฤษฎีจากเนื้อหาการบรรยายสู่การลงมือปฏิบัติการจริงและส่วนที่เหลือใช้จากกระบวนการผลิต ได้นำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์สบู่ เพื่อให้เกษตรกรได้เล็งเห็นการใช้ประโยชน์จากสิ่งเหลือใช้ในกระบวนการแปรรูป และเพื่อความยั่งยืนในธุรกิจการแปรรูปอาหาร
เพราะสาขาวิชาเทคโนโลยีการอาหาร คณะเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยขอนแก่น เชื่อเสมอว่าการสร้างพื้นฐานองค์ความรู้ให้แก่เกษตรกรผ่านการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการนี้ จะช่วยทำให้เกษตรกรสามารถนำไปต่อยอดการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร เพื่อสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรได้ด้วยตนเองและเติบโตอย่างยั่งยืน ส่งผลลัพธ์ระยะยาวด้วยการตอบโจทย์การแก้ปัญหาความยากจนของชาวนาตั้งแต่อดีตจนปัจจุบัน โดยอยู่บนแนวคิดเพิ่มมูลค่าและคุณค่า ช่วยแก้ไขปัญหาของสินค้าเกษตรที่มีราคาตกต่ำและการแปรรูปผลผลิตที่ไม่ได้ราคา ซึ่งตรงตามเป้าหมายและปณิธานของมหาวิทยาลัยขอนแก่นที่ต้องการนำองค์ความรู้สู่สังคมผ่านการส่งคุณค่าแห่งการแก้ไขปัญหาให้กับเกษตรกรในพื้นที่ภาคอีสาน
ขอขอบคุณ ข้อมูลข่าว/ภาพ : ผศ. ดร.ปฏิมากร คล้ายประสิทธิ์ และสาขาเทคโนโลยีการอาหาร