เมื่อวันศุกร์ที่ 5 กรกฎาคม 2567 ฝ่ายพัฒนานักศึกษาและศิษย์เก่าสัมพันธ์ โดย กองพัฒนานักศึกษาและศิษย์เก่าสัมพันธ์ ร่วมกับ โฮงสินไซ และภาคีเครือข่ายศิษย์เก่า จัดกิจกรรม “โสเหล่เสวนา นำพาการเรียนรู้ สินไซสองฝั่งโขง” เชื่อมโยงโฮงสินไซ ผ่านวรรณกรรม และเครือข่ายศิษย์เก่า มข. โดยได้รับเกียรติจาก ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กภ.คุรุศาสตร์ คนหาญ รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนานักศึกษาและศิษย์เก่าสัมพันธ์ เป็นประธานกล่าวเปิดงานและสร้างแรงบันดาลใจให้นักศึกษาที่เข้าร่วมกิจกรรม พร้อมด้วย ดร.ปิยนัส สุดี ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายพัฒนานักศึกษาและศิษย์เก่าสัมพันธ์ และ นางเจษฏาพร ศรีรัตนประพันธ์ ผู้อำนวยการกองพัฒนานักศึกษาและศิษย์เก่าสัมพันธ์ ร่วมเป็นเกียรติในงาน
ในภาคเช้า มีกิจกรรม โสเหล่ เสวนา ในหัวข้อ สินไซสองฝั่งโขง จากเวียงจันทน์ถึงขอนแก่น ได้รับเกียรติจาก ผศ.ชอบ ดีสวนโคก อดีตผู้อำนวยการสำนักวัฒนธรรม มข./ ที่ปรึกษาโฮงสินไซ ท่านนางดวงเดือน (วีระวงส์) บุนยาวง ผู้สืบสานวรรณกรรมสินไซฉบับสิลา วีระวงส์ นักเขียนรางวัลซีไรต์ สปป.ลาว / ศิลปินดีเด่น สปป.ลาว / ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์หอมูนแถนแต่ง คุณเรืองชัย ตราชู อดีตนายกเทศมนตรี/ประธานสภาเทศบาลนครขอนแก่น คุณพีระพล พัฒนะพีระเดช อดีตนายกเทศมนตรีนครขอนแก่น (ศิษย์เก่า ป.โท COLA รหัส 48) และ คุณวชิระ ตราชู เพื่อบอกเล่าถึงเรื่องราวความเป็นไปเป็นมาของวรรณกรรมสินไซ การประกอบใช้ และการพัฒนาเมืองจากวรรณกรรมสินไซ มรดกทางวัฒนธรรมที่ล้ำค่าของอนุภาคลุ่มน้ำโขง อันเป็นแรงบันดาลใจในหลากหลายมิติ รวมถึงการนำมาใช้เป็นแนวคิดในการพัฒนาเมืองของเทศบาลนครขอนแก่น
ท่านนางดวงเดือน (วีระวงส์) บุนยาวง กล่าวนำการเสวนาว่า “ขอกราบนมัสการพระอาจารย์ และขอกราบสวัสดีผู้ทรงคุณวุฒิ เพื่อนมิตรที่เก่าแก่ บรรดาลูกหลานทั้งหลายที่มาในวันนี้ รู้สึกอยากจะบอกว่าดีใจนั้น ยังไม่เพียงพอเพราะมันมีหลายกว่านั้น ที่ได้มาเมืองขอนแก่น ตอนแรกว่าจะมาแค่แวะเยี่ยมอาจารย์ทรงวิทย์ เพราะว่ามีลูกหลานมาด้วย พาลูกหลานมาเที่ยว อาจารย์ทรงวิทย์ได้ขอเปิดโอกาสให้ป้าได้มาพบกับผู้เคยร่วมงาน ก็เลยปฏิเสธไม่ได้ เพราะว่าหาโอกาสยากที่จะได้มาพบเจอกัน เป็นระยะเวลา 10 ปีแล้วที่ไม่ได้เจอหน้าเจอตากัน ไม่ใช่ง่ายที่เราจะมีโอกาสดี ๆ การมาเจอกันทุกครั้ง ก็ถือว่าได้พบหน้าตากันเพราะเกือบลืมไปแล้ว ได้มาพบอีกก็มีความรู้สึกประทับใจ ความทรงจำก็กลับคืนมา ความทรงจำดี ๆ มันทำให้เรามีชีวิตชีวาขึ้นอีก คิดถึงเรื่องนั้นเรื่องนี้ ก็ยิ้มออกได้คนเดียว เขาจะว่าเราบ้าก็ไม่เป็นไร การยิ้มมันทำให้เราสดชื่นนะ เราจึงยิ้มให้กัน ยิ้มไว้ก่อนไม่ต้องกินอะไรก็ได้ จึงขอขอบใจท่านมากที่ได้ไปทำให้มีกิจกรรมในวันนี้เกิดขึ้นมา”
ในภาคบ่ายเป็นกิจกรรม “ศิลปะเบาใจ” ที่เชื่อมโยงวรรณกรรมสินไซเพื่อผูกร้อยเรื่องราวของวรรณกรรมเข้ากับพื้นที่ต่าง ๆ ของโฮงสินไซ ประกอบด้วยกิจกรรม “สินไซเดินดง” 7 ย่านน้ำ 9 ด่านมหาภัย การเรียนรู้วรรณกรรมผ่านละครการแสดงและพื้นที่ป่า เพื่อศึกษาและเรียนรู้ร่วมกัน กิจกรรม “จักรวาลสถานสินไซ” เรียนรู้ผ่านนิทรรศการและพิพิธภัณฑ์ที่รวบรวมวรรณกรรมและเรื่องราวของสินไซที่ถูกจัดแสดงและจัดเก็บผ่านสื่อรูปแบบต่าง ๆ และกิจกรรม “เสียงสินไซ เสียงหัวใจ” เป็นกิจกรรมที่รับฟังเสียงหัวใจของตนเอง การรับฟังและยอมรับตนเอง การการรับฟังและยอมรับผู้อื่น ซึ่งวิทยากร ประกอบด้วย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ทรงวิทย์ พิมพะกรรณ์ ผู้จัดการโฮงสินไซ ศิษย์เก่า มข. ระดับปริญญาเอก แพทย์หญิงวนาพร วัฒนกูล ศิษย์เก่า มข. รุ่นที่ 28 และ นายพงศธร พุทธโคตร ศิษย์เก่า มข. รุ่นที่ 53
“So Leh Forum, learning about ‘Sin Sai’ of the 2 Mekong banks”, through literature and KKU alumni