คณะสหวิทยาการ มข. หนุน SDGs ผุดงานวิจัยแก้ปัญหา/ลด ‘ขยะอาหาร’ โลก ในระดับค้าปลีกและผู้บริโภค

         ‘Food Waste’ ขยะอาหาร เป็นปัญหาระดับโลก  ภาคครัวเรือนอาจทิ้งเพราะรับประทานไม่หมด ภาคอุตสาหกรรมอาจทิ้งเพราะไม่คงรูปตามเกณฑ์ หรือจำหน่ายไม่หมด การฝังกลบเป็นวิธีจัดการขยะอาหารที่ง่ายที่สุด แต่เมื่อขยะอาหารจำนวนมากทับถมในดินจะย่อยสลายได้ยาก เนื่องจากในดินไม่มีออกซิเจนช่วยย่อยสลายทางชีวภาพ และยังปล่อยก๊าซมีเทน ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และก๊าซคาร์บอนมอนออกไซด์ สาเหตุหลักที่ทำให้เกิดภาวะเรือนกระจกถึง 8% ส่งผลถึงระบบนิเวศน์ที่เสี่ยงต่อสุขภาพของคนในชุมชน ไม่ว่าจะเป็นโรคเกี่ยวกับทางเดินอาหาร  การลดขยะอาหารจึงเป็นหนึ่งในเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG) ซึ่ง UN ได้ตั้งเป้า ให้ในปี ค.ศ. 2030 ขยะอาหารที่เกิดจากการจำหน่ายและการบริโภคทั่วโลกต้องลดลง 50%

 

คณะนักวิจัย คณะสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น วิทยาเขตหนองคาย นำโดย ผศ.ดร.รัฐการ บัวศรี หัวหน้าโครงการ พร้อมด้วย  ผศ.ดร.ทรัพย์  อมรภิญโญ  ผศ.ดร.ประภัสสร  ซื่อตรง โดยมี ดร.หิรัญ  แสวงแก้ว สถาบันวิจัยเพื่อพัฒนาสังคม มหาวิทยาลัยขอนแก่น และ ดร.กิติมาพร  ชูโชติ นักวิจัยอิสระ  เป็นผู้ร่วมวิจัย ในโครงการวิจัยและพัฒนาการจัดการขยะชุมชนแบบบูรณาการกรณีศึกษา ต.หนองกอมเกาะ จังหวัดหนองคาย อยู่ภายใต้โปรแกรมวิจัย การวิจัยและพัฒนานวัตกรรมการจัดการขยะชุมชนแบบมีส่วนร่วมของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ระยะที่ 2) เพื่อนำเสนอรูปแบบการจัดการขยะที่เหมาะสมกับชุมชนหรือนวัตกรรมการจัดการขยะแบบมีส่วนร่วมกับชุมชน และลดปริมาณขยะชุมชนที่เข้าสู่กระบวนการกำจัดลด

 ผศ.ดร.เกียรติ  แสงอรุณ  คณบดีคณะสหวิทยาการ  กล่าวว่า “คณะสหวิทยาการมีเนื้อที่  516  ไร่  2 งาน มีนักศึกษาและบุคลากรรวมทั้งสิ้นประมาณ 3,000 คน เป็นที่ตั้งของอาคารเรียน หอพักนักศึกษาและอาจารย์ ถือเป็นชุมชนใหม่ที่มีคนย้ายเข้า-ออกอยู่ตลอดเวลา จึงมีการสร้างบ่อขยะมูลฝอย โดยในช่วงเวลา 8 เดือนที่เปิดการเรียนการสอน จะมีปริมาณขยะประมาณสัปดาห์ละ 3-5 ตัน/สัปดาห์  เดือนละ 12-20 ตัน ตกปีละ 98-160 ตันต่อปี  ดังนั้นการบริหารจัดการขยะมูลฝอยในพื้นที่จึงเป็นภารกิจที่สำคัญอย่างยิ่ง  คณะสหวิทยาการจึงมุ่งมั่นในการหาทางแก้ไขปัญหานี้โดยร่วมมือกับนักศึกษาและบุคลากร โดยการวิจัยและพัฒนาวิธีการจัดการขยะเพื่อลดปริมาณขยะที่สร้างขึ้นในชุมชน เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีและสุขภาพที่ดีให้กับชุมชน”

ผศ.ดร.รัฐการ  บัวศรี หัวหน้าโครงการ  กล่าวว่า  “จากการวางแผนและการสำรวจพื้นที่พบว่า ขยะอาหารเป็นส่วนใหญ่ของปริมาณขยะที่สร้างขึ้น จึงได้ทำการวิจัยเพื่อหาวิธีการลดปริมาณขยะอาหาร โดยสำรวจปริมาณอาหารในร้านค้าในแต่ละร้านค้าเพื่อหาค่าเฉลี่ย และทำการสำรวจสาเหตุที่มีการกินอาหารเหลือของนักศึกษาทุกสาขาในคณะ จากนั้นจัดการอบรมนักศึกษาและการสร้างสื่อประชาสัมพันธ์: ทีมวิจัยได้จัดการอบรมนักศึกษาเกี่ยวกับเรื่อง SDGs และ ขยะอาหาร เพื่อเพิ่มความเข้าใจและมีส่วนร่วมในโครงการ พร้อมกับการรณรงค์ลดขยะอาหาร เพิ่มความเข้าใจให้กับนักศึกษา และแจกคูปองอาหารให้กับนักศึกษา บุคลากร”

“ด้วยขั้นตอนการดำเนินงานที่ชัดเจนและการมีส่วนร่วมของนักศึกษาและผู้ที่เกี่ยวข้องในคณะสหวิทยาการ โครงการนี้มีโอกาสสำเร็จในการลดปริมาณขยะอาหารในคณะสหวิทยาการอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน นอกจากนี้ยังเป็นการสร้างความเข้าใจและการมีส่วนร่วมในการดำเนินงานเพื่อลดปริมาณขยะอาหารในระยะยาวในชุมชนและสนับสนุนในการสร้างสภาพแวดล้อมที่ดี และสุขภาพที่ดีให้กับชุมชนที่ต้องการ”

ผศ.ดร.รัฐการ  บัวศรี  กล่าวในที่สุดว่า  “คณะวิจัยพบว่าข้าวเป็นประเภทขยะมากที่สุดในโรงอาหาร จึงจัดกิจกรรมให้นักศึกษาเลือกขนาดจานอาหาร S M L เพื่อลดปริมาณขยะอาหาร ผลแสดงว่าการเลือกขนาด S M L ช่วยลดปริมาณขยะได้เกือบ 40% และส่งผลให้ร้านค้าลดต้นทุนและเพิ่มกำไร โครงการนี้เป็นส่วนหนึ่งของ SDGs ในการลดขยะเศษอาหาร และกิจกรรมการลดปริมาณขยะอาหารในครั้งนี้ นอกจากเป็นการกระตุ้นให้มีการลดปริมาณขยะอาหารอย่างยั่งยืน  ยังได้บรรลุแนวทางตามSustainable Development Goals หรือ SDGs ในข้อ 12.3 ในประเด็นการลดขยะเศษอาหารของโลกลงครึ่งหนึ่งในระดับค้าปลีกและผู้บริโภค และลดการสูญเสียอาหารจากระบวนการผลิตและห่วงโซ่อุปทาน รวมถึงการสูญเสียหลังการเก็บเกี่ยว ภายในปี 2573

 

Scroll to Top