นศ.สถาปัตย์ มข.ไอเดียล้ำ ออกแบบอาคารสูงรักษ์โลก เผยมุมมองอนาคตเมืองขอนแก่นในอีก 100 ปี และกังสดาลใน 40 ปีข้างหน้า

ท่ามกลางสถานการณ์โลกที่ดินเริ่มน้อยลง ราคาพุ่งกระฉูดขึ้น ภาวะโลกเดือด และภูมิอากาศที่เปลี่ยนไปมาแบบสุดเหวี่ยง หลายประเทศทั่วโลกเริ่มเดินหน้าสู่การออกแบบอาคารสูงให้เป็นเมือง กลายเป็นจุดเริ่มต้นของ 21 งานดีไซน์ในโพรเจกต์ Khon Kaen Sky City 2200 และ Kangsadan 2060 เปิดมุมมองอนาคตเมืองขอนแก่นในอีก 100 ปี และกังสดาลใน 40 ปีข้างหน้า


ผศ.ดร.ชำนาญ บุญญาพุทธิพงศ์ อาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
ผู้สอนวิชาออกแบบ กล่าวว่า ผลงานดังกล่าวเป็นฝีมือของนักศึกษาชั้นปีที่ 4 ในการเรียนการสอนวิชาออกแบบ หรือที่นักศึกษาชอบเรียกว่าวิชา Studio ในโครงการ Khon Kaen Sky City 2200 ซึ่งสอนโดย ผศ.ดร.ชำนาญ กับแนวความคิด Vertical City หรือ เมืองทางตั้ง และโครงการ Kangsadan 2060 สอนโดย อ.ดร.ณัฏฐ์ ละเอียดอ่อน ภายใต้แนวความคิด  “Metabolism Movement” ซึ่งเป็นแนวคิดการออกแบบอาคารในช่วง ค.ศ.1960 เปิดพื้นที่ให้นักศึกษาได้ก้าวออกจากกรอบมาสร้างสรรค์ผลงานด้วยโจทย์ที่ท้าทายอย่างอิสระ

สำหรับ Khon Kaen Sky City 2200 เป็นการออกแบบเมืองแนวตั้งบริเวณริมแก่งน้ำต้อน (พื้นที่แก้มลิงของจังหวัดขอนแก่น) โดยหยิบทั้งบ้าน ร้านค้า ฟาร์ม พิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำ วัด อาคารกังหันลม หรือ อาคารสาหร่ายผลิตและหมุนเวียนพลังงาน เพื่อแก้ไขปัญหาที่ดินและสิ่งแวดล้อมในอนาคต ซึ่งนักศึกษาจะต้องส่งแปลนงาน รูปตัดเพื่อดูโครงสร้างความสูง-กว้าง มีระบบ ฟังก์ชัน ทัศนียภาพภายใน-ภายนอก บางส่วนก็อนุญาตให้ใช้ AI เข้ามาช่วยในการออกแบบได้

“เด็กไทยมักจะแพ้เด็กต่างชาติด้านความครีเอทีฟ ทั้งที่เด็กเราเก่งระดับโลก เพราะถูกสอนอยู่แต่ในกรอบ วันนี้เราเลยอยากเปิดพื้นที่ให้เด็กกล้าที่จะคิดและสร้างสรรค์แบบไร้กรอบ เพื่อให้เกิดแนวคิด แรงบันดาลใจ นำไปประยุกต์ใช้กับงานจริงในอนาคต ซึ่งเป็นห้องเรียนที่เด็กประทับใจจริง ๆ”

ผศ.ดร.ชำนาญ กล่าวอีกว่า โพรเจกต์นี้นักศึกษาจะได้ฝึกสมอง ครีเอทีฟ เมื่อไปพบโจทย์ออกแบบก็สามารถนำไอเดียเหล่านี้ หรือดึงส่วนต่าง ๆ มาประยุกต์ใช้ได้ นอกจากจะได้แนวคิดแล้ว พวกเขายังมีซึมซับความรักในสิ่งแวดล้อมติดตัวไปด้วย เพราะแนวคิดการสร้างอาคารสูงให้เป็นเมืองก็เพื่อใช้พื้นดินน้อยที่สุด เพื่อเหลือพื้นที่ส่วนใหญ่ไว้สำหรับต้นไม้และสิ่งแวดล้อมนั่นเอง ดังนั้น ฟังก์ชันในอาคารหากไม่มีน้ำหรือไฟฟ้าก็จะต้องสร้างระบบเพื่อให้เกิดสิ่งอำนวยความสะดวกเหล่านี้ โดยคำนวณปัจจัยต่าง ๆ อย่างรอบด้าน

ด้าน นายกฤตยชญ์ เฮ้าปาน สาขาสถาปัตยกรรมหลัก คณะสถาปัตยศาสตร์ ชั้นปีที่ 4 เจ้าของผลงาน Green Loop อาคารศูนย์การเรียนรู้และวิจัยสาหร่าย Micro Algae (สาหร่ายขนาดเล็ก) เพื่อแก้ปัญหามลพิษทางอากาศ อาหารขาดแคลน ยารักษาโรค พัฒนาผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ รวมถึงพลังงานทดแทน  และการบำบัดน้ำเสีย โดยตัวโครงสร้างอาคารออกแบบมาเป็นบล็อกสี่เหลี่ยมคล้ายตัวต่อที่สามารถปรับเปลี่ยนไปตามสภาพพื้นที่ได้ มาพร้อมกับฟังก์ชันลักษณะทรงกระบอกที่มองด้านข้างเป็นทรงกลมโดยได้แรงบันดาลใจมาจากรูปร่างของ สาหร่าย Micro Algae ที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้กับทุกโซนของอาคาร และต่อเติมได้ตามความต้องการเหมือนสาหร่ายที่มีการเจริญเติบโตและแบ่งเซลล์ไปได้เรื่อย ๆ

“ส่วนตัวผมอยากสร้างโพรเจกต์เกี่ยวกับพืชหรือต้นไม้ จนได้มาเจอสาหร่าย Micro  Algae เป็นแพลงตอนก์พืชทะเลที่สังเคราะห์แสง ผลิตอาหารได้เอง ปกติจะเป็นอาหารให้สัตว์เล็ก แต่กลับมีประโยชน์ทั้งดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ ทั้งยังถูกนำมาวิจัยเพื่อพัฒนาไปสู่ผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ จึงได้ทำการศึกษาอย่างจริงจังเพื่อนำมาเป็นคอนเซ็ปต์และแรงบันดาลใจเกี่ยวกับโพรเจกต์นี้ ”

อย่างไรก็ตาม นายกฤตยชญ์ ทิ้งท้ายว่า การเรียนการสอนวิชาออกแบบครั้งนี้ นับเป็นประสบการณ์ที่ทำให้ห้องเรียนมีแต่ความสนุก ทุกคนร่วมกันแสดงความคิดเห็น ต่อยอดไอเดีย เพิ่มความคิดสร้างสรรค์และค้นคว้าข้อมูลกันอย่างจริงจังเพื่อสร้างผลงานในแบบฉบับของตัวเองออกมาจนสำเร็จ และแนวคิดต่าง ๆ ที่ได้จากโพรเจกต์นี้จะถูกต่อยอดและนำไปปรับใช้กับงานชิ้นอื่น ๆ ต่อไปในอนาคตอย่างแน่นอน โดยเฉพาะในยุคที่เมืองขยายตัวมากขึ้นจนพื้นที่แคบลง การสร้างอาคารสูงไม่ไกลตัวอีกต่อไป แต่การสร้างอาคารสูงที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมคือโจทย์สำคัญที่สถาปนิกต้องคำนึงถึง

ทั้งนี้ สำหรับใครที่สนใจชมผลงานออกแบบในโพรเจกต์ Khon Kaen Sky City 2200 และ Kangsadan 2060 สามารถรอชมได้ที่งาน ISAN Creative Festival 2024 (ISANCF2024) หรือ เทศกาลอีสานสร้างสรรค์ 2567 ซึ่งมีกำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 29 มิถุนายน – 7 กรกฎาคม 2567 โดยคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์เป็นอีกจุดแลนด์มาร์กในเส้นทางสร้างสรรค์ครั้งนี้ด้วย

ส่วนใครที่สนใจเรียนต่อด้านการออกแบบก็สามารถติดตามข้อมูลเกี่ยวกับการรับเข้าของคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ได้ นอกจากนี้ ในอนาคตคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์อาจมีหลักสูตรปริญญาตรีที่เน้นการออกแบบสถาปัตยกรรมเพื่อการอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อมเพิ่มเติม เพื่อให้ทุกคนได้มาร่วมสร้างสรรค์เมืองเพื่อโลกที่ดีกว่าต่อไป

รับชมผลงานออกแบบทั้ง 21 ดีไซน์ได้ที่ : https://www.facebook.com/kkuthailand/posts/pfbid0ed3ouAcE3pkoZ9bsrHyjbeyaP8EXQ7MH1WQdP49xop3ozBGFEW4g86xjD53EN5FBl

ข่าว : ผานิต ฆาตนาค

Architecture student comes up with advanced idea, design of world-friendly skyscrapers for Khon Kaen in the next 100 years and Kangsadan Zone in the next 40 years

https://www.kku.ac.th/17832

Scroll to Top