วันศุกร์ที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2567 มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยศูนย์ฟีโนมมหาวิทยาลัยขอนแก่น จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ โครงการความร่วมมือด้านการวิจัยไมโครไบโอมในระบบทางเดินอาหารของประชากรไทย ร่วมกับ บริษัท มด กัต จำกัด โดยได้รับเกียรติจาก รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นประธานในพิธี และคุณนิจพร จงอุดมฤกษ์ ประธานคณะกรรมการบริหาร บริษัท มด กัต จำกัด ร่วมลงนามในครั้งนี้ ณ ห้อง Beegins Co-working Space ชั้น 1 อาคารอํานวยการอุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น ระบุว่า โครงการร่วมมือด้านการวิจัยไมโครไบโอมในระบบทางเดินอาหารของประชากรไทย ที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยศูนย์ฟีโนมมหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้สร้างความร่วมมือทางวิชาการร่วมกับบริษัท มด กัต จำกัด เกิดขึ้นเพื่อสร้างและพัฒนา Research Program ระหว่างนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยและบริษัทเพื่อส่งเสริมให้อาจารย์ นักวิจัย และบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม ในการสนับสนุนการเรียนการสอน งานวิจัย และการบริการวิชาการด้านเมตาโบโลมิกส์ ฟีโนมิกส์ และเมตาจีโนมิกส์ นำไปสู่การเชื่อมโยงและใช้ประโยชน์ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ทั้งในเชิงวิชาการ เศรษฐกิจ และสังคม รวมทั้งยังสามารถนำความรู้นี้ไปใช้ในการพัฒนาให้เป็นแนวทางในการรักษา หรือป้องกันโรคแบบเฉพาะบุคคล หรือ Personalized Medicine ได้
“การจัดตั้งศูนย์ฟีโนมมหาวิทยาลัยขอนแก่น มีวัตถุประสงค์เพื่อขับเคลื่อนการทำงานวิจัยและบริการวิชาการด้านการแพทย์แม่นยำ เกษตรแม่นยำ และโภชนาการแม่นยำ โดยใช้เทคโนโลยีฟีโนมิกส์เป็นเครื่องมือและกลไกสำคัญ เพื่อเพิ่มความเข้มแข็งให้กับการพัฒนางานวิจัยและผลิตภัณฑ์มูลค่าสูงจากฐานการวิจัย และส่งผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจฐานชีวภาพของประเทศ รวมถึงช่วยเพิ่มความเป็นเลิศของเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ด้านการแพทย์ การเกษตร และโภชนาการ อาหารและยา ทั้งในภาครัฐและภาคเอกชนได้”
ด้าน คุณนิจพร จงอุดมฤกษ์ ประธานคณะกรรมการบริหาร บริษัท มด กัต จำกัด กล่าวว่า ศาสตร์ไมโครไบโอมนั้นมีความเชื่อมโยงกับชีวิตมนุษย์อย่างแนบแน่น แต่ละพื้นถิ่นมีไมโครไบโอมแตกต่างกันไปตามสภาพแวดล้อม นับเป็นวิทยาศาสตร์อีกแขนงที่ประเทศไทยพัฒนาอย่างก้าวกระโดดในระดับสากล เป็นศาสตร์ใหม่ที่ต้องการงานวิจัยอีกจำนวนมาก และเป็นจิตวิญญาณของมด กัต ที่แม้ในวันนี้จะอยู่ในฐานะภาคส่วนเอกชนแล้ว แต่สิ่งที่ไม่ทิ้งคืองานวิจัย
“ทางบริษัทมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยขอนแก่น เนื่องจากมีความเชื่อมั่นในศักยภาพ และความสามารถทางเทคโนโลยีรวมถึงบุคลากร ซึ่งหากในอนาคตมีการพิสูจน์ยืนยันได้ว่าอาหารพื้นถิ่นนั้นสร้างความแตกต่างของโปรไฟล์เมตาโบไลท์ (Metabolite) ที่แตกต่างกันได้ ก็จะนำไปสู่โอกาสมากมาย ทั้งการโปรโมตอาหารพื้นถิ่น เพื่อให้คนไทยรับประทานอาหารเป็นยา แทนการรับประทานยาเป็นกำเช่นในอดีต และการร่วมมือครั้งนี้จะช่วยนำไปสู่การทำความฝันและความหวังให้เป็นจริงได้”
ทั้งนี้ การลงนามดังกล่าวเป็นไปด้วยความอบอุ่น โดยแผนการดำเนินการตามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในครั้งนี้ จะนำไปสู่การทำงานร่วมกันในการพัฒนาการเรียนการสอน และบริการวิชาการด้านฟีโนมิกส์และเมตาจีโนมิกส์ร่วมกัน พร้อมสร้างและพัฒนาศักยภาพของบุคลากรสำหรับงานด้านฟีโนมและไมโครไบโอมทางเดินอาหารผ่านการฝึกอบรมร่วมกัน และพัฒนา Research Program ใหม่ร่วมกัน เพื่อเขียนข้อเสนอโครงการวิจัยขอทุนสนับสนุนร่วมกันต่อไปในอนาคต