สำนักบริการวิชาการ มข. จัดโครงการ การต่อยอดผลิตภัณฑ์สารสกัดจากดอกดาวเรืองในกลุ่มวิสาหกิจศิลาโฮมสเตย์ และผู้ประกอบการในตำบลศิลา อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น เพื่อแก้ปัญหาดอกดาวเรืองตกเกรด สร้างรายได้หนุนการท่องเที่ยวในชุมชน โดยร่วมกับ ผศ.วรุณทิพย์ ฉัตรจุฑามณี เจ้าของอนุสิทธิบัตรการผลิตผงสีย้อมธรรมชาติ อดีตอาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน ขอนแก่น เป็นผู้ถ่ายทอดองค์ความรู้สู่กลุ่มวิสาหกิจศิลาโฮมสเตย์ และผู้ประกอบการในพื้นที่ เมื่อวันที่ 11-12 มีนาคม 2567 ณ กลุ่มวิสาหกิจศิลาโฮมสเตย์ ต.ศิลา อ.เมือง จ.ขอนแก่น
จากการลงพื้นที่หารือร่วมกับผู้นำกลุ่มศิลาโอมสเตย์ และได้พูดคุยกับกลุ่มสมาชิก หนึ่งในปัญหาของเกษตรกรผู้ปลูกดอกดาวเรืองในพื้นที่ มักประสบปัญหาคือผลผลิตบางส่วนมีขนาดต่ำกว่าเกณฑ์ทำให้ไม่สามารถนำไปจำหน่ายได้ และประกอบกับมีต้นทุนการปลูกดอกดาวเรืองเพิ่มขึ้น แต่ราคาการรับซื้อดอกดาวเรืองค่อนข้างต่ำและได้ราคาน้อย สำนักบริการวิชาการ จึงได้หารือร่วมกับ ผู้เชี่ยวชาญ จนได้ข้อสรุป โดยมีการวางแผนการสร้างมูลค่าเพิ่มและต่อยอดผลิตภัณฑ์ตามหลัก Zero Waste รวมถึงพัฒนาผลิตภัณฑ์จากสารสกัดดอกดาวเรืองให้มีมาตรฐาน พร้อมกับผสมผสานรวมเข้ากับแนวทางการจัดการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนของศิลาโฮมสเตย์เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ความเปลี่ยนแปลงในปัจจุบันอีกด้วย
กิจกรรมครั้งนี้ประกอบด้วยการบรรยายความรู้เรื่องลักษณะและคุณสมบัติของผงสีย้อมจากกลีบดอก ฝึกปฏิบัติกระบวนการกรรมวิธีการผลิตผงสีธรรมชาติ การสกัดสีจากความร้อน (การตกตะกอน) การรักษาคุณภาพของสี วิธีการปรุงเฉดสีให้ได้ตามต้องการตามหลักวิทยาศาสตร์ หลักจากนั้นเป็นการต่อยอดนำเอาผงสีที่สกัดได้มาสร้างเสริมเป็นกิจกรรม เพื่อเป็นของฝาก อาทิเช่น กิจกรรมการเพ้นส์สีในผ้าใบจากผงสีธรรมชาติ การเพิ่มมูลค่าด้วยการสตาฟดอกไม้สดและตกแต่งให้กลายเป็นของที่ระลึก และเสริมความรู้การพิมพ์ลายผ้าจากการทุบลำต้น ดอก และใบ ให้กับกลุ่มสมาชิกอีกด้วย ซึ่งกิจกรรมเหล่านี้สามารถที่จะต่อยอดให้เป็นส่วนหนึ่งที่นักท่องเที่ยวหรือผู้สนใจที่มายังศิลาโฮมสเตย์ จะได้เรียนรู้และลงมือทำด้วยตนเองพร้อมยังได้รับสินค้ากลับไปเป็นของที่ระลึกอีกด้วย
โดยหลังจากนี้สำนักบริการวิชาการ และ กลุ่มวิสาหกิจศิลาโฮมสเตย์ยังได้ตั้งเป้าหมายที่จะคิดค้นผลิตภัณฑ์ใหม่ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะให้สามารถแข่งขันในตลาดและเพิ่มทางเลือกให้ผู้บริโภค ได้แก่ ก้านไม้หอม สเปรย์ไล่ยุง หรือผงสีกลีบดอกดาวเรือง เพื่อขยายกลุ่มลูกค้าไปยังกลุ่มดูแลผิวพรรณด้วยผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติ และสร้างกิจกรรมใหม่ที่เป็นการทำสบู่แผ่นจากสารสกัดจากดาวเรืองอีกด้วย
การจัดกิจกรรมในครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งในพันธกิจของสำนักบริการวิชาการ ด้านการบริการวิชาการแก่สังคม เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตตามเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณประเภททุนบริการวิชาการ จากกองทุนวิจัย นวัตกรรม และบริการวิชาการ สำนักบริการวิชาการ