2 มีนาคม 2567 สำนักบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ดำเนินการจัดโครงการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ “การพัฒนาแหล่งน้ำขนาดเล็ก ด้วยนวัตกรรมฝายดินซีเมนต์ เพื่อแก้ปัญหาภัยแล้ง ลดความเหลื่อมล้ำในชุมชน สำหรับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง” ณ ห้องหน้าเมือง โรงแรมเจริญธานีขอนแก่น มีผู้บริหารและบุคลากรขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เข้าร่วม 43 คน จาก 8 จังหวัดประกอบไปด้วยภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคอีสาน
รศ.น.สพ.ดร.ชูชาติ กมลเลิศ ผู้อำนวยการสำนักบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นประธานเปิดโครงการฝึกอบรมฯ โดยเล่าถึงพันธกิจของสำนักบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ที่ส่งเสริมและสนับสนุนให้บุคลากรของมหาวิทยาลัยนำผลงานวิจัยและนวัตกรรม เพื่อร่วมขับเคลื่อนการให้บริการวิชาการในรูปแบบของการสร้างคุณค่าร่วมกัน (CSV; Creating shared value) มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีที่เหมาะสม เพื่อการพัฒนาสังคมและยกระดับคุณภาพชีวิตตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ซึ่งการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดเล็ก ด้วยนวัตกรรมฝายดินซีเมนต์ เพื่อแก้ปัญหาภัยแล้ง เป็นหนึ่งในผลงานการวิจัย โดยมี รศ.ดร.ศุภสิทธิ์ คนใหญ่ รองผู้อำนวยฝ่ายบริการวิชาการ สำนักบริการวิชาการ เป็นผู้รับผิดชอบ อีกด้วย
การจัดโครงการฝึกอบรมฯ ในครั้งนี้ วิทยากรผู้เชี่ยวชาญและเจ้าของผลงานวิจัย ประกอบไปด้วย รศ.ดร.ศุภสิทธิ์ คนใหญ่ รองผู้อำนวยการฝ่ายบริการวิชาการ สำนักบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยขอนแก่นและอาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ผอ.ภัทรพล ณ หนองคาย อนุกรรมาธิการศึกษา เสนอแนะ การแก้ปัญหาความยากจน ลดความเหลื่อมล้ำเชิงโครงสร้าง ด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำที่ดิน วุฒิสภา และ อ.สุภัทรดิศ ราชธา อนุกรรมาธิการศึกษา เสนอแนะ แนวทางการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน วุฒิสภา ซึ่งผู้เข้ารับการอบรมในครั้งนี้ ได้เรียนรู้ โครงสร้างและวัสดุ ในการสร้างฝายแกนดินซีเมนต์ การแก้ปัญหาภัยแล้ง บูรณาการแหล่งน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ และทราบถึงพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ 2561 แผนปฏิบัติการกำหนดขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น แผนแม่บทบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี (2561–2580) พร้อมกันนี้ยังได้ลงไปศึกษาพื้นที่สร้างฝายจริงในจังหวัดขอนแก่น และพื้นที่ใกล้เคียงอีกด้วย