วันนี้ (21 กุมภาพันธ์ 2567) เวลา 9.00 น. มหาวิทยาลัยขอนแก่น แถลงข่าวเปิดตัว นวัตกรรมด้านปัญญาประดิษฐ์ตัวแรกของโลก“BiTNet แพลตฟอร์ม AI เพื่อวิเคราะห์ภาพอัลตร้าซาวด์สำหรับแก้ปัญหาโรคมะเร็งท่อน้ำดี” ณ ห้องประชุมสารสิน อาคารสิริคุณากร มหาวิทยาลัยขอนแก่น
“BiTNet” เป็นเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) เพื่อคัดกรองกลุ่มเสี่ยงโรคมะเร็งท่อน้ำดีและความผิดปกติของช่องท้องส่วนบน ที่พัฒนาขึ้นโดยนักวิจัยมหาวิทยาลัยขอนแก่น ภายใต้ความร่วมมือทางวิชาการระหว่าง สถาบันวิจัยมะเร็งท่อน้ำดีและคณะวิทยาศาสตร์ นำโดย ศ.พญ.นิตยา ฉมาดล, ศ.นพ.วัลลภ เหล่าไพบูลย์, ผศ.พญ.อรุณนิตย์ บุญรอด ภาควิชารังสีวิทยา คณะแพทยศาสตร์, ผศ.ดร.ธนพงศ์ อินทระ, อ.ดร.เปรม จันทร์สว่าง สาขาวิชาสถิติ คณะวิทยาศาสตร์, ผศ.ดร.อัญชลี เตชะเสน คณะเทคนิคการแพทย์, ผศ.นพ.อรรถพล ติตะปัญ สาขาวิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ และคณะทำงาน
ศาสตราจารย์ ดร. มนต์ชัย ดวงจินดา รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบัณฑิตศึกษา มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า มหาวิทยาลัยขอนแก่น มีวิสัยทัศน์ (VISION) “มหาวิทยาลัยวิจัยและพัฒนาชั้นนำระดับโลก” โดยมุ่งเน้นพัฒนาวิจัย นวัตกรรมเพื่อพัฒนาชุมชนและสังคมโลก รวมทั้งการตระหนักถึงความรุนแรงของโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดีทั้งในประเทศไทยและประเทศอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้ให้การสนับสนุนสถาบันวิจัยมะเร็งท่อน้ำดีในการทุ่มเทเพื่อการศึกษาวิจัย พัฒนานวัตกรรมเพื่อแก้ไขปัญหาโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดีอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะบทบาทการดูแลการให้บริการทางการแพทย์และการวิจัยเพื่อแก้ไขปัญหาสาธารณสุข และเป็นที่ประจักษ์ว่ามหาวิทยาลัยขอนแก่นประสบความสำเร็จเป็นอย่างมากและถือเป็นผู้นำในการดำเนินงานในเรื่องนี้
ด้าน รศ.ดร.วัชรินทร์ ลอยลม รักษาการแทนผู้อำนวยการสถาบันวิจัยมะเร็งท่อน้ำดี ได้ชี้แจงเพิ่มเติมเกี่ยวกับการส่งเสริมการบูรณาการการทำงานร่วมกันทางด้านวิชาการและนำไปสู่นวัตกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี การทำงานจะเป็นการรวบรวมคณะทำงานที่มีความเชี่ยวชาญทุกๆด้านให้มาทำงานร่วมกันเป็นทีม อันจะนำมาสู่การแก้ปัญหาของโรคในทุกมิติ เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย ศาสตราจารย์นายแพทย์ณรงค์ ขันตีแก้ว อดีตรักษาการแทนผู้อำนวยการสถาบันวิจัยมะเร็งท่อน้ำดี ได้ริเริ่มแนวคิดที่จะพัฒนานวัตกรรมปัญญาประดิษฐ์สำหรับแก้ปัญหาโรคมะเร็งท่อน้ำดี และผลักดันอย่างต่อเนื่องภายใต้การสนับสนุนทรัพยากรและงบประมาณภายใต้ทุนวิจัยท้าทายไทย โดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ จนนำมาซึ่งแพลตฟอร์ม “BiTNet” ที่ช่วยในการแก้ไขปัญหาโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดีอย่างยั่งยืน
ผศ.ดร.ธนพงศ์ อินทระ อาจารย์ประจำสาขาวิชาสถิติ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวถึง ความโดดเด่นของ BiTNet ซึ่งถือเป็น AI ที่ถูกสอนให้สามารถวิเคราะห์ภาพอัลตราซาวน์ผิดปกติที่พบในช่องท้องส่วนบน ความสามารถหลักคือบ่งชี้ผู้ที่มีความเสี่ยงเป็นโรคมะเร็งท่อน้ำดีได้ โดยสามารถลดภาระงานของรังสีแพทย์ได้ถึง 35% เพิ่มความแม่นยำในการวินิจฉัยของแพทย์ทั่วไปได้ถึง 12% และมีความแม่นยำในการวินิจฉัยผู้มีความเสี่ยงเป็นโรคมะเร็งท่อน้ำดีที่ 96% นอกจากนั้นยังสามารถช่วยวินิจฉัยความผิดปกติอื่นๆในช่องท้องส่วนบนได้ถึง 20 ความผิดปกติ ดังนั้นแพลตฟอร์ม BiTNet ถือเป็น AI ตัวแรกของโลกที่สามารถวิเคราะห์ความผิดปกติในช่องท้องส่วนบนผ่านภาพถ่ายอัลตร้าซาวน์ โดยผลงานนี้ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารวิชาการนานาชาติ คุณภาพสูงชื่อ Artificial Intelligence in Medicine และได้รับรางวัลระดับชาติและนานาชาติ ประกอบด้วย รางวัล Silver Digital Innovation จากงานประกาศรางวัลระดับนานาชาติ ASEAN Digital Awards 2024 ณ ประเทศสิงคโปร์, รางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้น ระดับดี ประจำปี 2567 จากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ, รางวัลรองชนะเลิศ หมวด Inclusion and Community Services จากเวที Thailand ICT Award 2023 และรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 รางวัลนวัตกรรมแห่งชาติ ด้านการออกแบบผลิตภัณฑ์และบริการ ประจำปี 2564 จากสำนักนวัตกรรมแห่งชาติ
ศ.พญ.นิตยา ฉมาดล ศาสตราจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านรังสีวิทยา สาขาวิชารังสีวิทยา คณะแพทยศาสตร์ กล่าวว่าเนื่องจากโรคมะเร็งท่อน้ำดีจะไม่มีการแสดงทางคลินิคในระยะเริ่มแรกของโรค ความท้าทายของทีม คือ จะวินิจฉัยโรคนี้ตั้งแต่ระยะเริ่มต้นได้อย่างไรเพื่อทำให้ผลการรักษาและอัตราการรอดชีพสูงขึ้น จากผลงานวิจัยสนับสนุนว่า การเฝ้าระวังโดยการตรวจด้วยเครื่องอัลตราซาวน์จะทำให้สามารถวินิจฉัยโรคนี้ได้ในระยะเริ่มต้นได้ 80% ทีมจึงได้ร่วมกันพัฒนาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์และสามารถรวบรวมข้อมูลสำหรับฝึกสอน AI เกี่ยวกับภาพถ่ายอัลตราซาวน์ในระบบช่องท้องส่วนบนที่สมบูรณ์ที่สุดเป็นชุดแรกของโลก โดยหวังเปนอย่างยิ่งว่า นวัตกรรมนี้จะได้มีการเผยแพร่อย่างกว้างขวางและนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ได้จริงในระบบสาธารณสุขของประเทศไทย ท้ายที่สุดศ.พญ.นิตยา กล่าวขอบคุณและระลึกถึง ศาสตราจารย์นายแพทย์ ณรงค์ ขันตีแก้ว ซึ่งเป็นผู้รวบรวมความร่วมมือจากผู้เชี่ยวชาญทุกศาสตร์ที่เกี่ยวข้องเพื่อการแก้ปัญหาและเป็นผู้จุดประกายให้มีการค้นหาวิธีการต่างๆที่สามารถปฏิบัติได้จริงเพื่อแก้ไขปัญหานี้
นอกจากนี้ ผศ.ดร.อังคณา บุญยืด คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ กล่าวว่า ในปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน คณะวิทยาศาสตร์ได้มุ่งเน้น สนับสนุนและผลักดัน ผลงานวิจัยและนวัตกรรมให้สามารถใช้ประโยชน์ได้ในทุกมิติ โดยการบูรณาการความร่วมมือจากหลายหน่วยงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การมีบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการระหว่างคณะวิทยาศาสตร์และสถาบันวิจัยมะเร็งท่อน้ำดี เพื่อร่วมมือดำเนินโครงการวิจัยและนวัตกรรมเพื่อแก้ไขปัญหาโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี คณะวิทยาศาสตร์ จึงให้การสนับสนุนการพัฒนาแพลตฟอร์ม “BiTNet” ด้วยการให้การสนับสนุนบุคลากรผู้มีความเชี่ยวชาญด้านระบบปัญญาประดิษฐ์และ computer vision เพื่อร่วมพัฒนานวัตกรรมอันจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชน ภายใต้ หัวหน้าทีมพัฒนาที่นำโดย ผศ.ดร.ธนพงศ์ อินทระ หัวหน้าทีมผู้เชี่ยวชาญด้านระบบปัญญาประดิษฐ์และ Computer Vision สาขาวิชาสถิติ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
สถาบันวิจัยมะเร็งท่อน้ำดี (CARI)
ชั้น 3 อาคารเวชวิชชาคาร คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น 40002
โทรศัพท์/โทรสาร 043-203769 E-mail: carikkuthailand@gmail.com
www.cari.kku.ac.th , Facebook :สถาบันวิจัยมะเร็งท่อน้ำดี
The first time in the world!! KKU launches “BiTNet” AI for screening Cholangiocarcinoma