กองสื่อสารองค์กร มข.เจาะลึกกลวิธีการใช้ภาษา-เสริมเทคนิคประชาสัมพันธ์ยุคดิจิทัล

วันอังคารที่ 6 กุมภาพันธ์ 2567  คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จัดอบรมเชิงปฏิบัติการ “กลวิธีการใช้ภาษา และการสื่อสารในงานประชาสัมพันธ์” แก่นักศึกษา ชั้นปีที่ 2 สาขาวิชาภาษาไทย  โดย นางสาวผานิต ฆาตนาค นักประชาสัมพันธ์  กองสื่อสารองค์กร มหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นวิทยากร  ณ ห้อง 5A1  ชั้น 5 อาคารรัตนพิทยา เพื่อเจาะลึกกลวิธีการใช้ภาษาทั้งวัจนภาษา และ อวัจนภาษา รวมถึงเสริมเทคนิคในการประชาสัมพันธ์ยุคดิจิทัล

ผศ.ดร.วาลี ปรีชาปัญญากุล อาจารย์ประจำวิชาโฆษณา สาขาวิชาภาษาไทย คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ กล่าวว่า การอบรมเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้จัดขึ้นเพื่อเปิดพื้นที่การเรียนจากผู้ปฏิบัติงานจริง เพื่อให้นักศึกษาได้เข้าใจกระบวนการในงานประชาสัมพันธ์ตั้งแต่กลวิธีการใช้ภาษา รวมถึงเทคนิคต่าง ๆ เกี่ยวกับการประชาสัมพันธ์ในช่องทางต่าง ๆ โดยเฉพาะบนแพลตฟอร์มออนไลน์ เพื่อนำไปสู่การปรับใช้ในการเรียนการสอนวิชาโฆษณา รวมถึงนำไปต่อยอดสู่การฝึกสหกิจต่อไปในอนาคต

 

สำหรับบรรยากาศการอบรมในครั้งนี้ จัดขึ้นต่อเนื่องกัน 2 ครั้ง ในวันอังคารที่ 31 มกราคม 2567 และในวันนี้ ซึ่งทั้ง 2 ครั้ง วิทยากรได้นำเสนอกลวิธีการใช้ภาษาในงานประชาสัมพันธ์ โดยต้องคำนึงถึงปัจจัยสำคัญ 4 อย่าง นั่นคือ ผู้ส่งสาร สาร ช่องทางการสื่อสาร และผู้รับสาร โดยหากพิจารณาปัจจัยสำคัญเหล่านี้ได้อย่างชัดเจน และมีประเด็นสำคัญที่ต้องการจะสื่อก็จะสามารถประชาสัมพันธ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

นอกจากนี้ ยังได้มีการยกตัวอย่างการประชาสัมพันธ์ของกองสื่อสารองค์กร มหาวิทยาลัยขอนแก่นในทุกช่องทาง เพื่อให้เห็นภาพและความสำคัญของการมองความต้องการกลุ่มเป้าหมายมาเป็นอันดับแรก โดยไม่ลืมวัตถุประสงค์หรือประเด็นในการสื่อสาร และเสริมเทคนิคการสื่อสารในงานประชาสัมพันธ์ด้วยการมองภาพรวมของแพลตฟอร์มให้กระจ่างว่า กลุ่มเป้าหมายแบบใด ใช้แพลตฟอร์มไหน เพื่อสื่อสารได้อย่างตรงจุด ใช้ภาษาได้ถูกระดับ ขณะเดียวกันยังได้ยกตัวอย่างการเน้นย้ำ คีย์เวิร์ดหรือ คำยอดนิยมหรือ คำค้นหาของประเด็นหรือเนื้อหาที่ต้องการจะสื่อ ซึ่งจะเป็นตัวช่วยดึงผู้คนเข้ามารับสารได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ทั้งนี้ หนึ่งในนักศึกษา กล่าวหลังเข้าร่วมการอบรมว่า รู้สึกดีใจที่ได้เข้าร่วมการอบรมในครั้งนี้ เพราะทำให้ได้เห็นภาพรวมการสื่อสารและประชาสัมพันธ์อย่างชัดเจน โดยเฉพาะการประชาสัมพันธ์ของมหาวิทยาลัยขอนแก่น และสามารถนำความรู้ที่ได้มาต่อยอดในการเรียนวิชาโฆษณาต่อไปได้ ทั้งยังเชื่อมั่นว่าจะสามารถวิเคราะห์ผู้รับสาร การใช้ภาษา หรือแม้แต่การเลือกช่องทางการสื่อสารได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น จากการให้ความสำคัญของกลุ่มเป้าหมาย และคาดว่าคอนเทนต์ที่จะทำในอนาคตจะเข้าถึงผู้อ่านได้มากยิ่งขึ้นผ่านกลวิธีการสื่อสารด้วยวัจนภาษาและอวัจนภาษา

 

Scroll to Top