ศูนย์ปฏิบัติการและส่งเสริมการพัฒนาเมืองอัจฉริยะน่าอยู่ วิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น มหาวิทยาลัยขอนแก่น COLA KKU สร้างเครือข่าย ความร่วมมือทางวิชาการ สู่เมือง Smart City อย่างยั่งยืน ในงาน Block Mountain CNX 2020
ศูนย์ปฏิบัติการและส่งเสริมการพัฒนาเมืองอัจฉริยะน่าอยู่ วิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น มหาวิทยาลัยขอนแก่น COLA KKU พร้อมส่งเสริมวิชาการที่เป็นเลิศด้านการพัฒนาเมืองอัจฉริยะที่น่าอยู่ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ และเสริมสร้างความยั่งยืนในประเทศไทย โดยในระหว่างวันที่ 28-29 กุมภาพันธ์ 2563 ณ อุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี STeP มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ รศ.ดร.ศุภวัฒนากร วงศ์ธนวสุ ผู้อำนวยการ ศูนย์ปฏิบัติการและส่งเสริมการพัฒนาเมืองอัจฉริยะน่าอยู่ ได้นำคณะทำงาน ออกบูธเผยแพร่ประชาสัมพันธ์หลักสูตรที่ได้พัฒนาขึ้น พร้อมสำรวจความต้องการในการเรียนรู้ของกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งได้แก่ บริษัทพัฒนาเมือง ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตลอดจนผู้ที่สนใจทั่วไป ในงาน Block Mountain 2020 งานบล็อกเชนและเทคโนโลยีที่ใหญ่ที่สุดในภาคเหนือจำนวนกว่า 500 คน พร้อมขึ้นเวทีบรรยาย Smart City แนวทางการพัฒนาเมืองขอนแก่น และนำเสนอ ห้องย่อย ถึงโครงการวิจัย เรื่อง “การวางแผนกลยุทธ์ในการนำนโยบายการพัฒนาตามแนวทางเมืองอัจฉริยะไปสู่การปฏิบัติ: การถอดบทเรียน การประเมิน การตรวจสอบความตรงและการพัฒนาข้อเสนอแนะ” ตามที่ได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ให้ดำเนินการ ซึ่งมีพื้นที่เป้าหมาย คือ ขอนแก่น เชียงใหม่ และภูเก็ต
สำหรับงาน Block Mountain CNX 2020 นั้น สมาคมสินทรัพย์ดิจิทัลไทย และบริษัท สยามดีแอพ (ประเทศไทย) ได้ร่วมมือกัน จัดงานขึ้น พร้อมเปิดให้มีการบรรยายจาก Guru Speaker ชั้นแนวหน้าของไทย โดยกิจกรรมภายในงานนั้น ได้มีการจัดกิจกรรมที่หลากหลาย ซึ่งมีเนื้อหาที่มุ่งเน้นทางด้านเทคโนโลยี และบล็อกเชนที่เข้มข้น ตามเนื้อหาหลักของงาน คือ Digital Disruption , Blockchain & Digital Asset และ Smart City Zone ไม่ว่าจะเป็นการให้ความรู้ทางด้านเทคโนโลยีจากทั้ง 3 ภาคส่วน เช่น กฎหมายสินทรัพย์ดิจิทัล การรับมือเมื่อต้องเจอกับภัยไซเบอร์ บล็อกเชนกับการนำไปประยุกต์ใช้ Digital Disruption และเทรนด์เทคโนโลยีปี 2020 การปูพื้นฐานความรู้เบื้องต้น ไปจนถึงการเจาะลึก วิเคราะห์ การเทรด และการประยุกต์ใช้เพื่อต่อยอดธุรกิจทางด้านบล็อกเชน นิทรรศการและการบรรยายจาก Smart City แนวทางการพัฒนาเมืองด้วยการใช้เทคโนโลยีที่ได้รับความร่วมมือจาก 12 บริษัทชั้นนำของไทย ทดลองใช้งานเทคโนโลยีบล็อกเชนผ่านแอปพลิเคชัน Om Wallet
อนึ่ง รศ.ดร.ศุภวัฒนากร วงศ์ธนวสุ ผู้อำนวยการ ศูนย์ปฏิบัติการและส่งเสริมการพัฒนาเมืองอัจฉริยะน่าอยู่ ได้นำเสนอว่า “ขอนแก่นสมาร์ทซิตี้” มีความชัดเจนยิ่งขึ้น จากหลักการขับเคลื่อนเมืองด้วยเทคโนโลยี ซึ่งจะพลิกโฉมเมืองขอนแก่น ควบคู่ไปการพัฒนาระบบรางและการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีขนส่งมวลชน เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเมืองอย่างยั่งยืน พร้อมเน้นย้ำว่า ที่ จ.ขอนแก่น ได้เลือก Smart Mobility ในการเป็นตัวชูโรงเพื่อเปลี่ยนเมืองสู่ เมืองอัจฉริยะ (Smart City) โดยอาศัยการพัฒนาที่ต่อยอดมาจากระบบขนส่งมวลขนทางราง LRT นั้น เพราะ แผนการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีรถไฟฟ้า (Transit-Oriented Development : TOD) ซึ่งเป็นแนวคิดการพัฒนาเชิงกายภาพ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ และ traffic การใช้พื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุดระดับสากล แต่ในประเทศไทยยังไม่มี TOD ที่ชัดเจนให้เห็น และ จ.ขอนแก่น อาจจะเป็นเมืองแรกที่ทำได้สำเร็จ ซึ่งนับว่าเป็นเรื่องน่าตื่นเต้น ยิ่งไปกว่านั้น ข้อดีของการพัฒนาแบบนี้ก็คือ สามารถพัฒนาให้เกิด เมืองครบครัน (Compact City) ได้ง่าย อีกทั้งยังไม่ต้องกระจายงบประมาณการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอีกด้วย
ศูนย์ปฏิบัติการและส่งเสริมการพัฒนาเมืองอัจฉริยะน่าอยู่ เป็นหน่วยงานภายในสังกัดวิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น มหาวิทยาลัยขอนแก่น ประเภทหน่วยงานที่จัดตั้งตามภารกิจเฉพาะหรือตามยุทธศาสตร์ มุ่งพัฒนาองค์ความรู้ด้านการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ (smart city) และด้านการจัดการภาครัฐดิจิทัล (digital governance) ของประเทศไทย ให้บริการวิชาการและฝึกอบรมหลักสูตรระยะสั้นด้านการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ (smart city) และการจัดการภาครัฐดิจิทัล (digital governance) และเป็นศูนย์การทดสอบเทคโนโลยีและแนวความคิดการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ (Smart City Testbed: SCT) ก่อนนำไปสู่การปฏิบัติและขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองจริง ยิ่งไปกว่านั้น ศูนย์ปฏิบัติการและส่งเสริมการพัฒนาเมืองอัจฉริยะน่าอยู่ ยังทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาให้กับเมือง จังหวัดต่าง ๆ ในประเทศไทยและต่างประเทศด้านการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ และแนวทางการจัดหาทุนดำเนินการพัฒนาเมือง
ภาพ/ข่าว:ภาภรณ์ เรืองวิชา