สำนักบริการวิชาการ จับมือ สมาคม สมาพันธ์เชฟประเทศไทย เตรียมความพร้อมหลักสูตรใหม่ สร้างเชฟผู้รังสรรค์ด้านอาหาร เพื่อป้อนตลาดแรงงานทั้งในและต่างประเทศ

          สำนักบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ร่วมกับ สมาคม สมาพันธ์เชฟประเทศไทย จัดพิธีร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ (MOA) เพื่อให้บริการวิชาการแก่สังคมในด้านการพัฒนาบุคลากรด้านอาหาร และการประกอบ อาหารแก่ประชาชนผู้สนใจทั่วไป รวมถึงการจัดทำหลักสูตรการจัดการศึกษาตลอดชีวิตด้านการพัฒนาบุคลากร ด้านอาหารและการประกอบอาหาร ในวันพฤหัสบดีที่ 16 พฤศจิกายน 2566 เวลา 13.00 น. ณ ห้องประชุมมณีเทวา ชั้น 5 อาคารพิมลกลกิจ สำนักบริการวิชาการ

        

               พิธีลงนามความร่วมมือในครั้งนี้ได้รับเกียรติจาก รศ.น.สพ.ดร.ชูชาติ  กมลเลิศ ผู้อำนวยการสำนักบริการวิชาการ ผู้รับมอบอำนาจจากอธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น และ นายเสาวกิจ ปรีเปรม นายกสมาคม สมาพันธ์เชฟประเทศไทย ร่วมลงนาม พร้อมด้วย รศ.ดร.ศุภสิทธิ์ คนใหญ่ รองผู้อำนวยการฝ่ายบริการวิชาการ สำนักบริการวิชาการ และ ดร.ธีรวีร์ ดิษยะไชยพงษ์ ผู้อำนวยการฝ่ายประชาสัมพันธ์ ของสมาคม สมาพันธ์เชฟประเทศไทย ลงนามเป็นพยาน พร้อมด้วยคณะผู้บริหารและแขกผู้มีเกียรติ ประกอบไปด้วย รศ.น.สพ.ดร.สุวิทย์  อุปสัย รองผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการ สำนักบริการวิชาการ นายประหยัด  สืบเมืองซ้าย รักษาการผู้อำนวยการกองบริหารงานสำนักบริการวิชาการ อาจารย์ ดร.พงศ์พันธุ์ ศรัทธาทิพย์ กรรมการ บริษัท แพชชัน ฮอสพิทอลลิตี้ แอนด์ คูซีน กรุ๊ป จำกัด นายสุรักษ์ อินทรักขณา กรรมการสมาคม สมาพันธ์เชฟประเทศไทย และ นายสุทธิพงษ์ กงทา กรรมการสมาคม สมาพันธ์เชฟประเทศไทย

          รศ.น.สพ.ดร.ชูชาติ  กมลเลิศ ผู้อำนวยการสำนักบริการวิชาการ กล่าวถึงพันธกิจที่สำคัญของสำนักบริการวิชาการในด้านการจัดการศึกษาหลักสูตรบูรณาการศาสตร์ (Integrated Curriculum) สำนักบริการวิชาการเองโดยทำหน้าที่ประสานงานกับคณะต่างๆ เพื่อบูรณาการจัดทำหลักสูตรด้านการประกอบอาหารและโภชนาการ โดยมุ่งเป้าผลิดเชฟผู้รังสรรค์อาหาร เพื่อป้อนสู่ตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งในปัจจุบันเป็นที่ต้องการของตลาดเป็นอย่างมาก ซึ่งการลงนามร่วมกันในครั้งนี้ก็เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมเพื่อให้การเรียนการสอน หลักสูตรวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการประกอบอาหาร (Culinary Science and Technology) ซึ่งเป็นหลักสูตรใหม่ของมหาวิทยาลัยขอนแก่นที่กำลังจะเปิดในปี พ.ศ. 2567 และสำนักบริการวิชาการ ได้เล็งเห็นถึงศักยภาพของสมาคม สมาพันธ์เชฟประเทศไทยที่มีความเชี่ยวชาญทั้งในด้านองค์ความรู้ เทคนิค วิธีการ รวมถึงประสบการณ์ต่าง ๆ ที่จะสามารถถ่ายทอดให้แก่ผู้เรียน ได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงความร่วมมือการพัฒนาและจัดทำหลักสูตรการจัดการศึกษาตลอดชีวิตเพื่อพัฒนาบุคลากร ด้านอาหารและการประกอบอาหาร ให้กับผู้ที่สนใจได้เข้ามาเรียนรู้ ร่วมกับสำนักบริการวิชาการ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งพันธกิจที่สำคัญอีกด้วย

นายเสาวกิจ ปรีเปรม นายกสมาคม สมาพันธ์เชฟประเทศไทย

          นายเสาวกิจ ปรีเปรม นายกสมาคม สมาพันธ์เชฟประเทศไทย กล่าวถึงการร่วมมือในครั้งนี้ โดยสมาคม สมาพันธ์เชฟประเทศไทย ขอบคุณมหาวิทยาลัยขอนแก่น ที่ให้เชื่อมั่น ในศักยภาพของทางสมาคม ซึ่งทางสมาคมเองก็มีความพร้อมในการที่จะร่วมกันยกระดับและพัฒนาหลักสูตรวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการประกอบอาหารของทางมหาวิทยาลัย ซึ่งทางสมาคมพร้อมที่จะสนับสนุนไม่ว่าจะทางด้านบุคลากรที่มีศักยภาพในการถ่ายทอดด้านองค์ความรู้ และประสบการณ์ต่างๆ รวมถึงสถานที่ฝึกงานให้กับนักเรียนนักศึกษาของหลักสูตร รวมถึงการเปิดโอกาสเข้าในการทำงานจากทางเครือข่ายต่างๆ ของทางสมาคม อีกด้วย

ดร.ธีรวีร์ ดิษยะไชยพงษ์

         ดร.ธีรวีร์ ดิษยะไชยพงษ์ ผู้อำนวยการฝ่ายประชาสัมพันธ์ ของสมาคม สมาพันธ์เชฟประเทศไทย และกรรมการ บริษัท แพชชัน ฮอสพิทอลลิตี้ แอนด์ คูซีน กรุ๊ป จำกัด (เชฟจากัวร์) กล่าวว่า ปัจจุบันเรื่องของอาหารเป็นสิ่งที่สำคัญสำหรับทุกช่วงวัย และภาครัฐเองก็กำลังผลักดันให้อาหาร เป็นอีกหนึ่ง soft power ของไทยที่จะช่วยให้กระตุ้นเศรษฐกิจอีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นอาหารเพื่อสุขภาพ อาหารเพื่อผู้สูงอายุ อาหารกับการท่องเที่ยว อาหารเพื่อธุรกิจหรือคาเฟ่ต่างๆ  ซึ่งหลักสูตรวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการประกอบอาหารนี้ สามารถตอบโจทย์ความต้องการของตลาดไม่ว่าจะเป็นในส่วนของภาคธุรกิจรวมถึงภาคอุตสาหกรรมอีกด้วย โดยทางสมาคมเองก็ความหวังถึงศักยภาพของผู้ที่เรียนจบจากหลักสูตรนี้ ที่จะมีความสามารถในการบูรณาการผสมผสานทั้งในด้านการทักษะ เทคนิคและความชำนาญ พร้อมด้วยองค์ความรู้ทางวิชาการที่พร้อมจะก้าวเข้าสู่การทำงานเพื่อให้ตอบโจทย์ความต้องการที่แท้จริงของตลาดได้

        

 

 

Scroll to Top