ท่ามกลางกระแสอุตสาหกรรมบันเทิง ภาพยนตร์ไทย นับเป็น soft powerที่กำลังเติบโตอย่างก้าวกระโดด นอกจากจะสืบสานวัฒนธรรม ประเพณีไทย วิถีชีวิตชาวไทยเข้าไปในเนื้อเรื่องแล้ว ยังเป็นการช่วยกระตุ้นเม็ดเงิน เศรษฐกิจไทย ให้เติบโตอย่างมาก กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ได้เปิดเผยผลเจรจาการค้าของไทยในงานแสดงสินค้า Marché du Film ในงานเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองคานส์ ครั้งที่ 76 ณ สาธารณรัฐฝรั่งเศสที่ผ่านมาว่า มีผู้ประกอบการไทยจำนวน 10 บริษัท ได้รับการคัดเลือกเข้าร่วมงาน มีนักลงทุน ผู้สร้าง และผู้ซื้อภาพยนตร์จากต่างประเทศให้ความสนใจเข้าร่วมเจรจาการค้ากับผู้ประกอบการไทยรวม 271 นัดหมาย สามารถสร้างมูลค่าเจรจาการค้าได้ 1,986 ล้านบาท
แน่นอนว่าในยุคที่ทุกคนเข้าถึงสื่อ การทำให้อุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยให้เป็นที่ยอมรับในระดับโลกนั้นเป็นเรื่องไม่ง่าย แต่ก็ไม่ยากจนเกินความสามารถของชาวไทย เพราะมีกลุ่มเยาวชนความหวังใหม่ที่ชื่นชอบคลั่งไคล้ในศิลปะการสร้างภาพยนตร์ ชมรม “Mix Media” กลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มี Passions ในการสร้างภาพยนตร์ให้เป็นที่รู้จักในระดับโลก ได้ผลิตหนังสั้นเรื่อง “TOO FAR TOO CLOSE” ผลงานของนักศึกษาหลักสูตรนิเทศศาสตรบัณฑิต วิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ถูกเสนอชื่อให้เข้าชิง ในสาขา “Fiction” ในเทศกาลหนังสั้น “CCCL Film Festival 2023 โลกป่วย เราต้องเปลี่ยน” ณ สมาคมฝรั่งเศสกรุงเทพ จากหนังสั้นทั้งหมดที่ส่งเข้าประกวดจากทั่วทุกมุมโลกกว่า 231 เรื่อง
นางสาวสุทธิรัก สิงห์ชารี นักศึกษาชั้นปีที่ 2 สาขานิเทศศาสตร์ เทคโนโลยีสื่อสร้างสรรค์ วิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า ภาพยนตร์สั้นเรื่อง TOO FAR TOO CLOSE ได้รับแรงบันดาลใจจากภาพยนตร์เรื่อง Interstellar (2014) เรื่องจริงของสถานการณ์สิ่งแวดล้อมโลก ผู้คนใช้ชีวิตตนเอง ต่างคนต่างดำเนินชีวิตไป โดยส่วนมากไม่สนใจอะไรเลย แต่สภาพแวดล้อมภายนอกกลับแย่มาก ๆ ตัดภาพกลับไปมาโดยมีมิติทับซ้อนให้น่าสนใจมากขึ้น
จากการได้รับคัดเลือกดังกล่าวทำให้นักศึกษาชมรม “Mix Media” มีโอกาสได้แลกเปลี่ยนความรู้การทำภาพยนตร์กำผู้กำกับระดับฮอลลีวูด รวมทั้งรุ่นพี่ในวงการภาพยนตร์อย่าง อิฐ-ปฏิภาณ บุณฑริก ผู้กำกับชาวไทย ที่ดันภาพยนตร์ solid by the seashore คว้า 2 รางวัลจากเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติปูซาน ครั้งที่ 28 มาหมาดๆ และกระทบไหล่ผู้กำกับ ผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์หลายประเทศทั่วโลก
“ เมื่อช่วงสถานการณ์โควิดทำให้การเรียนในภาคปฏิบัติลดน้อยลง เราจึงคิดกันว่า ต้องทำอะไรสักอย่าง เพื่อให้ได้เรียนรู้เพิ่ม ภายใต้แนวคิดว่า วิ่งหาโอกาส เพื่อโอกาสที่ดีกว่า จึงตัดสินใจกับกลุ่มเพื่อน 9 คน ผลิตหนังสั้นส่งเข้าประกวด โดยไม่คาดคิดว่าจะได้รับการคัดเลือกถูกเสนอชื่อให้เข้าชิง ในสาขา Fiction ในเทศกาลหนังสั้นระดับนานาชาติ CCCL Film Festival 2023”
“เราเหมือนโนจุดไฟ พิสูจน์ให้เห็นว่า เราเองก็สามารถไปอยู่ที่ตรงนั้นได้ ที่เดียวกันกับคนเหล่านั้นที่เก่งมาก ๆ แบบไม่คิดไม่ฝันว่าจะได้ยืนคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับเขา มันเป็นประสบการณ์ที่น่าจดจำมาก ๆ ยิ่งพอพี่อิฐ พูดว่าฝากถึงน้องคนรุ่นใหม่ในวงการอุตสาหกรรมหนัง พวกน้องคือพลังในการสร้างสรรค์สื่อ ในรูปแบบใหม่ ๆ เพื่อความก้าวหน้า พัฒนาของวงการหนัง ยิ่งมีกำลังใจเพิ่มมากขึ้น”
สุทธิรัก ยังกล่าวต่ออีกว่า ปัจจุบันค่านิยมของนักศึกษาที่เรียนสาขาด้านภาพยนตร์มักมองถึงเรื่องสุขภาพ สวัสดิการ ค่าตอบแทน การให้เกียรติคนทำสื่อเบื้องหลัง ที่สวนทางกับทักษะมาตรฐานการทำงานในอุตสาหกรรมนี้ ที่ต้องใช้แรงกายอย่างหนัก นอกจากนี้ยังมีข้อจำกัดเรื่องนายทุนกับความสมดุลด้านเนื้อหามักเป็นอุปสรรคในการทำงาน การที่ตนได้มีโอกาสเข้าไปแลกเปลี่ยนความรู้กับผู้คนในงาน พบว่าทุกคนมีแนวร่วมตรงกันคือพยายามอยากขับเคลื่อนปฏิวัติวงการนี้ให้ดียิ่งขึ้น ในอนาคตตนอยากเป็นคนทำภาพยนตร์และเป็นลมใต้ปีกพิสูจน์ให้เห็นว่าการอยู่รอดในวงการ คุ้มค่าไม่แพ้วงการอื่น ๆ
สอดคล้องกับกระแสหนังไทยชื่อดังที่สอดแทรกวัฒนธรรม เรียนรู้ประเพณี ความเชื่อแบบอีสาน ที่ยอมรับว่าการแบกรับความเสี่ยงขาดทุนนั้นเป็นเรื่องที่น่ากังวลในอุตสาหกรรมหนังไทย แต่การยืนหยัดต่อสู้ของกลุ่มเยาวชนไทบ้านเดอะซีรี่ย์ ภาพยนตร์ที่สร้างโดยเยาวชนคนอีสานที่กำลังโกยเม็ดเงินมากกว่า 500 ล้านบาท ซึ่งนับเป็นหนังไทยที่สามารถสร้างเม็ดเงินจำนวนมากที่สุดในรอบ 8 ปี นั่นเป็นที่ยืนยันและพิสูจน์แล้วว่า ภาพยนตร์ไทย จะสามารถเป็น soft power ไทยสู่เวทีโลกได้ไม่ยาก
สถานการณ์ภในปัจจุบันจึงเรียกได้ว่ากลุ่มเยาวชนคนรุ่นใหม่เป็นความหวังของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยคงไม่ผิดเพี้ยนนัก ยิ่งหากทุกภาคส่วนช่วยกัน ทั้งอาศัยเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่มีพลังแห่งการขับเคลื่อนความคิดสร้างสรรค์ รัฐบาลสนับสนุนเรื่องนโยบายการเจรจาการค้าและวางนโยบายโครงสร้างพื้นที่ฐานระบบสวัสดิการให้เอื้อต่ออุตสาหกรรม และเอกชนหนุนช่วยงบประมาณ เชื่อมั่นว่าจะสามารถยกระดับอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยให้เป็นที่รู้จักทัดเทียมนานาชาติได้ในที่สุด
บทความ : จิราพร ประทุมชัย
A short film produced by KKU communications arts students entering the world’s CCCL Film Festival 2023 so, another promotion soft power
ตัวอย่างภาพยนตร์สั้น TOO FAR TOO CLOSE
สมัครชมรม Mix Media https://docs.google.com/forms/d/e/1FAIpQLSepVxZlLKXAeVbcEdX4GB7xhkEPSrAxJ3N5qVGzaw0UgYf5rw/viewform
ช่องทางติดต่อและติดตามผลงาน https://www.instagram.com/mixmedia.club/
ขอขอบคุณข้อมูลจาก https://moneyandbanking.co.th/2023/43286/
*** เทศกาลหนังสั้นโลกป่วย เราต้องเปลี่ยน (CCCL Film Festival) เริ่มก่อตั้งใน พ.ศ. 2562 มีจุดประสงค์เพื่อเป็นพื้นที่สำหรับเยาวชนและบุคคลทั่วไป ได้ร่วมสร้างสรรค์งานศิลปะผ่านสื่อภาพยนตร์สั้นที่บอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับผลกระทบจากวิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อผู้คนและชุมชน และเสนอแนวทางการแก้ไข ปรับตัวและรับมือต่อวิกฤตินี้ ทางเทศกาลฯ จัดกิจกรรมตลอดทั้งปี ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมชิงทุนสนับสนุนผลิตภาพยนตร์สั้น กิจกรรมพัฒนางานศิลปะของยุวทูต CCCL และกิจกรรมเสวนาประเด็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภาพยนตร์ เพื่อมุ่งสร้างความตระหนักรู้และแรงบันดาลใจให้สังคมมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา และการรับมือต่อวิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ