เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2566 ณ บริเวณลานหน้าห้องประชุมสายสุรี จุติกุล คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จัดกิจกรรมนำเสนอผลงานนวัตกรรมทางการศึกษา ซึ่งอยู่ในรายวิชานวัตกรรมและเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อการเรียนรู้ ของนักศึกษาระดับปริญญาชั้นปีที่ 1 จำนวน 11 กลุ่ม โดยมีคณาจารย์ผู้รับผิดชอบรายวิชา คณาจารย์ในคณะฯ และเพื่อนต่างกลุ่มร่วมกันในการประเมินนวัตกรรมสื่อการสอน
ผศ.ดร.ปรมะ แขวงเมือง ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายพัฒนานวัตกรรมและวิสาหกิจ อาจารย์ผู้รับชอบรายวิชา เผยว่า “รายวิชานวัตกรรมและเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อการเรียนรู้ เรามุ่งให้ความรู้และทักษะที่สำคัญเกี่ยวกับนวัตกรรม เทคโนโลยีการศึกษาและการเรียนรู้ นอกจากนี้ยังมุ่งเน้นการพัฒนาทักษะในการวิเคราะห์และแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในการใช้นวัตกรรม ของนักศึกษา รวมทั้งนำเอาเทคโนโลยีทางการศึกษาและเทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อให้ได้สื่อการเรียนการสอนในรูปแบบต่างๆ ที่นำเอาทฤษฎีการเรียนรู้ เช่น ทฤษฎีคอนสตรัคติวิสต์ ที่ส่งเสริมการสร้างความรู้ด้วยตนเอง รวมทั้งการเรียนรู้แบบ Active Learning มาเป็นพื้นฐานในการออกแบบนวัตกรรมการเรียนรู้ ผนวกกับสื่อที่นำมาออกแบบอาทิ Game based, Web based, Board game, Card game, Learning Box set เป็นต้น ซึ่งจะออกมาเป็นนวัตกรรมในด้านการศึกษาที่ส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้ของนักเรียนในบริบทการเรียนรู้ที่หลากหลายและเสริมกระบวนการเรียนรู้อย่างมีประสิทธิภาพให้ผู้เรียน และยังถือเป็นทักษะติดตัวแก่นักศึกษาที่พร้อมจะเป็นครูผู้สอนในอนาคต”
“ห้องเรียนภาษาไทยในศตวรรษที่ 21 ของกลุ่มนักศึกษาสาขาการสอนภาษาไทย เป็นการนำเอาเรื่องของหลักการเรียนรู้ของภาษาไทยในหลายๆ เรื่องมารวมกันพร้อมกับแบบทดสอบ ลงใน Metaverse ซึ่งเป็นการจำลองห้องเรียนโลกเสมือนจริงจะมีทั้งในส่วนของโปสเตอร์และการบรรยายให้ความรู้ในบทเรียนพร้อมมีแบบทดสอบให้คะแนนนักเรียน ซึ่งในปัจจุบันมีความนิยมในการเรียนออนไลน์ ซึ่งหลังจากสถานการณ์โรคระบาดรูปแบบการเรียนออนไลน์ยังคงได้รับความนิยม โดยนวัตกรรมนี้จะช่วยให้ห้องเรียนมีความสมบูรณ์แบบ เกิดประสิทธภาพและประสิทธิผลสูงสุด”
“เดาดูซิ ฉันอยู่ที่ไหน? เป็นเกมการ์ดคำศัพท์ช่วยสอนภาษาจีน ของกลุ่มนักศึกษาสาขาการสอนจีนฯ ประยุกต์จากเกมส์การ์ด Who is it? โดยจะเป็นการเดาสถานที่ของอีกฝ่ายว่าตัวของฝ่ายตรงข้ามอยู่ที่ไหน ด้วยการถามเป็นประโยคภาษาจีน ซึ่งจะช่วยให้ผู้เรียนได้ฝึกในการใช้ภาษาจีนในการสื่อสารและคำศัพท์สถานที่ และยังสามาถดัดแปลงเป็นกลุ่มคำศัพท์อื่นๆ เช่น อวัยวะ สิ่งของ เป็นต้น”
“เกมไขว้คำ อารยธรรมรอบโลก World Civilization ของกลุ่มนักศึกษาสาขาสังคมศึกษา ที่จะช่วยให้เรียนรู้ถึงประวัติศาสตร์และสถานที่ต่างๆ วิธีการเล่นโดยการแบ่งกลุ่มนักเรียน 5-6 คน เพื่อเรียนรู้จากใบงานเพื่อที่จะหาชื่อสถานที่เพื่อจะเติมคำลงในช่องว่างทั้งแนวตั้งและแนวนอน ถือเป็นการนำเอาเกมและการแข่งขันมาเพื่อมาเป็นแรงกระตุ้นความสนใจและสร้างแรงจูงใจให้กับผู้เรียนทำให้มีทักษะในการสืบค้นข้อมูลและทักษะการวิเคราะห์ และเกิดความรู้แก่ผู้เรียน
ตัวอย่าง 3 ผลงานของนักศึกษาในรายวิชานวัตกรรมและเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อการเรียนรู้ เป็นอีกหนึ่งในตัวอย่างของการให้ความสำคัญในการพัฒนานวัตกรรมการเรียนรู้และการสอนของ คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ที่ถือเป็นทักษะที่นักศึกษาวิชาชีพครูพึงมี เพื่อให้พร้อมจะเป็นครูผู้สอนที่มีความรู้และความเชี่ยวชาญในอนาคต