คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จัดเสวนาพิเศษในหัวข้อ ควอนตัมดอท : การค้นพบความมหัศจรรย์และงานวิจัยด้านเซนเซอร์ทางเคมีที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น ณ ห้องประชุมวิทยวิภาส 1 อาคารวิทยวิภาส คณะวิทยาศาสตร์ เมื่อวันที่ 11 ต.ค. 2566 ซึ่งบรรยายโดย ศ. ดร.วิทยา เงินแท้ อาจารย์ประจำสาขาวิชาเคมี และร่วมเสวนาโดย รศ. ดร.ธีระพงษ์ พวงมะลิ อาจารย์ประจำหลักสูตรวัสดุศาสตร์และนาโนเทคโนโลยี สาขาวิชาฟิสิกส์ มีคณาจารย์ นักศึกษา และผู้สนใจทั่วไปร่วมรับฟังการเสวนาพิเศษครั้งนี้ผ่าน 2 ช่องทาง คือ ณ ห้องประชุมวิทยวิภาส 1 จำนวน 170 คน และผ่านช่องทาง Zoom Meeting จำนวน 140 คน
การจัดเสวนาพิเศษครั้งนี้ เป็นการเสวนาเกี่ยวกับ “ควอนตัมดอท” ซึ่งเป็นเป็นวัสดุนาโนที่ขนาดเล็กแต่มีสมบัติที่โดดเด่น และมีการมอบรางวัลโนเบลสาขาเคมี ประจำปี 2023 แด่นักวิทยาศาสตร์ 3 ท่าน ที่ร่วมค้นพบและสังเคราะห์ควอนตัมดอท ได้แก่ Moungi G. Bawendi (Massachusetts Institute of Technology (MIT), USA), Louis E. Brus (Columbia University, USA) และ Alexei I. Ekimov (Nanocrystals Technology Inc., USA)
ทั้งนี้ ผู้เข้าร่วมฟังการเสวนา จะได้รู้จักควอนตัมดอท ซึ่งเป็นวัสดุที่มีขนาดในระดับนาโนเมตร มีสมบัติพิเศษที่สามารถดูดกลืนและเรืองแสงได้แตกต่างกันเมื่อมีขนาดเปลี่ยนไป จากสมบัติที่โดดเด่นนี้ทำให้ปัจจุบันมีการประยุกต์ใช้ควอนตัมดอทอย่างหลากหลาย เช่น จอแสดงภาพทีวีรุ่น QLED (Quantum Dot Light Emitting Diode) เซนเซอร์ทางเคมีสำหรับตรวจวัดสารที่มีปริมาณน้อยมาก ควอนตัมดอทโซลาร์เซลล์ประสิทธิภาพสูง รวมทั้งการประยุกต์ควอนตัมดอทในทางการแพทย์สำหรับการสร้างภาพทางชีววิทยา (Biological immaging)
จากสมบัติที่โดดเด่นและสามารถประยุกต์ใช้ในเทคโนโลยีต่าง ๆ มากมาย “ควอนตัมดอท” จึงเปรียบเสมือนเมล็ดพันธุ์ของนาโนเทคโนโลยี เพื่อเป็นการยกย่องนักวิทยาศาสตร์ที่ค้นพบและสังเคราะห์ควอนตัมดอท จึงได้มีการมอบรางวัลโนเบลสาขาเคมี ประจำปี ค.ศ. 2023 แด่นักวิทยาศาสตร์ทั้ง 3 ท่าน จากการจัดเสวนาครั้งนี้ ได้รับความสนใจจากผู้ฟังเป็นจำนวนมาก และทำให้ผู้ร่วมกิจกรรมได้รู้จักสมบัติและการประยุกต์ใช้ควอนตัมดอทในเทคโนโลยีต่าง ๆ มากยิ่งขึ้น
ข่าว/รศ. ดร.ธีระพงษ์ พวงมะลิ
Faculty of Sciences joins co-organizes a special forum on the discovery and synthesis of “Quantum Dot”, an infinitesimal nanomaterial, awarded the 2023 Nobel Prize in Chemistry