วันที่ 5 ตุลาคม 2566 ศ. ดร.ธิดารัตน์ บุญมาศ รองอธิการบดีฝ่ายนวัตกรรมและวิสาหกิจ มหาวิทยาลัยขอนแก่น พร้อมด้วย รศ. ดร.นงลักษณ์ มีทอง อาจารย์ประจำสาขาวิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ ทีมนักวิจัยจากสาขาวิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เข้ารับมอบรางวัลชนะเลิศ “รางวัลนวัตกรรมแห่งชาติประจำปี 2566” ด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม ประเภทหน่วยงานภาครัฐ พร้อมรับพระบรมรูป “พระบิดาแห่งนวัตกรรมไทย” และโล่เชิดชูเกียรติ เนื่องในวันนวัตกรรมแห่งชาติ จาก รศ. นพ.สรนิต ศิลธรรม ประธานกรรมการนวัตกรรมแห่งชาติ
“รางวัลนวัตกรรมแห่งชาติ” (National Innovation Awards) ถือเป็นรางวัลทรงเกียรติในแวดวงนวัตกรรมของประเทศไทย จัดประกวดโดย สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) นับตั้งแต่ปี 2548 ต่อเนื่องถึงปัจจุบัน โดยจัดขึ้นเพื่อประกาศเกียรติคุณและเชิดชูเกียรติแก่นักวิจัยไทยที่สร้างสรรค์นวัตกรรมที่มีความโดดเด่นและก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศอย่างชัดเจนเพื่อให้เกิดความภาคภูมิใจในศักยภาพของคนไทยและเผยแพร่ต้นแบบการพัฒนานวัตกรรมด้านต่าง ๆ สู่สาธารณะชนในวงกว้าง รวมถึงกระตุ้นให้เกิดความตื่นตัวด้านนวัตกรรมในทุกภาคส่วนของสังคม เพื่อผลักดันประเทศไทยสู่การเป็นชาติแห่งนวัตกรรม
การจัดประกวดรางวัลนวัตกรรมแห่งชาติ แบ่งเป็น 5 ด้าน ได้แก่ 1. ด้านเศรษฐกิจ 2. ด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม 3. ด้านการออกแบบผลิตภัณฑ์และบริการ 4. ด้านสื่อและการสื่อสาร 5. ด้านองค์กรนวัตกรรมดีเด่น ซึ่งมีการกำหนดจัดพิธีมอบรางวัลทรงเกียรตินี้ขึ้นในวันนวัตกรรมแห่งชาติ (5 ตุลาคม) ของทุกปี โดย รศ. ดร.นงลักษณ์ มีทอง และคณะ โรงงานแบตเตอรี่และพลังงานยุคใหม่ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้นำผลงาน “แบตเตอรี่ชนิดลิเทียมไอออนจากแกลบและขยะโซล่าร์เซลล์” เข้าร่วมประกวด ผ่านรอบคัดเลือก นำเสนอผลงานครั้งที่ 1 และนำเสนอผลงานรอบตัดสินจากคณะอนุกรรมการตัดสินรางวัลนวัตกรรมแห่งชาติประจำปี 2566 ในวันที่ 30 สิงหาคม 2566 ที่ผ่านมา และคว้ารางวัลชนะเลิศ “รางวัลนวัตกรรมแห่งชาติ” ประจำปี 2566 มาได้ ประกอบด้วย (1) พระบรมรูป “พระบิดาแห่งนวัตกรรมไทย” พร้อมจารึกชื่อผลงานและเจ้าของผลงาน (2) ประกาศนียบัตรเชิดชูเกียรติ (3) ได้รับสิทธิในการพัฒนาศักยภาพทางนวัตกรรมจากการเข้ารับการอบรมและศึกษาดูงานนวัตกรรมองค์กรชั้นนำด้านนวัตกรรมในต่างประเทศ (4) ได้รับโอกาสในการพัฒนาต่อยอดผลงานนวัตกรรมโดยการสนับสนุนด้านเงินทุนจากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) (5) ได้รับการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์เชิดชูเกียรติผ่านสื่อมวลชน (6) ได้รับสิทธิให้ใช้ตราสัญลักษณ์สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ ควบคู่กับผลงานที่ได้รับรางวัล เพื่อประชาสัมพันธ์หน่วยงานเป็นระยะเวลา 3 ปี นับจากวันที่ได้รางวัล
ผลงาน “แบตเตอรี่ชนิดลิเทียมไอออนจากแกลบและขยะโซล่าร์เซลล์” เป็นการนำแกลบและขยะโซล่าร์เซลล์มาผลิตเป็นวัสดุที่ชื่อว่า วัสดุนาโนซิลิกอน ซึ่งวัสดุนาโนซิลิกอนดังกล่าวนี้ สามารถใช้เป็นขั้วไฟฟ้าในแบตเตอรี่ชนิดลิเทียมไอออนได้ รวมถึงแบตเตอรี่ชนิดอื่น ๆ ที่กำลังเกิดขึ้นในประเทศ โดยเซลล์แบตเตอรี่ชนิดลิเทียมไอออนที่ผลิตได้มีความจุไฟฟ้าเพิ่มขึ้น 15% ทำให้ยานยนต์ไฟฟ้าที่ใช้แบตเตอรี่ชนิดนี้มีระยะการขับเคลื่อนได้ไกลขึ้น มีความปลอดภัยสูงขึ้น และรองรับการชาร์จเร็วกว่าเดิม 4 เท่า ส่งผลให้เกิดการนำเอาสิ่งของที่มีอยู่ภายในประเทศมาใช้ในการผลิตแบตเตอรี่เพื่อยานยนต์ไฟฟ้าและระบบกักเก็บพลังงาน ช่วยลดการนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศ ซึ่งจะเป็นการผลักดันให้เกิดห่วงโซ่คุณค่าของอุตสาหกรรมแบตเตอรี่สมัยใหม่ได้อย่างครบวงจร ส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียนเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับแกลบและขยะโซล่าร์เซลล์ ซึ่งเป็นของที่มีมูลค่าต่ำให้มีมูลค่าสูงขึ้น โดยที่มูลค่าเหล่านั้นจะต้องสามารถสร้างประโยชน์และสร้างรายได้เพิ่มให้กับชาวนา จากการเป็นผู้ผลิตวัตถุดิบให้กับอุตสาหกรรมแบตเตอรี่ รวมถึงสามารถลดการทำเหมืองในรูปแบบเดิม ลดผลกระทบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม และหยุดการฝังกลบแผงโซล่าร์เซลล์ ซึ่งจะนำไปสู่การรีไซเคิลขยะโซล่าร์เซลล์ที่เหมาะสม และสามารถใช้พลังงานสะอาดได้อย่างยั่งยืน
ขอขอบคุณข้อมูลจาก Department of Physics, KKU