สุดปัง! วิจัย มข.”แบตเตอรี่ลิเทียมไอออนจากแกลบ-ขยะโซลาร์เซลล์” คว้ารางวัลนวัตกรรมแห่งชาติ ประจำปี 2566 

วันที่ 5 ตุลาคม 2566 มหาวิทยาลัยขอนแก่น นำโดย ศ.ดร.ธิดารัตน์ บุญมาศ รองอธิการบดีฝ่ายนวัตกรรม และวิสาหกิจ พร้อมด้วย รศ.ดร.นงลักษณ์ มีทอง ประธานหลักสูตรวิทยาศาสตร์แบตเตอรี่และพลังงานใหม่เข้ารับรางวัลนวัตกรรมแห่งชาติ ประจำปี 2566 รางวัลชนะเลิศ ด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม ประเภทหน่วยงานภาครัฐจากผลงงานแบตเตอรี่ชนิดลิเทียมไอออนจากแกลบและขยะโซลาร์เซลล์ โดยมี รศ.นพ.สรนิต ศิลธรรม เป็นประธานในพิธีมอบรางวัล ในงาน “วันนวัตกรรมแห่งชาติ ประจำปี 2566” จัดโดยสำนักงานนวัตกรรม
แห่งชาติ(องค์การมหาชน) ณ รอยัลพารากอน ฮอลล์ ชั้น 5 สยามพารากอน กรุงเทพฯ

ผลงาน “แบตเตอรี่ชนิดลิเทียมไอออนจากแกลบและขยะโซลาร์เซลล์” เป็นการนำแกลบและขยะโซลาร์เซลล์มาผลิตเป็นวัสดุที่ชื่อว่า วัสดุนาโนซิลิกอน ซึ่งวัสดุนาโนซิลิกอนดังกล่าวนี้ สามารถใช้เป็นขั้วไฟฟ้าในแบตเตอรี่ชนิดลิเทียมไอออนได้ รวมถึงแบตเตอรี่ชนิดอื่น ๆ ที่กำลังเกิดขึ้นในประเทศ โดยเซลล์แบตเตอรี่ชนิดลิเทียมไอออนที่ผลิตได้มีความจุไฟฟ้าเพิ่มขึ้น 15% ทำให้ยานยนต์ไฟฟ้าที่ใช้แบตเตอรี่ชนิดนี้มีระยะการขับเคลื่อนได้ไกลขึ้น มีความปลอดภัยสูงขึ้น และรองรับการชาร์จเร็วกว่าเดิม 4 เท่า ส่งผลให้เกิดการนำเอาสิ่งของที่มีอยู่ภายในประเทศมาใช้ในการผลิตแบตเตอรี่เพื่อยานยนต์ไฟฟ้าและระบบกักเก็บพลังงาน

นอกจากนี้ ยังช่วยลดการนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศ ซึ่งจะเป็นการผลักดันให้เกิดห่วงโซ่คุณค่าของอุตสาหกรรมแบตเตอรี่สมัยใหม่ได้อย่างครบวงจร ส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียนเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับแกลบและขยะโซลาร์เซลล์ ซึ่งเป็นของที่มีมูลค่าต่ำให้มีมูลค่าสูงขึ้น โดยที่มูลค่าเหล่านั้นจะต้องสามารถสร้างประโยชน์และสร้างรายได้เพิ่มให้กับชาวนา จากการเป็นผู้ผลิตวัตถุดิบให้กับอุตสาหกรรมแบตเตอรี่ รวมถึงสามารถลดการทำเหมืองในรูปแบบเดิม ลดผลกระทบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม และหยุดการฝังกลบแผงโซลาร์เซลล์ ซึ่งจะนำไปสู่การรีไซเคิลขยะโซลาร์เซลล์ที่เหมาะสม และสามารถใช้พลังงานสะอาดได้อย่างยั่งยืนรางวัลนวัตกรรมแห่งชาติ

 

สำหรับพิธีมอบรางวัล ในงาน “วันนวัตกรรมแห่งชาติ ประจำปี 2566” จัดขึ้นเพื่อเป็นการประกาศเกียรติคุณและเชิดชูเกียรติแก่คนไทยที่ริเริ่มสร้างสรรค์ผลงานอันเป็นนวัตกรรมที่โดดเด่น และเกิดคุณค่าที่ชัดเจนต่อประเทศชาติในหลากหลายด้าน หรือหน่วยงานองค์กรที่มีการบริหารจัดการโดยใช้ความรู้ เทคโนโลยี และความคิดสร้างสรรค์มาประยุกต์ใช้เพื่อให้เกิดการสร้างคุณค่าทั้งในเชิงพาณิชย์และเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืนขององค์กรตั้งแต่ระดับยุทธศาสตร์ หรือกระบวนการ ไปจนถึงระดับโครงสร้าง ส่งเสริมให้เกิดการตื่นตัวด้านนวัตกรรมขึ้นในทุกภาคส่วนของสังคมไทย สร้างให้เกิดความภาคภูมิใจในศักยภาพนวัตกรรมจากฝีมือคนไทย และสร้างให้เกิดภาพลักษณ์สู่การเป็นประเทศแห่งนวัตกรรม

 

 

Scroll to Top