เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2566 คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จัดโครงการ “รู้จักโรคพืชและการใช้ชีวภัณฑ์ควบคุมโรคพืชอย่างถูกต้องและปลอดภัย” โดยมี รศ.ดร.ดรุณี โชติฐยางกูร คณบดี คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวเปิดงาน ผศ.ดร.อนันต์ วงเจริญ รศ.เพชรรัตน์ ธรรมเบญจพล ร่วมบรรยายให้ความรู้ ในการนี้มี เกษตรกร เจ้าหน้าที่ภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องกับการผลิตพืชและเมล็ดพันธุ์พืชทั้งในรูปแบบการผลิตพืชแบบปลอดภัย และเกษตรอินทรีย์ ผู้ที่สนใจภายนอกทั่วไป เข้าร่วมโครงการกว่า 60 คน ณ ห้องแตงกวา อาคารเรียนพืชสวน 2 คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
โครงการ “รู้จักโรคพืชและการใช้ชีวภัณฑ์ควบคุมโรคพืชอย่างถูกต้องและปลอดภัย” มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้เข้ารับการฝึกอบรมได้รู้จักโรคพืช สาเหตุของโรคเมล็ดพันธุ์ ฝึกปฏิบัติการตรวจโรคพืช และ การวินิจฉัยด้วยตนเอง มีความเข้าใจหลักการจัดการโรคที่ถูกวิธี ได้เรียนรู้นวัตกรรม และ เทคโนโลยีชีวภัณฑ์ควบคุมโรคพืช และ แมลงศัตรูพืช เรียนรู้การใช้สารเคมีชีวภัณฑ์ เชื้อจุลินทรีย์ที่ดีอย่างถูกต้อง และเต็มประสิทธิภาพ ปลอดภัยต่อผู้ใช้ และ ฝึกปฏิบัติการขยายเชื้อจุลินทรีย์จากชีวภัณฑ์ที่ถูกต้องเพื่อที่จะนำไปสู่การเกษตรแบบยั่งยืน
รองศาสตราจารย์ ดร.ดรุณี โชติฐยางกูร คณบดี คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า โครงการนี้เป็นกิจกรรมหนึ่งในการร่วมเฉลิมฉลองการก่อตั้งมหาวิทยาลัยขอนแก่น และ คณะเกษตรศาสตร์ ในวาระครบ 60 ปี
“ทราบกันดีว่าภาคอีสานเป็นแหล่งผลิตเมล็ดพันธุ์เพื่อการส่งออก ซึ่งการไม่มีโรคพืชติดไปกับเมล็ดพันธุ์เป็นสิ่งที่สำคัญมาก ฉะนั้นการรู้จักโรคพืชและการใช้ชีวภัณฑ์ควบคุมโรคพืชอย่างถูกต้องและปลอดภัยจึงมีส่วนสำคัญมากับอุตสาหกรรมของประเทศ แต่ขณะเดียวกันจะเห็นได้ว่าหลายปีที่ผ่านมาเกษตรกร หรือ ผู้ผลิตทางการเกษตรมีการใช้สารเคมีในการควบคุมโรค ก่อให้เกิดความเสื่อมโทรมของสภาพธรรมชาติ ฉะนั้นความรู้เรื่องชีวภัณฑ์ จึงเป็นเรื่องที่สำคัญเพราะปลอดภัยกับผู้ใช้งาน ผู้บริโภค และ เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม”
“ก่อนจะใช้ชีวภัณฑ์มาควบคุมเราจะต้องรู้ก่อนว่าพืชเป็นโรคอะไร เพราะฉะนั้นการเรียนรู้ในวันนี้ จะได้เรียนรู้ว่าอะไรคือสาเหตุของการก่อให้เกิดโรคในพืช การเป็นโรคลักษณะนี้เราจะมีวิธีการวินิจฉัยอย่างไร ปลายทางเราหวังว่าผู้เข้าร่วมโครงการจะสามารถใช้ชีวภัณฑ์ในการควบคุมปัญหาดังกล่าว นอกจากนี้ การผลิตสินค้าเกษตรมูลค่าสูงยังเป็นยุทธศาสตร์ใหญ่อีกประเด็นหนึ่งของจังหวัดขอนแก่น ฉะนั้นการเรียนรู้ในประเด็นนี้จึงเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้พวกเราได้ช่วยกันส่งเสริมยุทธศาสตร์ของจังหวัดอีกด้วย”
รองศาสตราจารย์เพชรรัตน์ ธรรมเบญจพล กล่าวว่า การมาอบรมครั้งนี้มุ่งหวังให้ผู้เข้าอบรมสามารถเป็นหมอพืชชาวบ้านได้ มีความรู้เกี่ยวกับศัตรูพืชต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น โรคพืช แมลงศัตรูพืช หรือวัชพืช นอกจากนี้ยังสามารถสังเกต แยกพืชปกติ หรือ พืชป่วยจากสาเหตุใหญ่ๆได้อย่างถูกต้อง และรู้แนวทางการป้องกัน กำจัด รักษาพืชที่ป่วยได้ถูกต้องตามหลักวิชาการ
“กิจกรรมในวันนี้จะมีการบรรยายในหลักวิชาการที่สำคัญ และ มีการปฏิบัติเพื่อให้ผู้เข้าร่วมอบรมได้เห็น รู้จัก จำไปใช้ได้ มีนิทรรศการวิชาการ และ การแลกเปลี่ยนเรียนรู้โรคพืช โรคเมล็ดพันธุ์ การควบคุมโรคพืช การใช้สารเคมีที่ถูกต้องและปลอดภัย การควบคุมโรคพืชด้วยชีววิธีและชีวภัณฑ์ควบคุมโรคแมลงศัตรูพืช เราหวังว่าความรู้จากโครงการจะทำให้เกษตรกรสามารถพึ่งตัวเองได้ในเรื่องการจัดการศัตรูพืช และ ช่วยเหลือเพื่อนเกษตรกรที่อยู่ใกล้เคียงกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะทำให้ทุกคนมีกำไรมากขึ้น และสภาพแวดล้อมของผืนดินดีมากขึ้นด้วย”
สำหรับสารชีวภัณฑ์เป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในการป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่ผลิต หรือ พัฒนามาจากสิ่งมีชีวิต ไม่ว่าจะเป็นพืช สัตว์ หรือจุลินทรีย์ แต่ไม่รวมสารที่สกัดหรือแยกได้จากสิ่งมีชีวิตที่เป็นสารเคมีเชิงเดี่ยว เช่น ไพรีทรอยด์ นิโคติน อะบาเม็กติน ซึ่งประโยชน์ของสารชีวภัณฑ์ อาทิ มีความปลอดภัยสูงต่อคน สัตว์ และสิ่งแวดล้อม ไม่มีสารพิษตกค้าง มีความเฉพาะเจาะจงต่อศัตรูพืช บางชนิดอยู่ได้คงทนในสภาพแวดล้อม และสามารถใช้กับไร่นาด้วยวิธีการเดียวกันกับสารเคมี แต่ไม่สามารถป้องกันกำจัดโรค และแมลงศัตรูพืชได้อย่างกว้างขวางเท่าสารเคมี เนื่องจากเชื้อจุลินทรีย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่มีความจำเพาะต่อชนิดของโรคและแมลง จึงสามารถกำจัดโรคและแมลงศัตรูพืชบางชนิดเท่านั้น และมีปัจจัยด้านอื่นๆ อีกมากที่มีผลต่อการใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น เทคนิคในการใช้ ระยะเวลาที่ใช้ อากาศ อุณหภูมิ ความชื้น แสงแดด และการเก็บรักษาเชื้อจุลินทรีย์หรือสารชีวภัณฑ์แต่ละชนิด
ทั้งนี้โครงการ “รู้จักโรคพืชและการใช้ชีวภัณฑ์ควบคุมโรคพืชอย่างถูกต้องและปลอดภัย”เป็นความร่วมมือระหว่าง โครงงานการตรวจแปลงผลิตเมล็ดพันธุ์ สาขาโรคพืชวิทยา คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น หน่วยนวัตกรรมชีวภัณฑ์ คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) มีกำหนดจัดขึ้น ระหว่างวันที่ 26 – 27 สิงหาคม 2566 มีผู้เข้าร่วมโครงการกว่า 120 คน