สถาปัตย์ มข.มอบ “รางวัลวิโรฒ ศรีสุโร” เชิดชูเกียรติ 2 ศิลปินอีสาน

เมื่อวันเสาร์ ที่ 22 กรกฎาคม 2566 คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จัดพิธีมอบรางวัล “วิโรฒ ศรีสุโร” ประจำปี 2566 โดยมี รศ.คร. ชูพงษ์ ทองคำสมุทร คณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น พร้อมด้วย รศ.ดร.ธิติ เฮงรัศมี ประธานกรรมการตัดสินรางวัลฯ คุณ คุณเปรมจิต ศรีสุโร ภรรยา อาจารย์วิโรฒ ศรีสุโร และ คุณแสน ศรีสุโร คณะกรรมการผู้ตัดสินรางวัล คุณชนะ สัมพลัง นายกสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ คุณธนพงศ์ วิชคำหาญ นายกสมาคมศิษย์เก่า คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น อาจารย์มีชัย แต้สุจริยา ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (ทอผ้า) ผู้อำนวยการ CEA สร้างสรรค์งานออกแบบ ผู้บริหารคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ร่วมพิธี ณ อาคารอเนกประสงค์ (สิม) คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

สำหรับรางวัล “วิโรฒ ศรีสุโร” ประจำปี 2566  นี้ได้จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 2 มีวัตถุประสงค์เพื่อยกย่อง ให้กำลังใจผู้ที่มีบทบาท และ มีผลงานด้านการอนุรักษ์สร้างสรรค์ศิลปะ สถาปัตยกรรม โดยเฉพาะพื้นที่ในภาคอีสาน อีกทั้งยังเป็นการเชิดชูเกียรติและระลึกถึง รองศาสตราจารย์ ดร.วิโรฒ ศรีสุโร ซึ่งท่านเป็นผู้ร่วมก่อตั้งคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ยังเป็นสถาปนิกและนักออกแบบอุตสาหกรรมผู้บุกเบิกวงการวิชาการและการอนุรักษ์สถาปัตยกรรมพื้นถิ่นของภาคอีสาน

คุณธนพงศ์ วิชคำหาญ นายกสมาคมศิษย์เก่า คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า  รองศาสตราจารย์ ดร.วิโรฒ ศรีสุโร เป็นผู้มีคุณูปการแก่คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ท่านเป็นสถาปนิกและนักออกแบบอุตสาหกรรม “รางวัลนี้เป็นรางวัลที่ยิ่งใหญ่ ที่เชิดชูเกียรติ พร้อมทั้งเป็นการระลึกถึงท่าน และ ยังเป็นการยกย่องผู้ที่ได้สร้างสรรค์และอนุรักษ์ศิลปะและสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นในภาคอีสานจนเป็นที่ยอมรับ”

รศ.คร. ชูพงษ์ ทองคำสมุทร คณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า สำหรับการจัดงานครั้งนี้ทำให้ตนเองนึกถึงคำพูดในภาพยนตร์การ์ตูนเรื่องหนึ่ง ที่ว่าคนผู้นั้นจะเป็นอมตะ และจะยังมีชีวิตอยู่ตราบชั่วนิรันดร์ ตราบใดที่เรายังไม่ลืมท่าน เนื่องจากการจัดพิธีมอบรางวัล “วิโรฒ ศรีสุโร” อันทรงเกียรติครั้งนี้ ที่ทำให้พวกเรายังรำลึกถึงท่านเสมอ ในฐานะครูผู้มีคุณูปการต่อคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์มหาวิทยาลัยขอนแก่น นอกจากนี้ยังมีคุณูปการต่อภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่ทำให้พื้นที่แห่งนี้มีความเจริญก้าวหน้า พร้อมๆกับการปลูกฝังให้นักออกแบบรุ่นแล้วรุ่นเล่ามีความภาคภูมิใจในวัฒนธรรมรากเหง้าของตนเอง และ ยังได้กล่าวถึงความทรงจำ คำสอนของ รองศาสตราจารย์ ดร.วิโรฒ ที่ท่านได้นำมาเป็นหลักในการดำเนินชีวิต

“คำสอนที่ผมจำได้เสมอ คือ คนเราเปลี่ยนไปทุกวัน เมื่อเรามองสิ่งหนึ่งที่คงที่ และ ลองมองด้วยมุมที่ต่างไป หรือ ในมุมที่พัฒนาขึ้นได้ แสดงว่าตัวเราเป็นคนที่พัฒนามากขึ้น เหนือสิ่งอื่นใดสิ่งที่ดีที่สุด คือทัศนคติ และ mindsetที่ดี ในช่วงเวลานั้นผมอยู่ประมาณปี 2 ปี 3 ยอมรับว่าไม่เข้าใจ แต่เมื่อเวลาผ่านไปพบว่า คำสอนนั้นน่าจดจำและใช้เป็นหลักในการดำรงชีวิตได้เป็นอย่างดี อีกประการหนึ่ง คือ การใช้เฉพาะความสามารถในการทำสิ่งใดๆ หรือ ตัดสินใจใดๆ นั้นไม่เพียงพอ แต่ต้องมี สติ การระลึกอยู่เสมอว่าตนเองกำลังทำอะไร มีทัศนคติต่อชีวิตอย่างไร ควบคู่ในการลงมือทำด้วย แม้ว่าเวลาจะล่วงเลยไปหลายปี แต่คำสอนเหล่านี้ของท่านยังเป็นสิ่งที่ผมนำมาเป็นหลักในการดำเนินชีวิตตลอดมา”คณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวปิดท้าย

สำหรับ รางวัล “วิโรฒ ศรีสุโร” ประจำปี 2566 ประเภท เชิดชู ผู้ได้รับรางวัล ได้แก่ นาย นิยม ทองลาด  อายุ 70 ปี ภูมิลำเนา อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี ศิลปินพื้นบ้านอีสาน มีผลงานศิลปะลวดลาย ประเภทพุทธศิลป์ และ แกะสลักเทียนพรรษา ซึ่งได้สร้างสรรค์ผลงานต่อเนื่องมากกว่า 30 ปี มีผลงานสร้างชื่อเสียงในระดับชุมชนและระดับประเทศ มีผลงานสร้างชื่อต่อสาธารณชน อาทิ

1.บ้านโนนจิก ต.คูเมือง อ.วารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี พ.ศ.๒๕๒๒

2.วัดประชาพิทักษ์ บ.กุดเป่ง อ.วารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี พ.ศ.๒๕๒๙ – ๒๕๓๐

3.วัดถ้ำพรหมสวัสดิ์ อ.พัฒนานิคม จังหวัดลพบุรี พ.ศ.๒๕๓๕ – ๒๕๓๖

4.วัดศรีสูง อ.ทรายมูล จังหวัดยโสธร พ.ศ.๒๕๓๗ – ๒๕๓๘

5.วัดคู่สนาม อ.วาปีปทุม จังหวัดมหาสารคาม พ.ศ.๒๕๔๐

โดยนายนิยม ทองลาด เปิดเผยว่าตนเองมีความผูกพันกับงานพุทธศิลป์ เนื่องจากอุปสมบทเป็นพระภิกษุ ตั้งแต่วัยหนุ่ม เมื่อลาสิกขาบท มีโอกาสแสวงหาความรู้ในงานศิลปะที่ตนเองถนัดอย่างเต็มที่

สำหรับ รางวัล “วิโรฒ ศรีสุโร” ประจำปี 2566 ประเภท ส่งเสริม ผู้ได้รับรางวัล ได้แก่  นาย สันธาน เวียงสิมา อายุ 54 ปี ภูมิลำเนา จังหวัดอุดรธานี  ปัจจุบันเป็น หัวหน้าศูนย์วิจัยออกแบบงานไม้สถาปัตยกรรม และ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี มีผลงานคว่ำหวอดอยู่ในวงการไม้มากว่า 20 ปี  เป็นที่ปรึกษาทางเทคนิค การออกแบบรายละเอียดและวิธีการก่อสร้าง ไม้สถาปัตยกรรมในสถานะ ‘คนกลาง’ ระหว่างสถาปนิกและช่างไม้ มีผลงานสร้างชื่อต่อสาธารณชน อาทิ

  • ผู้แต่งหนังสือ งานไม้ไร้จารีต ช่างไม้ไร้จริต เล่มที่ 1 -2
  • ผู้สำรวจและเขียนหนังสือชุดแนวทางการอนุรักษ์งานไม้สถาปัตยกรรม เล่มที่ 2-3 โดยUNESCO
  • รางวัลราชมงคลสรรเสริญกิตติมศักดิ์ ด้านศิลปะ สาขาสถาปัตยกรรม พุทธศักราช 2564
  • งานสถาปัตยกรรมไม้เฮือนกว่าง จังหวัดเชียงราย ที่โครงสร้างหลังคาทำจากไม้ไผ่พื้นถิ่น ออกแบบโดย Geodesic , สันธาน เวียงสิมา x UG
  • โครงการดาดฟ้า Façade ออกแบบโดยบริษัท M Space ซึ่งคุณสันธานได้มีส่วนช่วยทำ R&D งานผนัง คอนกรีต และต้นแบบอิฐบล็อกช่องลม Cr: ดาดฟ้า Dadfa

นาย สันธาน เวียงสิมา อายุ 54 ปี ผู้ได้รับรางวัล “วิโรฒ ศรีสุโร” ประจำปี 2566 ประเภท ส่งเสริม ผู้ได้รับรางวัล เปิดเผยว่า รางวัลอันทรงเกียรติที่ได้มอบให้ผมในวันนี้ เป็นสัญลักษณ์ที่ยิ่งใหญ่ มีเกียรติ มีคุณูปการต่อวิชาการ และ วิชาชีพสถาปัตยกรรมท้องถิ่นอีสาน

“สำหรับผมรางวัลนี้เป็นสัญลักษณ์ของความเพียร และ ความตั้งใจอย่างสูงที่ผมได้เรียนรู้ ผลงานและ การสอนลูกศิษย์ของอาจารย์วิโรฒ ขณะเดียวกันยังเป็นการสะท้อนเชิดชูความเพียรของท่าน ที่มุ่งอนุรักษ์วัฒนธรรมเอกลักษณ์ท้องถิ่นจนเป็นที่ประจักษ์อีกด้วย

ข่าว / ภาพ : รวิพร สายแสนทอง

Scroll to Top