เรียนฟรี !non degree คณะเกษตรฯ มข. 4 หลักสูตร ภายใต้โครงการผลิตบัณฑิตพันธุ์ใหม่ฯ

คณะเกษตรฯ มข. ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ KKU Lifelong Education ตอบสนองความต้องการของสังคม ดันหลักสูตรต้นแบบ 4 หลักสูตร ภายใต้โครงการผลิตบัณฑิตพันธุ์ใหม่ฯ สอดคล้องกับทิศทางในการขับเคลื่อน Education Transformation ในประเด็นที่ 2 การศึกษาตลอดชีวิตประเภท non degree เรียนฟรี ! มีผู้สนใจสมัครเรียนเกินเป้าหมาย

หลักสูตรการจัดการธุรกิจเกษตรในยุคดิจิทัล (Agricultural Business for Digital Society)
หลักสูตรการจัดการธุรกิจเกษตรในยุคดิจิทัล (Agricultural Business for Digital Society)

     จากการที่สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สป.อว) โดยคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจเพื่อบริหารโครงการผลิตบัณฑิตพันธุ์ใหม่เพื่อสร้างกำลังคนที่มีสมรรถนะสูง สำหรับอุตสาหกรรม New Growth Engine ตามนโยบาย Thailand 4.0 และการปฏิรูปอุดมศึกษาไทย ในการประชุมครั้งที่ 3/2565 ได้มีมติเห็นชอบหลักสูตรภายใต้โครงการผลิตบัณฑิตพันธุ์ใหม่ฯ จำนวน 20 หลักสูตร เพื่อจัดทำเป็นหลักสูตรต้นแบบ ของโครงการพัฒนาทักษะกำลังคนของประเทศ (Re-Skill/Up-Skill/New-Skill) โดยมหาวิทยาลัยขอนแก่น มีหลักสูตรที่ได้รับการคัดเลือกเป็นหลักสูตรต้นแบบดังกล่าว จำนวน 4 หลักสูตรคือ
     1. หลักสูตรการเกษตรแม่นยำ (Precision Agriculture)
     2. หลักสูตรเทคโนโลยีชีวภาพทางการเกษตร (Agriculture Biotechnology)
     3. หลักสูตรการจัดการเกษตรปลอดภัยและการเกษตรอินทรีย์
     4. หลักสูตรการจัดการธุรกิจเกษตรในยุคดิจิทัล (Agricultural Business for Digital Society)

     ทุกหลักสูตรเรียนฟรี โดยหลักสูตรแรกที่เริ่มจัดการเรียนการสอนคือ หลักสูตรการจัดการธุรกิจเกษตรในยุคดิจิทัล (Agricultural Business for Digital Society) มีผู้สนใจจากกลุ่มเป้าหมายจาก เกษตรกรพันธุ์ใหม่ (Smart Farmer) และกลุ่ม Young Smart Farmer ผู้เริ่มประกอบการธุรกิจเกษตร ผู้ประกอบการธุรกิจเกษตร ได้แก่ ผู้ผลิต ผู้แปรรูป ผู้ค้าและผู้ส่งออก กลุ่มวิสาหกิจชุมชน และผู้สนใจประกอบธุรกิจเกษตรสมัครเข้าร่วมโครงการร่วม 200 คน ผ่านการคัดเลือกเข้าเรียนจำนวน 58 คน มีระยะเวลาการเรียนหลักสูตร 2 เดือน นับตั้งแต่วันที่ 15 กรกฎาคม – 21 กันยายน 2566 หลักสูตรแบ่งเป็น 5 Module ดังนี้ การพัฒนาแนวคิดผู้ประกอบการธุรกิจเกษตร  การออกแบบโมเดลธุรกิจเกษตรและการจัดการธุกิจเกษตรสมัยใหม่ การใช้แนวคิดเชิงออกแบบเพื่อการตลาดและการตลาดดิจิทัล การเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรและการสร้างแบรนด์ และ การตลาดบริการทางธุรกิจเกษตรด้วยจิตวิญญาณ เรียนทั้งแบบ Onsite และ Online โดยการเรียนภาคปฏิบัติจะได้ศึกษา ดูงานในสถานประกอบการ เมื่อเรียนจบหลักสูตรผู้เรียนจะได้รับประกาศนียบัตรรับรองการผ่านหลักสูตรและสามารถเก็บหน่วยกิตตลอดหลักสูตรจำนวน 9 หน่วยกิต (จากการเรียน 3 Module) เพื่อนำไปใช้เรียนต่อในระดับที่สูงขึ้นในอนาคต

รศ.ดร.ดรุณี โชติษฐยางกูร คณบดีคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
รศ.ดร.ดรุณี โชติษฐยางกูร คณบดีคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

     รศ.ดร.ดรุณี โชติษฐยางกูร คณบดีคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวถึงจัดทำหลักสูตรต้นแบบ non degree 4 หลักสูตรต้นแบบของ มข. ภายใต้โครงการผลิตบัณฑิตพันธุ์ใหม่ฯ ว่า ในวันที่การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ สังคม ตลอดจนเทคโนโลยี มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และมีกระทบอย่างมากต่อบทบาทของมหาวิทยาลัยในแทบทุกพันธกิจ โดยด้านการศึกษา เราจะเห็นว่า ในปัจจุบันมหาวิทยาลัยจะไม่ใช่พื้นที่สำหรับคนศึกษาตามระบบเท่านั้น ซึ่งนับวันจะน้อยลงเพราะเราก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ แต่มหาวิทยาลัยจะเป็นพื้นที่การเรียนรู้สำหรับคนทุกกลุ่ม ทุกช่วงวัย ในการที่จะเข้ามาเรียน โดยเฉพาะ การ reskill /upskill

     KKU lifelong learning ก็เกิดขึ้นภายใต้นโยบาย Education Transformation ของท่านอธิการบดี รศ.นพ. ชาญชัย พานทองวิริยะกุล ดังนั้นจะเห็นว่ามีหลักสูตรใหม่ๆ เกิดขึ้น รวมทั้งหลักสูตรประเภท non degree  เพื่อตอบโจทย์การเปลี่ยนแปลงนี้ และเป็นที่แน่นอนว่า ภาคการเกษตรฯ มีบทบาทที่สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ การพัฒนากำลังคนด้านนี้ในภาคส่วนต่างๆ จึงมีความสำคัญ การจัดหลักสูตร non degree ต้นแบบ 4 หลักสูตร ที่กระทรวง อว. เลือกให้ มข. ทำ ก็เป็นความร่วมมือของคณะ/ส่วนงาน เกือบ 10 ส่วนงาน ร่วมกันพัฒนาหลักสูตร และจัดการเรียนการสอน ร่วมกับสถานประกอบการต่างๆ ซึ่งก็เป็นการตอบสนองนโยบายด้าน spiritual ด้วยเช่นกัน

นางนันนภัส ภีระพฤฒิพงศ์ อายุ 62 ปี ข้าราชการบำนาญ ผู้สมัครเข้าศึกษาในหลักสูตรการจัดการธุรกิจเกษตรในยุคดิจิทัล
นางนันนภัส ภีระพฤฒิพงศ์ อายุ 62 ปี ข้าราชการบำนาญ ผู้สมัครเข้าศึกษาในหลักสูตรการจัดการธุรกิจเกษตรในยุคดิจิทัล

     ทางด้านนางนันนภัส ภีระพฤฒิพงศ์ อายุ 62 ปี ข้าราชการบำนาญ ผู้สมัครเข้าศึกษาในหลักสูตรการจัดการธุรกิจเกษตรในยุคดิจิทัล (Agricultural Business for Digital Society) กล่าวว่า เดิมตนมีอาชีพเป็นพยาบาลที่จังหวัดปทุมธานี ปัจจุบันหลังจากเกษียณอายุราชการ ตนกับสามีจึงกลับมาใช้ชีวิตเป็นเกษตรกรที่จังหวัดขอนแก่น และทำโคกหนองนาด้วย สาเหตุที่มาเรียนหลักสูตรนี้เพราะตอบโจทย์กับวิถีการใช้ชีวิต โดยเราสามารถทำงานไปด้วยเรียนไปด้วยซึ่งมีทั้งเรียนแบบออนไซต์ แบบออนไลน์ ได้เรียนรู้จริงจากอาจารย์ผู้มากประสบการณ์ให้คำปรึกษาตรงจุด ได้เรียนกับผู้คนหลากหลายวัยและอาชีพ มีการแลกเปลี่ยนประสบกาณ์และมุมมองการแก้ไขปัญหา ที่สำคัญหลักสูตรนี้เปิดโอกาสให้เกษตรกรที่ขาดโอกาสการเข้าถึงแหล่งข้อมูลความรู้ได้เข้ามาศึกษาเพิ่มเติมเพื่อนำไปปรับใช้กับอาชีพเกษตรกรรมของตนเองอย่างมีคุณภาพต่อไป ตนจึงอยากให้โครงการดีๆ ของมหาวิทยาลัยขอนแก่นกระจายไปทุกพื้นที่เพื่อให้คนที่ขาดโอกาสเข้ามาเรียนมารับความรู้ไปพัฒนาอาชีพของตนเองต่อไป

นายเนติรัฏฐ์ ดวงพายัพ อายุ 19 ปี นักศึกษาชั้นปีที่ 2 สาขาโรคพืช คณะเกษตรศาสตร์
นายเนติรัฏฐ์ ดวงพายัพ อายุ 19 ปี นักศึกษาชั้นปีที่ 2 สาขาโรคพืช คณะเกษตรศาสตร์

     ส่วนนายเนติรัฏฐ์ ดวงพายัพ อายุ 19 ปี นักศึกษาชั้นปีที่ 2 สาขาโรคพืช คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวถึงการเข้าเรียนในหลักสูตรนี้ว่า ตนเองเป็นคนอำเภอหนองสองห้อง คุณพ่อรับราชการ และครอบครัวทำกิจการโรงน้ำแข็งและน้ำ ส่วนตัวไฝ่ฝันว่าอยากจะมีธุรกิจเกี่ยวกับการเกษตร เป็นของตนเองแล้วอยากประสบความสำเร็จ จึงเป็นแรงผลักดันให้ให้เราต้องก้าวไปอย่างมั่นคง พอทราบว่ามีการเปิดเรียนหลักสูตรนี้ ทำให้มองเห็นโอกาสในการ ที่จะสานฝันให้เป็นจริง จึงสมัครเรียนเพิ่มเติมจากการเรียนในระบบปกติ ยอมที่จะเหนื่อยและลำบากในวันนี้เพื่อประสบความสำเร็จในวันข้างหน้า เมื่อเข้ามาเรียนแล้วไม่ผิดหวัง เพราะได้แลกเปลี่ยเรียนรู้ประสบกาณ์จากผู้เรียนที่มีทั้งระดับ ด๊อกเตอร์ ผศ. รศ. และเกษตรกร เป็นประสบการณ์ที่ดีมากๆ ที่สำคัญได้ต่อยอดอนาคตของตนเองในการทำธุกิจต่อไปในอนาคต เพราะการได้สร้าง Connection ดีๆ เอาไว้ในชั้นเรียน ตนอยากให้มหาวิทยาลัยขอนแก่นจัดทำหลักสูตร ดี ๆ แบบนี้อีก เพราะถือว่าเป็นประโยชน์ต่อประชาชนมาก

หลักสูตรการจัดการธุรกิจเกษตรในยุคดิจิทัล (Agricultural Business for Digital Society)
หลักสูตรการจัดการธุรกิจเกษตรในยุคดิจิทัล (Agricultural Business for Digital Society)

     ทั้งนี้ หลักสูตรที่จะเปิดจัดการเรียนการสอนต่อไป คือ หลักสูตรการเกษตรแม่นยำ (Precision Agriculture) ระหว่างวันที่ 22 กรกฎาคม – 17 กันยายน 2566 สำหรับนิสิต/นักศึกษาชั้นปีที่ 3 หรือผู้สำเร็จการศึกษาระดับ ปวส. ผู้ที่ทำงานแล้วและต้องการเพิ่มพูนสมรรถนะ ผู้ที่ทำงานแล้วแต่ต้องการเพิ่มพูนสมรรถนะที่แตกต่างไปจากเดิม กลุ่มอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาล และผู้สนใจประกอบธุรกิจการเกษตร ซึ่งอีก 2 หลักสูตรคือ หลักสูตรเทคโนโลยีชีวภาพทางการเกษตร (Agriculture Biotechnology) ระยะเวลาการเรียนหลักสูตร 5 สิงหาคม – 19 พฤศจิกายน 2566 และหลักสูตรการจัดการเกษตรปลอดภัยและการเกษตรอินทรีย์ ระยะเวลาการเรียนหลักสูตร สิงหาคม – มกราคม 2567 ก็ได้รับความสนใจจากประชาชนกลุ่มต่างๆ เป็นอย่างมาก

     นับได้ว่าการจัดทำหลักสูตรต้นแบบ non degree 4 หลักสูตร ของคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ครั้งนี้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เพื่อสร้างบัณฑิตพันธุ์ใหม่ และกำลังคนที่มีสมรรถนะและศักยภาพสูงสำหรับการทำงานในอุตสาหกรรมใหม่สู่ New S-Curve และเป็นกลไกสำคัญ ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ (New Growth Engines) ของประเทศ เพื่อสร้างฐาน (Platform) การพัฒนาการศึกษาระดับอุดมศึกษาแห่งอนาคต โดยปรับเปลี่ยนรูปแบบการผลิตบัณฑิตและสร้างต้นแบบของหลักสูตรและการเรียนการสอน โดยเน้นการปรับเปลี่ยนเนื้อหาสาระ โครงสร้างหลักสูตร และกระบวนการจัดการเรียนการสอน สร้างประสบการณ์การเรียนรู้ด้วยการปฏิบัติในสภาพจริงเป็นสำคัญ พัฒนาการศึกษาเพื่อสร้างให้ผู้เรียนมีสมรรถนะและศักยภาพสูง รวมทั้งการร่วมมือกับสถานประกอบการหรือภาคอุตสาหกรรมในการผลิตบัณฑิตและกำลังคน รวมทั้ง ยังสนองตอบต่อยุทธศาสตร์ของมหาวิทยาลัยขอนแก่นในการขับเคลื่อน KKU Lifelong Education อีกด้วย

ท่านสามารถสมัครเรียน ได้ที่ https://docs.google.com/forms/d/e/1FAIpQLSeoep68QrqhExGlspDVmjchIlj7Hkra2eY68POMDvOHfP_8Mg/closedform

 

บทความ  : เบญจมาภรณ์  มามุข

ภาพ ข้อมูล : รศ.ดร.ดรุณี โชติษฐยางกูร คณบดีคณะเกษตรศาสตร์ / ผศ.หยาดรุ้ง  มะวงศ์ไว หน.สาขาเศรษฐศาสตร์การเกษตร คณะเกษตรศาสตร์  มหาวิทยาลัยขอนแก่น

 

 

https://th.kku.ac.th/149643/

Scroll to Top