วันที่ 8 มิ.ย.66 นายพันธุ์เพิ่มศักดิ์ อารุณี หัวหน้ากลุ่มภารกิจบริหารยุทธศาสตร์ สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สป.อว.) เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการเรื่อง การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างเครือข่ายเชิงประเด็น โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช อันเนื่องมาจากพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ( อพ.สธ. ) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 โดยมี ศ.ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์และผู้บริหาร 9 เครือข่ายมหาวิทยาลัยเข้าร่วม ที่ประสานสุข วิลล่า บีช รีสอร์ท อ.สิชล จ.นครศรีธรรมราช
นายพันธุ์เพิ่มศักดิ์ กล่าวว่า การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างเครือข่ายเชิงประเด็น โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ (เครือข่าย C-อพ.สธ.) เป็นกิจกรรมที่ทาง สป.อว. ร่วมกับเครือข่ายทั้ง 9 แห่งจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี เพื่อให้มีการสัมผัสและได้เรียนรู้วิถีการทำงานของแต่ละเครือข่าย และยังทำให้เห็นว่าการมีเครือข่ายที่เข้มแข็งมีความสำคัญ เพราะจะเป็นส่วนที่ช่วยสนับสนุนให้เกิดการทำงานได้อย่างต่อเนื่อง เป็นระบบ และเป็นกลไกที่จะช่วยขับเคลื่อนประเทศให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ที่สำคัญ
• โครงการ อพ.สธ. เป็นโครงการที่หน่วยงานทั่วประเทศได้เข้าร่วมสนองพระราชดำริ รวมถึง สป.อว. และสถาบันอุดมศึกษาทั่วประเทศ ในการน้อมนำแนวพระราชดำริ ของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เรื่องการอนุรักษ์และพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งเป็นหน้าที่ที่ทุกภาคส่วนจะต้องให้ความสำคัญและช่วยผลักดันตามบริบทของตนเอง
• กระทรวง อว. ได้ทำยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนประเทศไทยด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG พ.ศ. 2564 – 2570 รวมถึงโครงการมหาวิทยาลัยสู่ตำบลฯ หรือ U2T ทั้ง 2 ระยะ โดยมีสถาบันอุดมศึกษาเป็นกลไกในการขับเคลื่อนเพื่อตอบโจทย์การพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยเน้นการเก็บรวบรวมและรักษาฐานทรัพยากรและความหลากหลายทางชีวภาพกายภาพ และวัฒนธรรมภูมิปัญญา ด้วยการส่งเสริมให้เกิดการนำไปใช้ประโยชน์ให้มีประสิทธิภาพสูงสุด โดยต้องคำนึงถึงขีดจำกัด ศักยภาพในการฟื้นตัว และความต้องการของพื้นที่เป็นสำคัญ
” นอกจากนี้ ยังให้ความสำคัญกับการส่งเสริมและสนับสนุนให้สถาบันอุดมศึกษามุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนตามนโยบายของ ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวง อว. ที่เห็นว่าสถาบันอุดมศึกษาเป็นแหล่งสรรพกำลังที่มีองค์ความรู้และมีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม จึงมีแนวทางที่จะพัฒนายกระดับสถาบันอุดมศึกษาของไทยก้าวสู่การเป็นมหาวิทยาลัยสีเขียว พร้อมกับการดำเนินการเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน(Sustainable Development Goals : SDGs) โดยเฉพาะ SDG 13 : การรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ(Climate Action) ซึ่งจากผลการจัดอันดับ THE ในปี 2023 มีมหาวิทยาลัยหลายแห่งของไทยได้รับการจัดอันดับในด้านนี้ ซึ่งการผลักดันในเรื่องนี้จะเป็นเป้าหมายที่ อว. และมหาวิทยาลัยของไทยจะต้องให้ความสำคัญและดำเนินการเพื่อให้บรรลุเป้าหมายต่อไป ” นายพันธุ์เพิ่มศักดิ์ กล่าว
ขอบคุณข่าวจาก : https://innoprise.kku.ac.th/blogs/detail/528