เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2566 เวลา 08.30 – 12.00 น. คณะกรรมการสหสาขาวิชาชีพ โรคความดันโลหิตสูง โรงพยาบาลศรีนครินทร์ : PCT Hypertension คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จัดงานงานนิทรรศการทางวิชาการ เนื่องในวันความดันโลหิตสูงโลก ประจำปี 2566 เพื่อสร้างความตระหนักถึงอัตรายและภาวะแทรกซ้อนของโรคความดันโลหิตสูง สอนให้ประชาชนทั่วไปสามารถวัดความดันโลหิตด้วยตนเองได้อย่างถูกต้องและทราบค่าความดันโลหิตที่เหมาะสม ให้บริการทางสุขภาพ เช่น ตรวจสุขภาพทั่วไป ชั่งน้ำหนัก วัดความดันโลหิต และให้คำปรึกษาด้านสุขภาพโดยบุคลากรทางการแพทย์สหสาขาวิชาชีพ และให้ความรู้เกี่ยวกับโรคความดันโลหิตสูงและภาวะแทรกซ้อน โดย รศ.พญ. แพรว โคตรุฉิน อาจารย์แพทย์เวชศาสตร์ฉุกเฉิน ประธานคณะกรรมการสหสาขาวิชาชีพ โรคความดันโลหิตสูง โรงพยาบาลศรีนครินทร์ : PCT Hypertension กล่าวรายงานต่อ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ คัชรินทร์ ภูนิคม รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลศรีนครินทร์ ฝ่ายห้องปฏิบัติการ ประธานในพิธีเปิดงานนิทรรศการทางวิชาการ โดยมีผู้สนใจเข้าร่วมงาน กว่า 80 คน ณ หน่วยบริการสุขภาพปฐมภูมิ 123 มข. “หอพักแปดหลัง” มหาวิทยาลัยขอนแก่น
รศ.พญ. แพรว โคตรุฉิน กล่าวว่า “วันความดันโลหิตสูงโลก คือวันที่ 17 พฤษภาคม ของทุกปี เริ่มมีมาตั้งแต่ ปี พ.ศ.2548 โดยมีวัตถุประสงค์ตั้งขึ้นเพื่อให้เล็งเห็นความสำคัญและความน่ากลัวของโรคความดันโลหิตสูง นับวันโรคความดันโลหิตสูงมีแต่จะเพิ่มมากขึ้น และอายุที่เริ่มเป็นน้อยลงเรื่อยๆ เนื่องจากสังคมปัจจุบัน เป็นสังคมคนชรา และคนอ้วน ทำให้เราพบว่าอุบัติการณ์ของโรคนี้ทั่วโลกมากถึง 1 ใน 3 คน เป็นโรคความดันโลหิตสูง โรคความดันโลหิตสูงเป็นภัยเงียบไม่มีอาการ ไม่เคยตรวจ ก็ไม่มีทางรู้ ป่วยมาอีกทีหนักถึงพิการหรือเสียชีวิตเฉียบพลันได้ ทำให้เกิดโรคต่างๆ ตามมาอีกมากมาย ปัจจัยเสี่ยงที่กระตุ้นให้เกิดโรคความดันโลหิตสูง คือ ความเครียด การไม่ออกกำลังกาย การสูบบุหรี่ ความอ้วน เป็นต้น”
“ในปี พ.ศ. 2566 นี้ คณะทำงานสหสาขาวิชาชีพโรคความดันโลหิตสูง โรงพยาบาลศรีนครินทร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น : PCT Hypertension ได้จัดงานขึ้นในวันจันทร์ที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ.2566 เพื่อสร้างความตระหนักของภัยต่อสุขภาพจากโรคความดันโลหิตสูง และให้บริการทางวิชาการต่อประชาชนทั่วไปและผู้ป่วยโรคติดต่อไม่เรื้อรัง สำหรับในปี 2566 ทางคณะกรรมการ ยังคงเล็งเห็นถึงความสำคัญของโรคความดันโลหิตสูง จึงได้จัดกิจกรรมเนื่องในวันความดันโลหิตสูงโลกเช่นเดียวกับทุกปี โดยกิจกรรมในวันนี้ ประกอบด้วยการให้ความรู้เกี่ยวกับโรคความดันโลหิตสูง การตรวจสุขภาพร่างกาย และการสาธิตอาหารสุขภาพ หวังให้ผู้ร่วมงานได้ความรู้อย่างเต็มเปี่ยม และได้รับความสนุกสนานร่วมกัน”
ผู้ช่วยศาสตราจารย์คัชรินทร์ ภูนิคม กล่าวในพิธีเปิดว่า “ขอบคุณคณะกรรมการจัดงานที่ได้เล็งเห็นความสำคัญของปัญหาในการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง และได้ร่วมกันจัดกิจกรรมทางวิชาการขึ้นในวันนี้ ได้ทราบว่าผู้เข้าร่วมงาน มาจากหลายหน่วยงานในสังกัดมหาวิทยาลัยขอนแก่น ตลอดจนนักศึกษาและประชาชนทั่วไป ซึ่งการจัดกิจกรรมในวันนี้ โรคความดันโลหิตสูงเป็นโรคที่พบได้บ่อย แต่หากควบคุมความดันโลหิตไม่ได้จะก่อให้เกิดภาวะแทรกช้อนตามมามากมาย เช่น โรคหัวใจ โรคอัมพาต เชื่อว่าความรู้ที่ผู้ร่วมงานได้รับในครั้งนี้ จะสามารถนำไปปรับใช้ในการดูแลตนเองและครอบครัวต่อไป”
ในงาน เริ่มด้วยการออกกำลังกาย ยืดเหยียด และมีการออกบูธให้บริการตรวจวัดความดันโลหิต การตรวจสุขภาพ โรคอ้วน โรคนอนกรน ให้บริการแนะนำการออกกำลังกายและอาหารสุขภาพ ปรึกษาปัญหาสุขภาพและการรับประทานยา พร้อมจัดอาหารว่างเพื่อสุขภาพให้กับผู้ร่วมงาน และมีกิจกรรมสำคัญของงาน โดยมีเวทีเสวนา Doctor Online เพื่อพูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์ พร้อมตอบข้อสงสัยเกี่ยวกับโรคความดันโลหิตสูง พร้อมกับมีการไลฟ์สดในช่องทางเฟซบุ๊ก โดยมีผู้รับชมออนไลน์กว่า 3,900 ครั้ง และมีคำถามเข้ามาเป็นจำนวนมาก
เวทีเสวนาแลกเปลี่ยนประสบการณ์ และตอบข้อสงสัยให้ความรู้ในครั้งนี้ มีผู้ร่วมเสวนา ประกอบด้วย รศ.พญ.แพรว โคตรุฉิน ภาควิชาแพทยศาสตร์ฉุกเฉิน คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ซึ่งเป็นแพทย์เฉพาะทางโรคความดันโลหิตสูง นางหนูหวาด โพธิ์ศรี ผู้ป่วยไอดอล ที่ปฏิบัติตัวถูกต้องจนสามารถลดน้ำหนักตัวจาก 70 กิโลกรัม เป็น 59 กิโลกรัม และลดยารักษาโรคความดันโลหิตสูงได้ คุณครูสาธร พลพงษ์ ผู้ป่วยที่รับยาความดันโลหิตสูง แต่ยังคงดื่มแอลกอฮอล์และสูบบุหรี่ จนกระทั่งเกิดภาวะหัวใจหยุดเต้น แต่กลับฟื้นขึ้นมาพร้อมกับการหันกลับมารักษาสุขภาพที่ดี โดยมี คุณรังสิมา ศฤงคารนฤมิตร (กรุ๊งกริ๊ง) ผู้ประกาศข่าวช่องอัมรินทร์ทีวี 34 เป็นผู้ดำเนินการเสวนา นับว่าเป็นเวทีแห่งคุณภาพ ที่ได้รับความรู้เรื่องความดันโลหิตสูง ความดันที่ดีต่อสุขภาพ การวัดความดันที่ถูกต้องทำอย่างไร ควรวัดตอนไหน อ่านค่าอย่างไร สร้างความตระหนักในการปฎิบัติตัวอย่างไรถ้าไม่อยากเป็นความดัน เทคนิคและวิธีกินอยู่และการออกกำลังกาย สำหรับผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง พูดคุยเรื่องโรคแทรกซ้อนในผู้ป่วยความดันโลหิตสูง รวมทั้งการแลกเปลี่ยนประสบการณ์การลดความดัน การทานอาหาร การรับประทานยา ผู้สนใจติดตามชมย้อนหลังการเผยแพร่รายการ Doctor Online ได้ที่ https://www.facebook.com/celltrionhealthcarethailand/videos/266200895908980
ข่าว/ภาพ : วัชรา น้อยชมภู