สำนักบริการวิชาการ ร่วมกับ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น วิทยาลัยอาชีวศึกษาขอนแก่น และเทศบาลตำบลบึงเนียม อ.เมือง จ.ขอนแก่น จัดโครงการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ ยกระดับภูมิปัญญาท้องถิ่น ด้วยนวัตกรรม Digital กิจกรรม : ผนึกกำลัง สร้างสรรค์กลุ่มอาชีพ แปรรูปขนมกะหรี่ปั๊บสูตรแชมป์เปี้ยน ระหว่างวันที่ 22–23 พฤษภาคม 2566
รศ.น.สพ.ดร.สุวิทย์ อุปสัย รองผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการ สำนักบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น รับมอบหมายปฏิบัติหน้าที่แทนผู้อำนวยการสำนักบริการวิชาการ เป็นประธานเปิดโครงการ “ สร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ ยกระดับภูมิปัญญาท้องถิ่น ด้วยนวัตกรรม Digital กิจกรรมแปรรูปผลิตภัณฑ์ กะหรี่ปั๊บสูตรแชมป์เปี้ยน” ณ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบึงเนียม ในการนี้ นายสินทร สมบัติ รองนายกเทศมนตรีตำบลบึงเนียม ร่วมกล่าวต้อนรับด้วย
กิจกรรมในวันแรกประกอบด้วยการ เรียนรู้ สุขอนามัย ความสะอาด กรรมวิธี กระบวนการผลิต การออกจำหน่าย ทดสอบความต้องการของผู้บริโภค ส่งเสริมการขายแนะนำการขาย กำหนดกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย โดย อ.จตุรพร กาสี และ อ.ศศิมาภรณ์ อ่อนสำอาง จากวิทยาลัยอาชีวศึกษาขอนแก่น ร่วมกันถ่ายทอดองค์ความรู้และคิดค้นสูตรโดยนำเอาผลผลิตในท้องถิ่น มะม่วง มะขาม ฝรั่ง เผือก กล้วย สมุนไพร มาแปรรูปเป็นขนมกะหรี่ปั๊บสูตรแชมป์เปี้ยน
กิจกรรมในวันที่ 2 เป็นการร่วมกันคิดค้น สร้างสรรค์ แบรนด์ บรรจุภัณฑ์ Logo ปรับแนวคิดในการสร้างสรรค์ธุรกิจใหม่ให้กับกลุ่ม วางแผนพัฒนาผลิตภัณฑ์เพิ่มมูลค่าและเพิ่มการรับรู้ให้ตลาด โดย ผศ.ดร.สมหญิง พงศ์พิมล คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
โครงการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ ยกระดับภูมิปัญญาท้องถิ่น ด้วยนวัตกรรม Digital มีภารกิจเพื่อส่งเสริม สร้างสรรค์โครงการบริการวิชาการ ให้เป็นแหล่งเรียนรู้ภูมิปัญญาสังคม ( Center of Social Wisdom ) พร้อมความรับผิดชอบต่อสังคม ( Corporate Social Responsibility : CSR ) สร้างคุณค่าร่วมกัน ( Creative Share Value : CSV ) นำองค์ความรู้เทคโนโลยีนวัตกรรม ไปพัฒนาสังคมชุมชนให้มียั่งยืน ( SDGs ) เนื่องจากพื้นที่ตำบลบึงเนียม มีจุดเด่นทางวัฒนธรรม มีแหล่งวิถีภูมิปัญญาท้องถิ่น ควรค่าแก่การอนุรักษ์พร้อมขับเคลื่อนพัฒนา สร้างอัตลักษณ์ให้เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย โดยการจัดกิจกรรมในครั้งนี้ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากสำนักงานอธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น
ภาพ/ข่าว : นายพฤมนต์ เธียรศรีเจริญ ศูนย์บริการวิชาการสังคม สำนักบริการวิชาการ