เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2566 เวลา 17.00 น. มหาวิทยาลัยขอนแก่น จัดพิธีให้โอวาทแก่นักกีฬาและบุคลากรที่จะเข้าร่วมการแข่งขันกีฬาบุคลากรมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 39 โดยมี รองศาสตราจารย์ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นประธานในพิธี ผู้ช่วยศาสตราจารย์สุรพล เนสุสินธุ์ ประธานสภาพนักงาน มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวรายงาน ในการนี้มีตัวแทนนักกีฬามาร่วมพิธีกว่า 70 คน ณ ห้องประชุมราชสีห์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
ผู้ช่วยศาสตราจารย์สุรพล เนสุสินธุ์ ประธานสภาพนักงาน มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า จากความสำเร็จในการแข่งขันครั้งล่าสุดที่มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี “ขุนเลเกมส์” ปี พ.ศ. 2562 มหาวิทยาลัยขอนแก่น ทำได้ 16 เหรียญทอง 17 เหรียญเงิน และ 22 เหรียญทองแดง ได้อันดับที่ 5 จากสถาบันที่เข้าร่วมการแข่งขันทั้งหมด 53 สถาบัน
“สำหรับการแข่งขันกีฬาบุคลากรมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 39 ณ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี มีกำหนด จัดขึ้น ระหว่าง วันที่ 25 พฤษภาคม – 3 มิถุนายน พ.ศ. 2566 การแข่งขันกีฬาบุคลากรครั้งนี้ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้ส่งนักกีฬาเข้าร่วมการแข่งขันทั้งหมด 14 ชนิดกีฬา ประกอบด้วย ฟุตบอล ฟุตซอล วอลเลย์บอล กรีฑา กอล์ฟ เซปักตะกร้อ เทนนิส เทเบิลเทนนิส แบดมินตัน เปตอง แอโรบิค ว่ายน้ำ สนุ้กเกอร์ และลีลาศ มีนักกีฬาและเจ้าหน้าที่เข้าร่วมการแข่งขัน จำนวน 280 คน”
“เป้าหมายของการเข้าร่วมการแข่งขันในครั้งนี้ คือ การสร้างความสามัคคีและนำชื่อเสียง มาสู่มหาวิทยาลัยขอนแก่น ซึ่งนักกีฬาและบุคลากรตระหนักในเรื่องดังกล่าวเป็นอย่างดี และมี ความคาดหวัง ตั้งใจมุ่งมั่น เป้าหมายไว้ที่ 20 เหรียญทอง อย่างไรก็ตามภารกิจสำคัญ คือ การเผยแพร่เกียรติคุณมหาวิทยาลัยขอนแก่น และแสดงถึงความเป็นมหาวิทยาลัยขอนแก่น ซึ่งนักกีฬาและเจ้าหน้าที่ทุกท่าน คือตัวแทนของมิตรไมตรีจากมหาวิทยาลัยขอนแก่น จึงขอให้ท่านส่งกำลังใจให้ทัพนักกีฬาที่จะเข้าร่วมการแข่งขันครั้งนี้ เพื่อนำชัยชนะและชื่อเสียงกลับมาสู่มหาวิทยาลัยขอนแก่น ต่อไป”
รองศาสตราจารย์ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า ครั้งนี้มหาวิทยาลัยขอนแก่นของเราได้สมัครเข้าร่วมการแข่งขันกีฬาบุคลากรมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 39 โดยมหาวิทยาลัยราชภัฏ อุบลราชธานี เป็นเจ้าภาพ หลังจากที่ห่างหายไป 3 ปี เนื่องจากปัญหาการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2563 – 2565 ซึ่งการแพ้หรือชนะเป็นเรื่องของกีฬา ขอให้ทุกคนตั้งใจและนำชื่อเสียงมาสู่มหาวิทยาลัยขอนแก่น แม้ชัยชนะจะเป็นสิ่งที่ทุกคนปรารถนา แต่สิ่งสำคัญไม่แพ้กันคือมิตรภาพ จากน้ำใจนักกีฬาในการแข่งขัน ขอให้นักกีฬาจากมหาวิทยาลัยขอนแก่นทุกท่าน ได้ทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุด ดูแลซึ่งกันและกัน และสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างเพื่อนต่างสถาบัน ขอให้เดินทางโดยสวัสดิภาพ และกลับมาพร้อมชัยชนะด้วยความภาคภูมิใจของเราชาวมหาวิทยาลัยขอนแก่น
ต่อไป
ผศ.ดร.บัณฑิต สวรรยาวิสุทธิ์ รองคณบดีฝ่ายวิจัยและพัฒนาหน่วยธุรกิจ คณะบริหารธุรกิจและการบัญชี มหาวิทยาลัยขอนแก่น(ขวา) ตัวแทนนักกีฬาลีลาศเปิดเผยว่าเปิดเผยว่าเมื่อ 12 ปีที่แล้วตนเองเคยไปแข่งขันกีฬาบุคลากรมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย ที่มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี และสามารถคว้าเหรียญทองกลับมาได้ และ คราวนี้เป็นการกลับมาอีกครั้งหลังจากที่ห่างหายจากการเต้นไปนานถึง 12 ปี ประจวบกับคุณพราวแสงติดต่อให้มาเต้นลีลาสคู่กัน จึงกลับมาลงแข่งขันอีกครั้ง เพราะรักในกีฬาประเภทนี้
“แม้ว่าเราจะมีงานเยอะเพราะว่าเป็นรองคณบดีด้วย แต่ว่าเรามี passion และรักในการเต้น จึงแบ่งเวลาซ้อมอย่างมีวินัยตั้งแต่ 17:00 น. ถึง 19:00 น บางวันอาจเลยไปถึง 20:00 น นอกจากนี้ในการซ้อม ต้องขอขอบคุณท่านคณบดีคณะบริหารธุรกิจและการบัญชี ที่เอื้อเฟื้อสถานที่ห้องประชุมที่คณะ ฯ ซึ่งมีพื้นไม้ปาเก้เหมาะสำหรับการเต้นลีลาศ ฉะนั้นในการฝึกซ้อมจึงเป็นไปอย่างราบรื่น เพราะทุกฝ่ายให้ความสนับสนุนเป็นอย่างดี และ ตอนนี้พร้อมมากสำหรับการคว้าเหรียญรางวัลในการลงแข่งขันในปลายเดือนนี้”
นางสาว พราวแสง ภูสิงหา นักวิเทศสัมพันธ์ กองการต่างประเทศมหาวิทยาลัยขอนแก่น ตัวแทนนักกีฬาลีลาศเปิดเผยว่าตนเอง มาเป็นนักกีฬาลีลาศ ของมหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้เพราะเป็นนักกีฬาลีลาศมาก่อน เมื่อมีโอกาสได้เข้ามาทำงานเป็นบุคลากรจึงสนใจ และ มาจับคู่กับอาจารย์บัณฑิตที่มีความสนใจกีฬาลีลาศเหมือนกัน สำหรับการแข่งขันครั้งนี้มีการซ้อมมากกว่า 1 เดือน โดยซ้อมอย่างเข้มข้นเป็นประจำทุกวันวันละ 2-3 ชั่วโมง
“การแข่งขันครั้งนี้มีความพร้อม 100% เพราะว่าเราทั้งคู่ตั้งใจ และ ทุ่มเทในการฝึกซ้อมมากๆ นอกจากซ้อมทุกวันแล้ว เรายังมีความตั้งใจ และแพชชั่นในกีฬา ทำให้เราแฮปปี้มากในการเตรียมความพร้อมสำหรับการแข่งขันครั้งนี้”
สำหรับการแข่งขันกีฬาบุคลากรแห่งประเทศไทยเริ่มขึ้นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2525 ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เดิมใช้ชื่อว่า การแข่งขันกีฬาบุคลากรมหาวิทยาลัย โดยความริเริ่มของทบวงมหาวิทยาลัย เป็นกีฬาเพื่อสร้างความสามัคคี สร้างความสนิทสนมคุ้นเคยกันระหว่างบุคลากรในสังกัดทบวงมหาวิทยาลัย และกำหนดให้สถาบันการศึกษาที่สังกัดทบวงมหาวิทยาลัยหมุนเวียนกันเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันดังกล่าว และจัดการแข่งขันอย่างต่อเนื่องมาจนปัจจุบัน ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อการแข่งขันว่า กีฬาบุคลากรมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย โดยในครั้งที่ 39 นี้ เจ้าภาพจัดการแข่งขัน คือ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี ใช้ชื่อการแข่งขันว่า “The Happiness Games เกมส์แห่งความสุข” มีกำหนดการแข่งขันระหว่างวันที่ 25 พฤษภาคม – 3 มิถุนายน พ.ศ. 2566