มข.จัดงานเปิดโลก AI for Autism : สร้างนวัตกรรมเพื่อออทิสติกไทย สู่โลกดิจิทัล

________เมื่อวันศุกร์ ที่ 12 พฤษภาคม 2566  คณะศึกษาศาสตร์  มหาวิทยาลัยขอนแก่น  โดยโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยขอนแก่น  ฝ่ายการศึกษาพิเศษ  ร่วมกับภาคีเครือข่ายการดูแลบุคคลออทิสติกจังหวัดขอนแก่น  ได้ร่วมกันเป็นเจ้าภาพ ในการดำเนินการจัดการประชุมวิชาการ  เปิดโลกออทิสติก  ครั้งที่ 14  “AI  for  Autism  :  นวัตกรรม AI นำออทิสติกไทย ก้าวไกล สู่โลกดิจิทัล” โดยมี นายพันธ์เทพ เสาโกศล รองผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น เป็นประธานในพิธีเปิด  ดร.สมพร  หวานเสร็จ  ผู้อำนวยการเชี่ยวชาญ ระดับ 9  อาจารย์ที่ปรึกษา ของโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัย ฝ่ายการศึกษาพิเศษ กล่าวต้อนรับ  อาจารย์ปริศนา อานจำปา รองผู้อำนวยการโรงเรียนสาธิตฯ ฝ่ายการศึกษาพิเศษ  กล่าวรายงาน นายสุภวัฒน์ หนูพริก  พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดขอนแก่น  กล่าววิสัยทัศน์การพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ จังหวัดขอนแก่น  และมีพิธีมอบเกียรติบัตรประกาศเกียรติคุณ แก่หน่วยงานภาคีเครือข่ายผู้ดูแลบุคคลออทิสติก จังหวัดขอนแก่น และเยาวชนคนพิเศษตัวอย่าง  โดยมีผู้เข้าร่วมการประชุมในครั้งนี้ประมาณ 300 คน ณ ห้องแกรนด์พาวิลเลี่ยน  ราชาวดี รีสอร์ท แอนด์ โฮเทล ขอนแก่น

________ดร.สมพร  หวานเสร็จ  กล่าวว่า  “การจัดการประชุมวิชาการ  เปิดโลกออทิสติก  ครั้งที่ 14  “AI  for  Autism  :  นวัตกรรม AI นำออทิสติกไทย ก้าวไกล สู่โลกดิจิทัล” ในครั้งนี้ จัดขึ้นในธีมงาน  “AI  for  Autism  :  นวัตกรรม AI นำออทิสติกไทย ก้าวไกล สู่โลกดิจิทัล” ซึ่งนับว่าเป็นตีมงานที่มีความสำคัญและน่าสนใจมาก เพราะยุคปัจจุบัน AI นั้น มีความเกี่ยวข้อง ใกล้ชิดในชีวิตประจำวันของทุกคนมาก และในเกือบทุกวงการ ก็มีการนำ AI มาใช้งานมากขึ้น รวมไปถึงด้านออทิสติกด้วย ไม่ว่าจะเป็นการจัดการศึกษา หรือทางการแพทย์  ที่จะช่วยเหลือเด็กออทิสติกมากขึ้น เช่น มีการวิจัยโดยทีมผู้เชี่ยวชาญมหาวิทยาลัยเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ มีการนำ AI มาช่วยวินิจฉัยอาการออทิสติก ในเด็กตั้งแต่เนิ่น ๆ ที่ช่วยวิเคราะห์อาการออทิสติกได้ทันท่วงที เทคโนโลยี AI นี้ก็ยังสามารถใช้กับการรักษาทางไกล หรือการเช็คอาการย้อนหลังได้  หรือการสร้างนวัตกรรมสุดอัจฉริยะ “เก้าอี้กอด OTO” ช่วยผู้ที่อยู่ในกลุ่มอาการออทิสติก สเปกตรัม ให้รู้สึกปลอดภัยจากการสัมผัสที่เหมาะสม ซึ่งสิ่งประดิษฐ์นี้ ถูกออกแบบและพัฒนาโดย Alexia Audrain ช่างไม้ครุภัณฑ์ชาวฝรั่งเศส และมีการพัฒนางานด้าน AI อีกมากมาย และหวังว่า จะเป็นการเปิดโลกทัศน์อีกมุมมองหนึ่ง และได้รับการพัฒนาองค์ความรู้ด้านการให้ความช่วยเหลือบุคคลที่มีภาวะออทิซึมที่เหมาะสม  ตลอดจนเป็นการพัฒนาองค์ความรู้ต่างๆ อันจะนำไปสู่การพัฒนาและขยายผล ทั้งด้านงานวิจัย บทความ สื่อ นวัตกรรมใหม่ๆ ที่จะเป็นประโยชน์สูงสุดต่อการพัฒนาบุคคลที่มีภาวะออทิซึม และบุคคลที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษต่อไป”

________อาจารย์ปริศนา อานจำปา กล่าวว่า “การประชุมวิชาการ  เปิดโลกออทิสติก ครั้งที่ 14 ขึ้น เพื่อสร้างความตระหนักรู้ เสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจให้แก่ผู้ปกครอง ครู ผู้บริหาร สหวิชาชีพ และบุคคลที่เกี่ยวข้อง ในการให้ความช่วยเหลือและพัฒนาบุคคลที่มีภาวะออทิซึม และบุคคลที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษ แบบองค์รวมในทุกมิติ  เป็นเวทีในการนำเสนอนวัตกรรม ผลการวิจัย แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ความคิดเห็น และแสดงความความก้าวหน้าของงานวิจัย ซึ่งจะนาไปสู่การสร้างเครือข่ายความร่วมมือทางวิชาการ ในการพัฒนานวัตกรรม ผลงานวิจัย และการนำไปใช้ประโยชน์ ต่อการพัฒนาประเทศ และเป็นการประชาสัมพันธ์ เผยแพร่ผลงานกิจกรรม ของภาคีเครือข่ายการดูแลบุคคลออทิสติก และยกย่องเชิดชูเกียรติ แก่บุคคล หน่วยงานที่มีผลงานดีเด่น และทำคุณประโยชน์ด้านการส่งเสริม สนับสนุน พัฒนา และช่วยเหลือบุคคลที่มีภาวะออทิซึม  การประชุม “AI  for  Autism  :  นวัตกรรม AI  นำออทิสติกไทย ก้าวไกล สู่โลกดิจิทัล”  ในครั้งนี้ได้เชิญผู้รู้ ผู้เชี่ยวชาญมาร่วมอภิปราย แลกเปลี่ยนประสบการณ์ และให้ความรู้ แก่ครู บุคลากรทางการศึกษา บุคลากรทางการแพทย์ นักวิจัย ผู้ปกครอง และผู้ที่สนใจ  อันจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาองค์ความรู้ และเป็นแนวทาง ในการให้ความช่วยเหลือบุคคลที่มีภาวะออทิซึม และบุคคลที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษ ในจังหวัดขอนแก่น”

________นายสุภวัฒน์ หนูพริก  กล่าวว่า  “ในนามผู้สนับสนุนงบประมาณการจัดงานครั้งนี้ พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดขอนแก่น  มีวิสัยทัศน์ว่า “เสริมพลัง สร้างโอกาส พัฒนาคุณภาพชีวิตคนทุกช่วงวัย” และมีพันธกิจ 4 ข้อ คือ พัฒนาและขับเคลื่อนนโยบายและยุทธศาสตร์การพัฒนาสังคมสู่การปฏิบัติ  ส่งเสริม พัฒนากลไก และบูรณาการภาคีเครือข่ายทางสังคมทุกภาคส่วนและทุกระดับ  ส่งเสริมการวิจัย งานวิชาการ และพัฒนานวัตกรรมทางสังคม เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตคนทุกช่วงวัย  และพัฒนาระบบบริหารจัดการองค์กรให้มีขีดสมรรถนะสูง  อันจะเห็นว่ากิจกรรมการประชุมวิชาการในวันนี้นั้น ได้ช่วยตอบโจทย์ทั้งวิสัยทัศน์ และพันธกิจ ของทางพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จังหวัดขอนแก่น ได้เป็นอย่างดี  ซึ่งกระผมหวังว่ากิจกรรมนี้ จะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาองค์ความรู้ และเป็นแนวทาง ในการให้ความช่วยเหลือบุคคลออทิสติกในจังหวัดขอนแก่นได้”

________นายพันธ์เทพ เสาโกศล รองผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น  กล่าวในพิธีเปิดว่า  “การประชุมวิชาการ  เปิดโลกออทิสติก  ครั้งที่ 14  “AI  for  Autism:นวัตกรรม AI นำออทิสติกไทย ก้าวไกล สู่โลกดิจิทัล” ประจำปี 2566  ในวันนี้ นับว่าเป็นความตระหนักและเห็นความสำคัญของการให้ความช่วยเหลือและพัฒนาบุคคลออทิสติก ในการที่จะพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการของจังหวัดขอนแก่นและจังหวัดใกล้เคียง  โดยการจัดงานได้เชิญผู้รู้ ผู้เชี่ยวชาญมาร่วมอภิปราย แลกเปลี่ยนประสบการณ์ และให้ความรู้แก่ ครู บุคลากรทางการศึกษา บุคลากรทางการแพทย์ นักวิจัย ผู้ปกครอง และผู้ที่สนใจอย่างกว้างขวาง  รวมทั้งมีการนำเสนอและขยายผลการศึกษาวิจัย  เพื่อให้เกิดประโยชน์ทั้งด้านวิชาชีพและเกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง  หวังเป็นอย่างยิ่งว่า สิ่งที่ได้จากการประชุมวิชาการในครั้งนี้ จะเป็นอีกก้าวหนึ่งที่เป็นพลังสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาบุคคลออทิสติก ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาองค์ความรู้ด้านการให้ความช่วยเหลือบุคคลออทิสติกที่เหมาะสม  ตลอดจนนำไปสู่การพัฒนาและขยายผล ทั้งด้านงานวิจัย บทความ สื่อ นวัตกรรมใหม่ๆ ที่จะเป็นประโยชน์สูงสุดต่อการพัฒนาบุคคลออทิสติกและบุคคลที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษต่อไป”

________จากนั้น  เป็นการแสดง ชุด “เวทีคนกล้าค้นหาเพชรงาม เดินตามทางฝัน ก้าวไปด้วยกันกับเยาวชนคนพิเศษ” อำนวยการแสดง โดย ผศ.ดร.ทรงวิทย์ พิมพะกรรณ์ ผู้จัดการโฮงสินไซ  และมีการเสวนา หัวข้อ : ออทิซึมกับนวัตกรรม AI ในมุมมองสหวิชาชีพ  ผู้ร่วมเสวนา ประกอบด้วย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นพ.สุชาติ พหลภาคย์  ที่ปรึกษา สถาบันวิจัยและบริการด้านออทิซึม  ศาสตราจารย์ คร.สุมาลี ชัยเจริญ  คณบดีคณะศึกษาศาสตร์  รศ.ดร.รัชพล สันติวรากร  คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์  และ นายบุรี เสรีโยธิน  นายกสมาคมผู้ปกครองบุคคลออทิสติกฯ  โดยมี ดร.สมพร หวานเสร็จ  ที่ปรึกษาโรงเรียนสาธิตฯ ฝ่ายการศึกษาพิเศษ เป็นผู้ดำเนินการเสวนา

________ในครั้งนี้ ได้จัดให้มีกิจกรรมสำหรับบุคคลออทิสติก โดยมีฐานต่างๆ ประกอบด้วย  ฐานที่ 1 กิจกรรมทางกาย วิทยากรโดย โรงเรียนสาธิต มข. ฝ่ายการศึกษาพิเศษ สถาบันวิจัยและยริการด้านออทิสซึม และสมาคมบุคคลออทิสติกจังหวัดขอนแก่น  ฐานที่ 2 กิจกรรมฝึกทักษะ EF  วิทยากโดย ศูนย์การศึกษาพิเศษ เขตการศึกษา 9   ฐานที่ 3 กิจกรรมทักษะอาชีพ  วิทยากรโดย  ศูนย์พัฒนาศักยภาพบุคคลออทิสติกฯ และในภาคบ่ายจัดให้มีการนำเสนอ ผลงานวิจัย และนวัตกรรม  การ Workshop : Art and Music Therapy  for Autism และกิจกรรม พลังรักพลังครอบครัว

ข่าว   :   วัชรา  น้อยชมภู

ภาพ  :   วทัญญู  เชื่อมไธสง

Scroll to Top