มข. พลิกโฉมแบรนด์ “Yama Herb” พริก ออแกนิค หนองหญ้าม้า สู่ตลาดสากล

            วันที่ 27 เมษายน 2566 สำนักบริการวิชาการ ร่วมกับ คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 3 องค์การบริหารส่วนตำบลหนองเหล็ก และ วิสาหกิจชุมชนกลุ่มปลูกและแปรรูปสมุนไพรและผลผลิตทางการเกษตรหนองหญ้าม้า ตำบลหนองเหล็ก อำเภอโกสุมพิสัย จังหวัดมหาสารคาม ร่วมส่งมอบผลงานการพัฒนาแบรนด์และบรรจุภัณฑ์พริกออแกนิค “ยามา เฮิร์บ” (Yama Herb) เพื่อยกระดับผลผลิตทางการเกษตร สู่ตลาดห้างสรรพสินค้า และตลาดสากล

       
รศ.น.สพ.ดร.ชูชาติ กมลเลิศ ผู้อำนวยการสำนักบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ส่งมอบผลงานการพัฒนาแบรนด์และบรรจุภัณฑ์ พริก ออแกนิค “ยามา เฮิร์บ” โดย นางเสงี่ยม สุทธิ นายกองค์การบริหารส่วนตำบล เป็นตัวแทนผู้รับมอบให้กับวิสาหกิจชุม รศ.น.สพ.ดร.ชูชาติ กมลเลิศ กล่าวถึงการดำเนินโครงการของสำนักฯ ที่ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากสำนักงานอธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น เชื่อมโยงองค์ความรู้ของมหาวิทยาลัยขอนแก่นไปสู่ชุมชน เพื่อสร้างความยั่งยืนและสร้างองค์ความรู้ใหม่ที่เกี่ยวโยงกับชุมชน โดยช่วยในการยกระดับ เพิ่มมูลค่าของผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่ สร้างรายได้เพิ่ม เพื่อลดปัญหาความเหลื่อมล้ำและการขจัดความยากจน (SDGs1) มีการส่งเสริมการปลูกพืชแบบอินทรีย์เพื่อตอบโจทย์การมีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี (SDGs 3) และการได้รับ ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนลดความเหลื่อมล้ำ (SDGs 17) จากหน่วยงานและองค์กรของภาครัฐ ตามเป้าหมายของสหประชาชาติซึ่งเป็นยุทธศาสตร์ที่สำคัญของมหาวิทยาลัยขอนแก่น


รศ.ดร.ดวงจันทร์ นาชัยสินธุ์ อาจารย์ประจำคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้กล่าวถึงแนวคิดในการออกแบบโดยดึงเอาความมีอัธยาศัยที่ดีของผู้คนในชุมชน รวมถึงการยึดหลักความพอเพียงตามปรัชญาเศรษฐกิจ และจุดเด่นของผลิตภัณฑ์ มาผสมผสานออกมาเป็น แบรนด์ “ยามา เฮริ์บ” ภายใต้สโลแกน “หอม สะอาด ปลอดภัย” จากการปลูกผ่านที่ได้รับการรับรองมาตรฐานออแกนิคไทยแลนด์ โดยมีทีมนักศึกษาชั้นปีที่ 4 จากคณะศิลปกรรมศาสตร์ ร่วมลงพื้นที่เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการเรียนรู้เพื่อที่ทำงานร่วมกับชุมชนอีกด้วย ซึ่งนอกเหนือจากบรรจุภัณฑ์สำหรับการทำพริกป่นแล้วยังต่อยอดไปยังบรรจุภัณฑ์สำหรับ พริกแห้ง ซอสพริก หรือขนมพริกอบกรอบ เพื่อเป็นทางเลือกให้กับชุมชนอีกด้วย


ดร.จารุพงศ์ ประสพสุข นักวิทยาศาสตร์ชำนาญการพิเศษ สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตร เขตที่ 3 ได้กล่าวขอบคุณทางมหาวิทยาลัยขอนแก่นที่ได้ร่วมส่งเสริมและผลักดันการดำเนินงานให้กับทางกลุ่มวิสาหกิจซึ่งทางสำนักวิจัยฯ มีส่วนในการส่งเสริมในการปลูก และทางมหาวิทยาลัยขอนแก่นช่วยส่งเสริมเรื่องของการตลาดเพื่อสร้างรายได้เพิ่มให้กับกลุ่มเกษตรกรนอกเหนือจากการปลูกพืชไร่ที่ทำกันอยู่เดิม

Scroll to Top