สถาบันวิจัยและพัฒนาวิชาชีพครู ฯ มข. หนุนศักยภาพผู้ประกอบวิชาชีพครู เร่งแผนพัฒนาสถานศึกษา

สถาบันวิจัยและพัฒนาวิชาชีพครูสำหรับอาเซียน มหาวิทยาลัยขอนแก่น ร่วมกับ สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา สถาบันพัฒนาครู คณาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษา และ สถาบัน National Institute for School Teachers and Staff Development (NITS) ประเทศญี่ปุ่น จัดโครงการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษา ระยะที่ 1 “แนวทางการพัฒนาองค์ความรู้และดำเนินการจัดทำแผนพัฒนาสถานศึกษา (School Improvement Plan)” วันอังคารที่ 28 กุมภาพันธ์ 2566 เวลา13.00 น. ณ สถาบันวิจัยและพัฒนาวิชาชีพครูสำหรับอาเซียน  มหาวิทยาลัยขอนแก่น

 


     สถาบันวิจัยและพัฒนาวิชาชีพครูสำหรับอาเซียน มหาวิทยาลัยขอนแก่น ร่วมมือกับ สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา National Institute for School Teachers and Staff Development (NITS) ประเทศญี่ปุ่น, สถาบันพัฒนาครู คณาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษา (สคบศ.) (National Institute for Development of Teachers Faculty Staff and Educational Personnel: NIDTEP) ดำเนินงานความร่วมมือโครงการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษา จัดโครงการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษา ประจำปี 2566 ระยะที่ 1 “แนวทางการพัฒนาองค์ความรู้และดำเนินการจัดทำแผนพัฒนาสถานศึกษา (School Improvement Plan)” ทั้งออนไซต์ และผ่านระบบออนไลน์ Zoom Meeting ซึ่งมีพิธีเปิดโครงการในวันอังคารที่ 28 กุมภาพันธ์ 2566 เวลา13.00 น. ณ สถาบันวิจัยและพัฒนาวิชาชีพครูสำหรับอาเซียน มหาวิทยาลัยขอนแก่น  โดยได้รับเกียรติจาก ศ.ดร.มนต์ชัย ดวงจินดา รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบัณฑิตศึกษา มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวเปิดโครงการ และ รศ.ดร.ไมตรี อินทร์ประสิทธิ์ รองอธิการบดีฝ่ายการศึกษาและบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น รักษาการแทนผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาวิชาชีพครูสำหรับอาเซียน กล่าวรายงาน พร้อมผู้ร่วมโครงการประกอบด้วย เลขาธิการคุรุสภา, รองเลขาธิการคุรุสภา, ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาครู, ที่ปรึกษาโครงการฯ  Mr. Masahiro Oji, Vice President of National Institute for School Teachers and Staff Development (NITS) ประเทศญี่ปุ่น, รศ.นรินทร์ จันทร์ศรี คณบดีคณะเภสัชศาสตร์, รศ.ดร.อรทัย เพียยุระ คณบดีคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ผู้บริหาร และ รองผู้บริหารสถานศึกษา ครู ศึกษานิเทศก์ ที่ผ่านการคัดเลือกเข้าร่วมโครงการฯ จากสถานศึกษาจำนวน 20 แห่ง รวมจำนวน 60 คนทั่วประเทศ

     หลังจากพิธีเปิด เป็นการบรรยายเกี่ยวกับ “แนวทางการพัฒนาองค์ความรู้และดำเนินการจัดทำแผนพัฒนาสถานศึกษา (School Improvement Plan)” โดย รศ.ดร.ไมตรี อินทร์ประสิทธิ์ รองอธิการบดีฝ่ายการศึกษาและบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น รักษาการแทนผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาวิชาชีพครูสำหรับอาเซียน, การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์การบริหารโรงเรียนด้วยนวัตกรรม TLSOA ให้ยั่งยืน โดย ทีมอาจารย์จากโรงเรียนขจรเกียรติพัฒนา และทีมอาจารย์จากโรงเรียนบ้านมะอึ ดำเนินรายการ โดย อ.อรรค อินทร์ประสิทธิ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาวิชาชีพครูและบุคลากรทางการศึกษา สถาบันวิจัยและพัฒนาวิชาชีพครูสำหรับอาเซียน และปิดท้ายด้วยการชี้แจงการเข้าร่วมกิจกรรมเปิดชั้นเรียนระดับชาติ (National Open Class) ครั้งที่ 16 ณ สถาบันวิจัยและพัฒนาวิชาชีพครูสำหรับอาเซียน มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดย ผศ.ดร.นฤมล ช่างศรี ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยคณิตศาสตรศึกษา ผู้ช่วยผู้อำนวยการด้านวิจัยและพัฒนานวัตกรรม สถาบันฯ

ศ.ดร.มนต์ชัย ดวงจินดา รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบัณฑิตศึกษา มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวเปิดโครงการ

     ศ.ดร.มนต์ชัย ดวงจินดา รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบัณฑิตศึกษา มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวถึงโครงการนี้ว่า โครงการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษา เป็นโครงการที่สำคัญตามนโยบายมหาวิทยาลัยขอนแก่น ในการบริการวิชาการที่ใช้ความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) ผ่านการดำเนินโครงการทั้ง 5 ระยะ โดยผู้เข้าร่วมการอบรม ได้ร่วมเรียนรู้และมีความเข้าใจเกี่ยวกับบริบทการใช้นวัตกรรมเพื่อพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษา การจัดการชั้นเรียนด้วยนวัตกรรม การศึกษาชั้นเรียน (Lesson Study) ด้วยวิธีการแบบเปิด (Open Approach) ซึ่งเป็นนวัตกรรมหลักของสถาบันฯ ที่ได้ขับเคลื่อนมามากกว่า 20 ปี ได้ร่วมเรียนรู้ในกิจกรรมการจัดการชั้นเรียนจากกรณีศึกษาและกระบวนการพัฒนาของประเทศญี่ปุ่น อีกทั้งยังได้ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างผู้เข้าร่วมโครงการและวิทยากรทั้งจากประเทศไทยและประเทศญี่ปุ่น จากความร่วมมือเพื่อร่วมขับเคลื่อนและส่งเสริมการจัดการการศึกษา ผ่านการดำเนินโครงการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษา ร่วมกับหน่วยงานในระดับประเทศ ได้แก่ สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา และ สถาบันพัฒนาครู คณาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษา รวมทั้ง ความร่วมมือกับเครือข่ายการพัฒนาวิชาชีพทางการศึกษากับต่างประเทศ สถาบัน National Institute for School Teachers and Staff Development (NITS) ประเทศญี่ปุ่น จะนำมหาวิทยาลัยสู่ความเป็นนานาชาติ ซึ่งเป็นสิ่งที่จะช่วยให้มหาวิทยาลัยสามารถพัฒนาทั้งด้านการจัดการศึกษา การวิจัย และการบริการ ให้มีความก้าวหน้าอย่างก้าวกระโดด

รศ.ดร.ไมตรี อินทร์ประสิทธิ์ รองอธิการบดีฝ่ายการศึกษาและบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น รักษาการแทนผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาวิชาชีพครูสำหรับอาเซียน กล่าวรายงาน
รศ.ดร.ไมตรี อินทร์ประสิทธิ์ รองอธิการบดีฝ่ายการศึกษาและบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น รักษาการแทนผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาวิชาชีพครูสำหรับอาเซียน กล่าวรายงาน

     ด้าน รศ.ดร.ไมตรี อินทร์ประสิทธิ์ รองอธิการบดีฝ่ายการศึกษาและบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น รักษาการแทนผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาวิชาชีพครูสำหรับอาเซียน กล่าวว่า จากแผนการดำเนินงานเพื่อการพัฒนาฯ อย่างต่อเนื่อง หน่วยงานความร่วมมือ 4 ฝ่าย ได้ประสบผลสำเร็จในการขับเคลื่อนโครงการฯ ระยะนำร่อง 3 ปี ระหว่างปี พ.ศ. 2561 – 2563 ซึ่งมีผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษาที่ได้เข้าร่วมโครงการและผ่านการพัฒนาครบตามเกณฑ์ที่กำหนดมาแล้วจำนวน 3 รุ่น รวมจำนวน 119 คน โดยการดำเนินการที่ผ่านมา หน่วยงานผู้จัดได้กำหนดให้มีการดำเนินการ เป็น 4 ระยะ โดยระยะแรก เป็นการแนะนำสถาบันวิจัยและพัฒนาวิชาชีพครูสำหรับอาเซียน มหาวิทยาลัยขอนแก่น เกี่ยวกับการใช้นวัตกรรมเพื่อพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษา ระยะที่ 2 สถาบัน NITS ไปศึกษาการจัดการชั้นเรียนและกระบวนการพัฒนาการสอนของประเทศญี่ปุ่น ระยะที่ 3 การประยุกต์ใช้ในสถานศึกษา และระยะที่ 4 การติดตามและประเมินผล โดย สถาบันพัฒนาครู คณาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษา (สคบศ.) ซึ่งระยะสุดท้ายนี้ ผู้เข้าร่วมอบรมได้นำเสนอและร่วมแลกเปลี่ยนผลการเรียนรู้การใช้นวัตกรรมการศึกษาชั้นเรียนและวิธีการแบบเปิด จากการนำนวัตกรรมไปใช้ในโรงเรียน/หน่วยงาน ซึ่งการจัดโครงการครั้งนี้มีผู้ผ่านการคัดเลือกเข้าร่วมโครงการฯ ประจำปี พ.ศ. 2566 (รุ่นที่ 4) ที่เข้าร่วมการอบรมระยะที่ 1 ประกอบด้วย ผู้บริหารสถานศึกษา รองผู้บริหารสถานศึกษา ครู หรือ ศึกษานิเทศก์ จากสถานศึกษาจำนวน 20 แห่ง รวมจำนวน 60 คน

     สำหรับการจัดโครงการอบรมครั้งนี้ เพื่อเป็นการพัฒนาศักยภาพภาวะความเป็นผู้นำ การวิจัยและการศึกษาเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนให้แก่ผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษา และสร้างเครือข่ายการพัฒนาวิชาชีพทางการศึกษาระหว่างหน่วยงานการศึกษาในประเทศไทยและประเทศญี่ปุ่น ด้วยการเชื่อมโยงนโยบายกับการฝึกปฏิบัติจริงสู่การพัฒนาผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษา เพื่อการพัฒนาศักยภาพให้แก่ผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษาในด้านการศึกษาชั้นเรียน (Lesson Study) การส่งเสริมการจัดการชั้นเรียนให้มีคุณภาพ (Classroom Management) และภาวะผู้นำ (Leadership) ที่มุ่งเน้นการทำงานศึกษาวิจัยร่วมกันของผู้ประกอบวิชาชีพและผู้ที่เกี่ยวข้องในการพัฒนาการจัดการเรียนการสอนและการเรียนรู้ของผู้เรียนในบริบทการทำงานจริงในชั้นเรียนและสถานศึกษาของตนอย่างเป็นระบบและต่อเนื่องในระยะยาว ทั้งนี้ เพื่อพัฒนาตนเอง พัฒนาการจัดการเรียนการสอน และพัฒนาการเรียนรู้ของผู้เรียนไปพร้อมกัน ทั้งนี้การจัดกิจกรรมครั้งต่อไปจะมีขึ้นในวันเสาร์ที่ 18 มีนาคม 2566 เข้าร่วมกิจกรรม open class ณ สถาบันวิจัยและพัฒนาวิชาชีพครูสำหรับอาเซียน มข. และ วันอาทิตย์ที่19 มีนาคม 2566 เข้าร่วมกิจกรรม open class (แบบออนไลน์)

ข้อมูล ภาพ  :  สถาบันวิจัยและพัฒนาวิชาชีพครูสำหรับอาเซียน มหาวิทยาลัยขอนแก่น

รวบรวม ข่าว  :  เบญจมาภรณ์  มามุข

Institute for Research and Development of Teaching Profession, KKU, holds an event to strengthen teachers and execute school development plans

https://www.kku.ac.th/?p=16118&preview=true

Scroll to Top