นักศึกษา มข. คว้ารางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 การแข่งขัน Research to Market ครั้งที่ 10 ระดับประเทศ โชว์ผลงานวิจัยนวัตกรรมสู่เชิงพาณิชย์

เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2566 มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยอุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น นำนักศึกษาเข้าร่วมการเเข่งขันโครงการ “เส้นทางสู่นวัตวณิชย์” ครั้งที่ 10 ระดับประเทศ (Research to Market : R2M Thailand 10) ประจำปี 2565 โดยได้รับเกียรติจาก คุณสุณีย์ เลิศเพียรธรรม หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นประธานกล่าวเปิดงาน ซึ่งการเเข่งขันระดับประเทศในครั้งนี้จัดขึ้นโดยอุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ระหว่างวันที่ 18 – 19 กุมภาพันธ์ 2566 ณ โรงแรมคริสตัลหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา

โดยมีนักศึกษาเข้าร่วมประกวดจากทั่วประเทศ จำนวน 22 ทีม ซึ่งมหาวิทยาลัยขอนแก่น ส่งนักศึกษาเข้าร่วมเเข่งขันทั้งสิ้น 1 ทีม จากคณะบริหารธุรกิจและการบัญชี และมหาวิทยาลัยขอนแก่นสามารถคว้ารางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ชิงเงินรางวัล 10,000 บาท ได้แก่ทีม สิริมงคล ด้วยผลงานวิจัยกรรมไฮโดรเจลคอมพอสิตที่มีอนุภาคซิลเวอร์นาโนเป็นส่วนประกอบ (รศ.พรนภา เกษมศิริ คณะวิศวกรรมศาสตร์)


รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ ทีม Spark tech มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ ทีม Bee Plus มหาวิทยาลัยพะเยา
รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ได้แก่ ทีม สิริมงคล มหาวิทยาลัยขอนแก่น
รางวัลชมเชย 2 รางวัล ได้แก่
ทีม Enigma มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี
ทีม Fyty มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ทั้งนี้ยังได้รับเกียรติจากคณะกรรมการตัดสิน ผู้มากความสามารถ ทั้ง 5 ท่าน ได้แก่
1. ผศ.ดร.กิติพงษ์ รัตนาภรณ์
รองคณบดีฝ่ายวิจัยและนวัตกรรมอาหาร คณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
2. คุณภัคชนม์ หุ่นสุวรรณ์
Tech Co-founder , ARV-Rovula กลุ่มบริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน)
3. ดร.ชาญวิทย์ ตรีเดช
นักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการพิเศษกองส่งเสริมและประสานเพื่อประโยชน์ทางวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
4. คุณณัฏฐานุช อนันตพันธุ์พงศ์
กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทูเอ็กซิท จำกัด
5. ผศ.ภญ.ดร.สุธีรา เตชคุณวุฒิ
อาจารย์ประจำคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
CEO และ Co-founder บริษัทใบยาไฟโตฟาร์ม จำกัด

สำหรับโครงการเส้นทางสู่นวัตวณิชย์ (R2M 2022) จัดขึ้นด้วยวัตถุประสงค์เพื่อเน้นการพัฒนาศักยภาพด้านการคิดวิเคราะห์ วางแผน การนำเสนอ และสร้างโอกาสในเชิงพาณิชย์ให้กับผลงานวิจัย ผ่านกลไกที่เกี่ยวข้อง เช่น การประกวดแผนธุรกิจ การจับคู่ธุรกิจ หรือการบ่มเพาะธุรกิจ โดยโครงการนี้มุ่งหวังที่จะก่อให้เกิดผลลัพธ์ในการเพิ่มโอกาสการเรียนรู้และการมีส่วนร่วมในกระบวนการนวัตกรรมแก่นักศึกษา นักวิจัย และผู้ประกอบการ รวมถึงสร้างช่องทางด้านการส่งเสริมนวัตกรรม เช่น การนำผลงานวิจัยจากมหาวิทยาลัยออกสู่นักลงทุนหรือผู้ประกอบการ สนับสนุนการเกิดบริษัท startups หรือ spin-offs จากมหาวิทยาลัย และสร้างความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยและภาคเอกชนโดยอาศัยกลไกของอุทยานวิทยาศาสตร์พร้อมทั้งยังส่งเสริมและผลักดันให้ผู้วิจัยหรือนักประดิษฐ์ได้ตระหนักถึงความสำคัญในการวิจัยและพัฒนาเพื่อสร้างผลิตภัณฑ์หรือเทคโนโลยีที่สามารถถ่ายทอดไปสู่การผลิตสินค้าและบริการ ซึ่งถือเป็นการส่งเสริมวัฒนธรรมการประกอบธุรกิจบนพื้นฐานวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมต่อไป

ภาพ: นภดล
ข่าว : ณัฐกานต์,ณัฐริกา

Scroll to Top