วันนี้ ( 31 มกราคม 2566 ) เวลา 09.00 น. มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยกองกฎหมาย จัดอบรมส่งเสริมความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับกฎหมายปราบปรามการทุจริต และประพฤติมิชอบแก่ผู้บริหารและผู้ปฏิบัติงานสังกัดมหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยได้รับเกียรติจาก รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวเปิดงาน และมีอาจารย์ณัฐสมล ธนกุลรังสฤษดิ์ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายกิจการพิเศษ กล่าวรายงาน ได้รับเกียรติจากวิทยากรผู้มีความเชี่ยวชาญด้านกฎหมายการปราบปรามการทุจริต นายอุทิศ บัวศรี รองเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ บรรยายให้ความรู้เรื่อง “กฎหมายการป้องกันและปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่นภาครัฐ” ทั้งนี้มีผู้บริหารมหาวิทยาลัย คณบดี ผู้อำนวยการกอง ผู้บริหารส่วนงาน หัวหน้าส่วนงาน ศูนย์ สถาบัน สำนัก ร่วมงานจำนวนมาก ณ ห้องประชุมสิริคุณากร 3 สำนักงานอธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น
รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า ตามยุทธศาสตร์ชาติว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ได้ตระหนักและให้ความสำคัญเกี่ยวกับสถานการณ์การทุจริตในสังคมไทย โดยกล่าวถึงการทุจริตที่เกิดขึ้นซึ่งเป็นเวลานานนับเนื่องกว่าทศวรรษ และได้ส่งผลเสียต่อประเทศไทยอย่างมหาศาล และเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม การเมืองในทุกมิติ รูปแบบการทุจริตจากเดิมที่เป็นทุจริตทางตรง ไม่ซับซ้อน อาทิ การรับสินบน การจัดซื้อจัดจ้าง ในปัจจุบันได้ปรับเปลี่ยนเป็น การทุจริตที่ซับซ้อนมากขึ้น เช่น การทุจริตเชิงนโยบาย การทุจริตข้ามแดน ข้ามชาติ ซึ่งเชื่อมโยงไปสู่อาชญากรรมอื่นๆมากมาย และส่งผลกระทบทางลบในวงกว้าง การทุจริตจึงเป็นปัญหาสากล ที่ทุกประเทศล้วนให้ความสําคัญรวมทั้งประเทศไทย การอบรมในวันนี้ถือเป็นก้าวที่สำคัญที่เราทุกภาคส่วนจะได้ตระหนักรู้ถึงบทบาทหน้าที่ ตลอดจนข้อควรปฏิบัติ ข้อพึงระวังในการปฏิบัติงานซึ่งหวังเป็นอย่างยิ่งว่าเมื่อการอบรมเสร็จสิ้นลง ผู้เข้าร่วมอบรมทุกท่านจะมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับกฎหมายปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ เสริมสร้างคุณธรรม ความโปร่งใส ปลูกจิตสำนึกและสร้างค่านิยมหรือวัฒนธรรมองค์กรที่ดีงามร่วมกันต่อไป
อาจารย์ณัฐสมล ธนกุลรังสฤษดิ์ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายกิจการพิเศษ เผยว่า มหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นหน่วยงานของรัฐซึ่งมหาวิทยาลัยมีนโยบายที่มุ่งเน้นในการบริหารงานและปฏิบัติหน้าที่ รวมตลอดถึงส่งเสริมให้ผู้ปฏิบัติงานของมหาวิทยาลัยปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย ซื่อสัตย์สุจริต โปร่งใส เป็นธรรม ตรวจสอบได้ และคำนึงถึงหลักธรรมาภิบาล โดยยึดมั่นและให้ความสำคัญในการดำเนินงานตามพันธกิจและคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของมหาวิทยาลัย รับผิดชอบต่อสังคม และผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้อง ตามหลักจรรยาบรรณทางวิชาชีพ หลักจริยธรรมและคุณธรรมที่ดี หลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี และตระหนักถึงยุทธศาสตร์ชาติว่าด้วยการต่อต้านการทุจริต โดยปฏิเสธและต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นในทุกรูปแบบ ตลอดถึงการปลูกจิตสำนึกและสร้างค่านิยมหรือวัฒนธรรมองค์กรให้ผู้ปฏิบัติงานยึดมั่นในจรรยาบรรณ จริยธรรมและคุณธรรมในการปฏิบัติงานหรือปฏิบัติหน้าที่ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จึงได้กำหนดจัดทำแผนยุทธศาสตร์การบริหารมหาวิทยาลัยขอนแก่น พ.ศ. 2563 – 2566 ประเด็นยุทธศาสตร์ ที่ 10 การบริหารโดยใช้หลักธรรมาภิบาล และเห็นชอบอนุมัติแผนปฏิบัติการป้องกันและปราบปรามการทุจริต มหาวิทยาลัยขอนแก่น ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 โดยได้ตระหนักและให้ความสำคัญในอันที่จะสร้างระบบการบริหารจัดการองค์กรด้วยหลักธรรมาภิบาลให้เกิดขึ้นทั่วทั้งมหาวิทยาลัย โดยยึดหลักเกณฑ์ของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (สำนักงาน ป.ป.ช.) คือ หลักการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ มีการถ่ายทอดและนำไปใช้กับทุกส่วนงาน ผ่านการลงนามคำรับรองปฏิบัติงานของหัวหน้าส่วนงาน ศูนย์ สถาบัน สำนัก ดังนั้น เพื่อเป็นการป้องกัน ป้องปราม และปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในมหาวิทยาลัย จึงได้จัดโครงการเสริมสร้างคุณธรรมและความโปร่งใส : การอบรมส่งเสริมความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับกฎหมายการป้องกันและปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชันให้แก่ผู้บริหารและผู้ปฏิบัติงานครั้งนี้ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้มหาวิทยาลัยมีระบบบริหารจัดการองค์กรที่มีประสิทธิภาพ สร้างสังคมธรรมาภิบาล มีพื้นที่การปฏิบัติงานที่ปลอดภัยและน่าอยู่ มีผู้ปฏิบัติงานที่มีคุณภาพและคุณธรรม และมีเทคโนโลยีและสารสนเทศที่ทันสมัยในอันที่จะเชื่อมโยงและรองรับทุกภารกิจของมหาวิทยาลัยให้เป็นไปอย่างคล่องตัว รวดเร็ว โปร่งใส และตรวจสอบได้ทุกมิติ
นายอุทิศ บัวศรี รองเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เผยว่า “การทุจริต” เป็นพฤติกรรมที่ฝ่าฝืนกฎหมายโดยตรง ถือเป็นความผิดอย่างชัดเจน สังคมส่วนใหญ่จะมีการบัญญัติกฎหมายออกมารองรับ มีบทลงโทษชัดเจน ถือเป็นความผิดขั้นรุนแรงที่สุดที่เจ้าหน้าที่ของรัฐต้องไม่ปฏิบัติ แต่ปัญหาคือมนุษย์ส่วนใหญ่มักแยกแยะไม่ออกว่าสิ่งไหนเรียกว่าทุจริต การศึกษาสมอง 3 ส่วนกับความต้องการของมนุษย์ จึงจำเป็นเพราะจริยธรรมจะต้องใช้สมองส่วนหน้า ฝึกทักษะการคิดวิเคราะห์แยกแยะระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลกับประโยชน์ส่วนรวม แล้วยึดประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าประโยชน์ส่วนตน รวมถึงใช้จริยธรรมเพื่อทำความเข้าใจเรื่องการทุจริตต่อหน้าที่ การขัดกันแห่งผลประโยชน์ (COI) ประกอบด้วย การรับผลประโยชน์ต่าง ๆ การทำธุรกิจกับตัวเองหรือเป็นคู่สัญญา การทำงานหลังจากออกจากตำแหน่งสาธารณะหรือหลังเกษียณ การทำงานพิเศษ การรู้ข้อมูลภายใน การใช้ทรัพย์สินของราชการเพื่อประโยชน์ส่วนตัว การนำโครงการสาธารณะลงในเขตเลือกตั้งเพื่อประโยชน์ในทางการเมือง การใช้ตำแหน่งหน้าที่เอื้อประโยชน์แก่เครือญาติหรือพวกพ้อง การใช้อิทธิพลเข้าไปมีผลต่อการตัดสินใจของเจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือหน่วยงานของรัฐอื่น ๆ ทั้งหมดนี้ล้วนใช้ “จริยธรรม” หลักสำคัญในการควบคุมพฤติกรรมของเจ้าหน้าที่ของรัฐ เปรียบเสมือนโครงสร้างพื้นฐานที่เจ้าหน้าที่ของรัฐต้องยืดถือปฏิบัติร่วมกันจึงจะเกิดความเป็นธรรม โปร่งใส่ และเกิดคุณธรรมในองค์กร
ข่าว / ภาพ : กองสื่อสารองค์กร
KKU runs training on law for suppressing corruptions of all kinds for administrators