วันจันทร์ที่ 4 กุมภาพันธ์ 2563 มหาวิทยาลัยขอนแก่นจัดการประชุมสภามหาวิทยาลัย ครั้งที่ 2 ประจำปี 2563 และพิธีมอบช่อดอกไม้แสดงความยินดีแก่นักวิจัย มหาวิทยาลัยขอนแก่น ผู้ได้รับรางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ ประจำปี 2563 จากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และนักศึกษาที่ได้รับรางวัลจากโครงการประกวด“เส้นทางสู่นวัตวณิชย์ ประจำปี 2563 ในการนี้ได้รับเกียรติจาก ดร.ณรงค์ชัย อัครเศรณี นายกสภามหาวิทยาลัยขอนแก่น ดร.เตช บุนนาค อุปนายกสภามหาวิทยาลัยขอนแก่น รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล รักษาการอธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น ดร.อภิรชัย วงษ์ศรีวรพล ผู้อำนวยการสำนักงานอุทยานวิทยาศาสตร์ ร่วมยินดี พร้อมด้วย คณะกรรมสภาและผู้บริหารมหาวิทยาลัยขอนแก่นเข้าร่วมพิธีกว่า 60 คน ณ ห้อง NESP 326 ชั้น 3 สำนักงานอุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
พิธีการเริ่มเมื่อเวลา 9.00 น. ดร.ณรงค์ชัย อัครเศรณี นายกสภามหาวิทยาลัยขอนแก่น มอบดอกไม้แสดงความยินดี แก่ รศ.ดร.วิทยา อมรกิจบำรุง อาจารย์ประจำสาขาวิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น นักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ ประจำปีงบประมาณ 2563 สาขาวิทยาศาสตร์กายภาพและคณิตศาสตร์ ศ. ดร.อลิศรา เรืองแสง จากคณะเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยขอนแก่น นักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ ประจำปีงบประมาณ 2563 สาขาเกษตรศาสตร์และชีววิทยา ลำดับต่อมา เป็นการมอบดอกไม้แสดงความยินดีแก่นักศึกษาที่ได้รับรางวัลชมเชยระดับประเทศจากโครงการประกวด “เส้นทางสู่นวัตวณิชย์ ประจำปี 2563 (Research to Market 2020)” ในผลงาน จัดทำแผนธุรกิจจากงานวิจัย “Kapillariasis ICT Kit หรือ KAP Kit ชุดทดสอบสอบโรคท้องร่วงจากพยาธิแคปิลลาเรียในคน” ซึ่งเป็นผลงานการวางแผนการตลาดจากทีม AUM ประกอบไปด้วย นางสาว จารุวรรณ จริงเพ็ง นายจิรานุวัฒน์ ทองมูล นางสาวจุฑามาศ จุลกิจถาวร นางสาวณัฐชา วรรณพฤกษ์ และ นางสาวภัททิยา ดวงโนแสน นักศึกษาชั้นปีที่ 3 คณะบริหารธุรกิจและการบัญชี สาขาการตลาด โดยหลังจากเสร็จสิ้นการแสดงความยินดีเป็นการประชุมสภามหาวิทยาลัย
โดยในช่วงเริ่มต้น ดร.อภิรชัย วงษ์ศรีวรพล ผู้อำนวยการสำนักงานอุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้กล่าวถึงการดำเนินงานสำนักงานอุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ใจความตอนหนึ่งว่า สำนักงานอุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มีการส่งเสริมและการพัฒนางานวิจัย เทคโนโลยีและนวัตกรรมมีจุดมุ่งหมายเพื่อบูรณาการความร่วมมือระหว่างภาครัฐ สถาบันอุดมศึกษาและภาคเอกชน ในการสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานความรู้ (Knowledge-based economy) ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของมหาวิทยาลัยขอนแก่นในด้าน Ecological ที่มุ่งเน้นการสร้างระบบนิเวศของมหาวิทยาลัยให้เป็นมหาวิทยาลัยดิจิทัล ไม่ว่าจะเป็นการส่งเสริมทั้งด้านการเรียนการสอน การวิจัย และการบริการวิชาการ
“การพัฒนาและสนับสนุนงานวิจัยทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมร่วมกับสถาบันการศึกษา เพื่อให้เกิดการเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันของภารรัฐ ภาคเอกชนและภาคชุมชน ที่จะทำให้เกิดเป็นนิคมของการวิจัยเกิดขึ้น ซึ่งภารกิจในการดำเนินการได้แบ่งออกเป็น 3 ระยะ ได้แก่ ระยะ Idea & Start up เป็นการเริ่มต้นคิดสิ่งใหม่ ๆ ต่อมา ระยะ New Company หรือการเริ่มต้นทำกิจการ หรือการตั้งบริษัท ที่มีการรวมกลุ่มกันทำรัฐวิสาหกิจและได้ทำการจดทะเบียน และระยะ High Potential SMEs การที่บริษัทหรือภาคเอกชนมีศักยภาพในการพัฒนาการวิจัยและนวัตกรรม โดยเฉพาะการพัฒนานักศึกษาให้มีทักษะของความเป็นผู้ประกอบการ เวทีในการต่อยอดทางความคิด ที่เกิดจากการสั่งสมองค์ความรู้และวิธีการปฏิบัติในมหาวิทยาลัยมาสร้างสรรค์ผลงานที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศ ซึ่งเราพยายามที่จะให้นักศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่นทุกระดับเข้าไปทำงานวิจัยร่วมกับบริษัท เพื่อให้บริษัทหรือเอกชนเล็งเห็นคุณค่าและความสามารถของนักศึกษาที่ได้การทำงานร่วมกัน เพื่อให้มีตลาดงานที่รองรับสำหรับนักศึกษาให้เข้าไปทำงานได้ทันที สิ่งเหล่านี้ก็จะเรียกว่า นิเวศนวัตกรรม ที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคต” ดร. อภิรชัย กล่าว
นายจิรานุวัฒน์ ทองมูล นักศึกษาชั้นปีที่ 3 คณะบริหารธุรกิจและการบัญชี สาขาการตลาด ตัวแทนจากทีม AUM ในการ จัดทำแผนธุรกิจจากงานวิจัย “Kapillariasis ICT Kit หรือ KAP Kit ชุดทดสอบสอบโรคท้องร่วงจากพยาธิแคปิลลาเรียในคน” เผยว่า ทีม AUM ฯ สามารถคว้ารางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ระดับภูมิภาค และ รางวัลชมเชย ในโครงการประกวด“เส้นทางสู่นวัตวณิชย์ ประจำปี 2563” (Research to Market 2020) ระดับประเทศ
“อาจารย์ได้นำแผนโครงการนี้เข้ามาใช้ในการเรียนของรายวิชา เพื่อเปิดโอกาสให้แก่นักศึกษาที่สนใจจะเข้าร่วมส่งผลงานเข้าประกวด โดยมีงานวิจัยให้เลือกหลากหลายผลงาน สำหรับทีมของพวกเราได้เลือกงานวิจัย Kapillariasis ICT Kit หรือ KAP Kit ชุดทดสอบสอบโรคท้องร่วงจากพยาธิแคปิลลาเรียในคน ซึ่งเป็นผลงานวิจัยของศ.ดร.วันชัย มาลีวงษ์ศ.พญ.ผิวพรรณ มาลีวงษ์ และคณะผู้วิจัยจากคณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยขอนแก่น โรคนี้ยังไม่เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย จึงไม่มีผู้สนใจนำงานวิจัยตัวนี้มาทำการตลาด ซึ่งการวางแผนการตลาดเราทำตามกระบวนการ AUM ได้แก่ Awareness และ Activate หรือการสร้างการรับรู้ให้แก่แพทย์และผู้ป่วย ต่อมา Understand คือการสร้างความเข้าใจทั่วไปให้กับประชาชนว่ามีโรคนี้เกิดขึ้นว่าถ้ากินปลาดิบเข้าไปก็จะเกิดโรคขึ้นได้ และ Use Personal Selling คือการที่เราเข้าไปแนะนำชุดตรวจให้เกิดความเข้าใจร่วมกัน และ Make friends เป็นการสร้างเครือข่ายระหว่างผู้ป่วยและโรงพยาบาลให้สามารถติดต่อสื่อสารกันได้ง่ายมากขึ้น ซึ่งการดำเนินการตามขั้นตอนเหล่านี้จะทำให้เราได้วางแผนการตลาดที่สามารถเข้าถึงผู้ใช้ได้เป็นอย่างดี” นายจิรานุวัฒน์ กล่าว
ขอขอบคุณภาพ พรสุดา ลานอก
ข่าว วนิดา บานเย็น นักศึกษาฝึกประสบการณ์ กองสื่อสารองค์กร