________ฝ่ายวิจัยและบัณฑิตศึกษา โดยศูนย์ฟีโนมมหาวิทยาลัยขอนแก่น ร่วมกับคณะแพทยศาสตร์ สถาบันวิจัยมะเร็งท่อน้ำดี และอุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จัดงานแถลงข่าว งานประชุมสัมมนานานาชาติพลิกโฉมมหาวิทยาลัยด้านฟีโนมิกส์ ครั้งที่ 1 (The 1st International Reinventing University Roadmap for Phenomics Symposium หรือ IRURP Symposium) และ การอบรมหลักสูตรระยะสั้นด้านเมแทโบโลมิกส์ทางคลินิกและสารผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ รุ่นที่ 5 (Short Course in Clinical and Natural Product Metabolomics #5 หรือ CliNaP-M) ซึ่งจะถูกจัดขึ้นระหว่างวันที่ 6 -10 กุมภาพันธ์ 2566 ณ อาคารอำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยจะมีนักวิจัยระดับแม่เหล็กของโลกในสาขาฟีโนมิกส์มาร่วมเป็นวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิและพูดปาฐกถากิตติมศักดิ์ ประกอบด้วย Professor Jeremy Nicholson ตำแหน่ง Director of Australian National Phenome Centre และ Pro-Vice Chancellor for Health Science, Murdoch University และ Professor Elaine Holmes ตำแหน่ง Head of the Centre for Computational and Systems Medicine, Murdoch University ประเทศออสเตรเลีย และ Dr. Jia Li ตำแหน่ง Reader of Biological Chemistry, Faculty of Medicine, Imperial College London สหราชอาณาจักรฯ
________ในงานแถลงข่าวครั้งนี้ ได้จัดให้มีการเสวนาในหัวข้อ “เทคโนโลยีฟีโนมิกส์กับการขับเคลื่อนนวัตกรรมของประเทศไทย” โดยมี รองศาสตราจารย์ นพ. ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น ศาสตราจารย์ ดร. มนต์ชัย ดวงจินดา รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบัณฑิตศึกษา รองศาสตราจารย์ พญ. วิมลรัตน์ ศรีราช รองคณบดีฝ่ายวิจัยและวิเทศสัมพันธ์ คณะแพทยศาสตร์ รองศาสตราจารย์ ดร. วัชรินทร์ ลอยลม รักษาการแทนผู้อำนวยการสถาบันวิจัยมะเร็งท่อน้ำดี และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. จุทารพ เพชระบูรณิน ประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนการทำงานวิจัยและการบริการวิชาการทางด้านฟีโนมิกส์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นคณะผู้ทรงคุณวุฒิร่วมเสวนา และให้สัมภาษณ์ ถึงการจัดงานดังกล่าว ณ ห้องประชุม อาคารอำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
________รองศาสตราจารย์ นพ. ชาญชัย พานทองวิริยะกุล กล่าวว่า “ฟีโนมิกส์ คือ ศาสตร์ที่ใช้ในการวิเคราะห์การแสดงออกของยีนจากการตอบสนองต่อการกระตุ้นจากสิ่งเร้าต่าง ๆ เช่น การรับประทานอาหาร ยา เครื่องดื่ม รูปแบบการดำรงชีวิต ความเครียด โรคภัย ฯลฯ ผ่านการตรวจวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงของสารเคมีภายในร่างกายของสิ่งมีชีวิต เช่น อาร์เอ็นเอ (RNA) โปรตีน (Protein) และ สารเมแทบอไลต์ (Metabolite) หรือสารขนาดเล็กที่เกิดขึ้นจากกระบวนการเมแทบอลิซึมภายในเซลล์ ด้วยเทคโนโลยีการวิเคราะห์ขั้นสูง ซึ่งจะทำให้เราทราบถึงแบบแผนการเปลี่ยนแปลงของสารต่าง ๆ ที่สอดคล้องกับสุขภาวะที่แตกต่างกัน เช่น ผู้ป่วยมะเร็งระยะต่าง ๆ กลุ่มเสี่ยง และคนปกติ ซึ่งสามารถให้เป็นข้อมูลแบบแผนการเปลี่ยนแปลงของสารดังกล่าวประกอบการตัดสินใจเลือกวิธีการรักษาของแพทย์ได้ ซึ่งเป็นศาสตร์และรูปแบบการศึกษาวิจัยแนวใหม่ที่ทันสมัย ทำให้เข้าใจความเชื่อมโยงของระบบชีวภาพที่ทำงานสอดรับต่อเนื่องกัน แตกต่างจากการศึกษาในอดีตที่ศึกษาทีละโมเลกุล แยกกัน ความถูกต้อง ความแม่นยำขององค์ความรู้ที่ถูกสร้างขึ้นมานั้น ก็จะมีความเข้าใกล้ความเป็นจริงของระบบชีวภาพ และสรีรวิทยาของสิ่งมีชีวิตน้อยกว่าการศึกษาด้วยศาสตร์ฟีโนมิกส์”
________“มหาวิทยาลัยขอนแก่นมีวิสัยทัศน์ในการมุ่งเน้น ความสามารถและการพัฒนางานวิจัย ซึ่งเน้นไปที่กระบวนการจัดการเรียนการสอนที่สามารถนำไปปฏิบัติใช้ได้จริง โดยมุ่งหวังให้การพัฒนานี้ทำให้มหาวิทยาลัยขอนแก่นเป็นที่รู้จักในระดับโลก เพราะเราเชื่อว่ามหาวิทยาลัยที่ดีต้องสามารถก้าวไปสู่ระดับสากลได้ ในด้านที่ตัวเองเชี่ยวชาญ”
________อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวต่อว่า “ทางมหาวิทยาลัยมองว่าศาสตร์ ความรู้และเทคโนโลยีทางด้านฟีโนมิกส์ เป็นอีกศาสตร์ที่เข้ามามีบทบาทในโลกปัจจุบัน และเชื่อว่ามหาวิทยาลัยขอนแก่นมีศักยภาพในการผลักดันให้มหาวิทยาลัยเป็นที่รู้จักทั้งในระดับชาติและนานาชาติในด้านฟีโนมิกส์ได้ ดังนั้นจึงได้เกิดการจัดงานประชุมวิชาการครั้งนี้ขึ้น เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นของการก้าวสู่ระดับนานาติในด้านฟีโนมิกส์ของมหาวิทยาลัยขอนแก่น”
________ศาสตราจารย์ ดร. มนต์ชัย ดวงจินดา กล่าวถึงแนวทางและการสนับสนุนการทำงานวิจัยของฝ่ายวิจัยและบัณฑิตศึกษาเพื่อสอดรับกับโมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน BCG ของประเทศว่า “BCG หรือ Bio-Circular-Green Economy เป็นโมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน โดยการนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ไปยกระดับความสามารถในการแข่งขันอย่างยั่งยืนให้กับ 4 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ซึ่งประกอบด้วย อุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร อุตสาหกรรมพลังงานและวัสดุ อุตสาหกรรมสุขภาพและการแพทย์ และอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและบริการ”
________ศาสตราจารย์ ดร. มนต์ชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า “ดังนั้นแนวทางการสนับสนุนการทำงานวิจัยของฝ่ายวิจัยและบัณฑิตศึกษาเพื่อให้สอดรับกับโมเดล BGC ของประเทศ เป็นการสนับสนุนการนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ซึ่งก็คือศาสตร์หรือเทคโนโลยีฟีโนมิกส์ เข้าไปประยุกต์ใช้ในอุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาอาหารเฉพาะบุคคลหรืออาหารฟังก์ชัน รวมไปถึงการ QA และ QC ผลิตภัณฑ์ด้านอาหาร หรือทางด้านอุตสาหกรรมสุขภาพ”
________รองศาสตราจารย์ พญ. วิมลรัตน์ ศรีราช กล่าวถึงมุมมองของคณะแพทยศาสตร์ต่อการนำเทคโนโลยีฟิโนมิกส์มาใช้ในการแก้ไขปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญของประเทศไทยว่า “ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจังหวัดขอนแก่น ปัญหาสาธารณะสุขที่สำคัญและที่รู้จักกันดีคือปัญหาของโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี ซึ่งปัจจุบันทางสถาบันวิจัยมะเร็งท่อน้ำดีคณะแพทยศาสตร์ได้มีการนำเทคโนโลยีฟีโนมิกส์มาใช้ในการศึกษามะเร็งท่อน้ำดีในแง่มุมต่าง ๆ ตั้งแต่การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีฟีโนมิกส์ในการค้นหาตัวบ่งชี้ทางชีวภาพที่ใช้ในการจำแนก 1) ผู้ป่วยมะเร็งท่อน้ำดี 2) กลุ่มเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งท่อน้ำดี และ 3) คนปกติ ออกจากกัน รวมไปถึงการการศึกษาตัวบ่งชี้ทางชีวภาพต่อการตอบสนองต่อยาเคมีบำบัดในคลินิกของผู้ป่วยมะเร็งท่อน้ำดี และการเกิดซ้ำ (Recurrence) ของผู้ป่วยมะเร็งท่อน้ำดีอีกด้วย ปัจจุบันได้มีการขยายขอบเขตการใช้เทคโนโลยีทางฟีโนมิกส์เพื่อการแพทย์สมัยใหม่ไปสู่โรคอื่น ๆ เช่น การพัฒนาวิธีตรวจวัดตัวบ่งชี้ทางคลินิกที่มีความแม่นยำและจำเพาะสูงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือด โดยตรวจวัดระดับของสาร Trimethylamine N-oxide (TMAO)”
________“จากความสำเร็จข้างต้น ทางคณะแพทย์จึงเห็นว่าการผลักดันการเสริมสร้างความรู้และใช้เทคโนโลยีทางด้านฟีโนมิกส์เพื่อประโยชน์ในการเสริมสร้างและพัฒนาการสาธารณสุขมูลฐานของประเทศไทย ถือเป็นวาระสำคัญที่จะขยายผลการใช้เทคโนโลยีดังกล่าวสู่การพัฒนาการรักษา การตรวจวินิจฉัย ติดตาม และแปลผลในโรคอื่น ๆ ที่เป็นปัญหาสาธารณสุขของไทย เช่น โรคระบบต่อมไร้ท่อ โภชนาการ เมแทบอลิซึม โรคมะเร็งและเนื้องอกชนิดต่าง ๆ โรคระบบหายใจ และโรคระบบทางเดินอาหารและตับอีกด้วย” รองศาสตราจารย์ พญ. วิมลรัตน์ กล่าวในที่สุด
________ในส่วนของสถาบันวิจัยมะเร็งท่อน้ำดีนั้น นับว่าเป็นหน่วยงานแรกที่ได้ริเริ่มการนำเทคโนโลยีฟีโนมิกส์เข้ามาใช้ในการศึกษาวิจัยที่เกี่ยวข้องกับพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี ตั้งแต่การส่งเสริมบุคลากรไปศึกษาต่อระดับปริญญาเอกโดยการสนับสนุนจากทางมหาวิทยาลัยขอนแก่นและคณะแพทยศาสตร์ จัดหาโอกาสการได้รับจัดสรรและเข้าถึงครุภัณฑ์วิจัยชั้นสูง และเป็นหน่วยงานพี่เลี้ยงที่มีส่วนร่วมหลักในการจัดตั้งศูนย์ฟีโนมมหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยการนำของ ศาสตราจารย์ นพ. ณรงค์ ขันตีแก้ว อดีตผู้อำนวยการสถาบันวิจัยมะเร็งท่อน้ำดี
________รองศาสตราจารย์ ดร. วัชรินทร์ ลอยลม กล่าวว่า “เนื่องจากในปัจจุบันทั้งการเกษตร อาหาร และการรักษาทางการแพทย์ มีแนวโน้มเข้าสู่รูปแบบที่เป็นเฉพาะบุคคลมากขึ้น ทั้ง Personalized Nutrition Personalized Medicine และผลิตภัณฑ์อาหารที่อยู่ในรูปของอาหารฟังก์ชันมากขึ้น ดังนั้นเพื่อให้ตอบโจทย์กับการเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่เปลี่ยนแปลงได้อย่างทันท่วงที มหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศไทยรวมถึงในภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อีกทั้งยังมีโรงเรียนแพทย์ คณาจารย์ และนักวิจัยผู้มีความเชี่ยวชาญพร้อมอยู่แล้ว บวกกับครุภัณฑ์วิจัยชั้นสูง จึงมีความพร้อมเป็นอย่างมากในการจัดตั้งศูนย์ฟีโนมมหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยเน้นการประยุกต์ใช้ศาสตร์ฟีโนมิกส์เพื่อการผลิต ตรวจสอบ และควบคุมคุณภาพทั้งในการเกษตร การอาหารและการแพทย์ที่มีความจำเพาะต่อบุคคล เพื่อประโยชน์ต่องานวิจัยหรือในเชิงพาณิชย์ในระดับอุตสาหกรรมในอนาคต” รองศาสตราจารย์ ดร. วัชรินทร์ ลอยลม รักษาการแทนผู้อำนวยการสถาบันวิจัยมะเร็งท่อน้ำดี กล่าว
________ด้านศูนย์ฟีโนมมหาวิทยาลัยขอนแก่นนั้น จัดว่าเป็นหน่วยงานหลักที่ถูกจัดตั้งขึ้นมาโดยการนำของท่านอธิการบดี และรองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบัณฑิตศึกษา เพื่อพัฒนาและขับเคลื่อนการใช้เทคโนโลยีฟีโนมิกส์สำหรับการวิจัยและการบริการวิชาการให้แก่นักวิจัย ผู้ประกอบการ นักศึกษา หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน
________ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. จุฑารพ เพชระบูรณิน กล่าวว่าพันธกิจหลักของศูนย์ฟีโนมมหาวิทยาลัยขอนแก่น มีทั้งหมด 4 ด้าน คือ 1) การขับเคลื่อนการทำงานวิจัยและการพัฒนานวัตกรรมของนักวิจัยและนวัตกรไทยและประเทศในกลุ่มอาเซียนด้วยการให้บริการตรวจวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงของฟีโนมแต่ละระดับ 2) การพัฒนากำลังคนสำหรับการวิจัยและนวัตกรรมด้านฟีโนมิกส์ผ่านการฝึกอบรมหลักสูตรระยะสั้น และการศึกษาหลังปริญญาที่จะผลิตบุคลากรที่มีความพร้อมออกสู่ตลาดแรงงานในระดับนานาชาติ 3) การพัฒนาผลิตภัณฑ์ร่วมกับภาคอุตสาหกรรมมุ่งเน้นการพัฒนาอุตสาหกรรมที่ยั่งยืนบนพื้นฐานความสมดุลของเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม 4) การประสานความร่วมมือและสร้างเครือข่ายทั้งระดับชาติและนานาชาติในการขับเคลื่อนการวิจัยและบริการวิชาการทางด้านฟีโนมิกส์”
________“สำหรับงาน IRURP Symposium และ CliNaP-M ในครั้งนี้เป็นอะไรที่พิเศษมากๆ เนื่องจากเราได้รับเกียรติอย่างมากจากผู้เชี่ยวชาญด้านฟีโนมิกส์ระดับโลกมาเป็นวิทยากรกิตติมศักดิ์ถึง 3 ท่าน คือ Professor Jeremy Nicholson ตำแหน่ง Director of Australian National Phenome Centre และ Pro-Vice Chancellor for Health Science, Murdoch University และ Professor Elaine Holmes ตำแหน่ง Head of the Centre for Computational and Systems Medicine, Murdoch University ประเทศออสเตรเลีย และ Dr. Jia Li ตำแหน่ง Reader of Biological Chemistry, Faculty of Medicine, Imperial College London สหราชอาณาจักรฯ ซึ่งนับว่าเป็นโอกาสที่ดีมาก ๆ ที่เราจะได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญทั้ง 3 ท่านในงานนี้” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. จุฑารพ กล่าวเพิ่มเติม
________อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวทิ้งท้ายว่า “นับว่าเป็นโอกาสครั้งสำคัญที่มหาวิทยาลัยขอนแก่นของเราจะได้ต้อนรับ แลกเปลี่ยนเรียนรู้ และร่วมงานกับผู้เชี่ยวชาญระดับโลกทั้ง 3 ท่าน ขอเชิญชวนคณาจารย์ นักวิจัย นักศึกษา และผู้ที่สนใจเข้าร่วมงานประชุมสัมมนานานาชาติพลิกโฉมมหาวิทยาลัยด้านฟีโนมิกส์ ครั้งที่ 1 และการอบรมหลักสูตรระยะสั้นด้านเมแทโบโลมิกส์ทางคลินิกและสารผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ รุ่นที่ 5 จัดโดยทีมงานศูนย์ฟีโนมมหาวิทยาลัยขอนแก่นและภาคีเครือข่ายทางวิชาการ ระหว่างวันที่ 6 – 10 กุมภาพันธ์ 2566 ครับ”
ข่าว/ภาพ : วัชรา น้อยชมภู