ปัจจุบันตลาดค้าจิ้งหรีดถือว่าสดใสทั้งในประเทศและต่างประเทศ จำหน่ายเป็นอาหารคน 80-90 เปอร์เซ็นต์ อีก 10-20 เปอร์เซ็นต์ เป็นอาหารของสัตว์สวยงาม อาหารคนส่งไปขายที่ จีน เวียดนาม ลาว เขมร ส่วนตลาดในประเทศไทยจิ้งหรีดทอดก็ไปได้สวย ราคาหน้าฟาร์มรับซื้อที่ 80-97 บาท/กิโลกรัม ราคาปลีก 120 บาท/กิโลกรัม นี้จึงเป็นคำตอบของคำถามที่ว่า “ทำไมต้องจิ้งหรีด” ทั้งราคาขายที่ดี ระยะเวลาเลี้ยงที่สั้น แถมคุณค่าทางอาหารก็สูง จากรายงานขององค์การอาหารโลกแห่งสหประชาชาติ หรือ FAO เกี่ยวกับ “แมลงที่ทานได้ ถือว่า จิ้งหรีด เป็นความหวังแห่งอนาคตสำหรับ ความมั่นคงทางอาหารและอาหารสัตว์” แมลงที่ทานได้สามารถแปรรูปเป็นอาหารได้หลายรูปแบบ เช่น เส้นพาสต้า โปรตีนผง ผงโรยข้าว ข้าวเกรียบจิ้งหรีด น้ำพริกจิ้งหรีด และคุกกี้จิ้งหรีด จิ้งหรีด 4 ตัว มีโปรตีนสูง เท่ากับ นม 1 แก้ว
รศ.รังสรรค์ เนียมสนิท ผู้อำนวยการ สยปพ.มข. และหัวหน้าโครงการพัฒนาเกษตรกรผู้เลี้ยงจิ้งหรีดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือสู่ระบบการผลิตที่ได้มาตรฐานความปลอดภัย กล่าวว่า “มหาวิทยาลัยขอนแก่นได้เข้ามาสนับสนุนตั้งแต่ปี 2557 ภายใต้ชื่อโครงการแกไขปัญหาความยากจนตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงที่เรียกว่า “มข. แก้จน” โดยได้เข้ามาช่วยส่งเสริมเกษตรกรให้ทำการเกษตรแบบผสมผสาน เพื่อที่จะมีอาชีพและรายได้ที่สามารถเลี้ยงตัวเองได้ ซึ่งได้ลงพื้นที่ใน 2 อำเภอ 5 หมู่บ้านถือว่าประสบความสำเร็จ ในส่วนของหมู่บ้านฮ่องฮีได้เข้ามาสนับสนุนภายใต้งบประมาณจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม สกสว. จิ้งหรีดเป็นอาหารรูปแบบใหม่ในอนาคต ที่คนภาคอีสานคุ้นชินมาอย่างยาวนานและชาวบ้านได้เลี้ยงมากว่า 10 ปีแล้วขณะนี้มีความพร้อมในการขอใบรับรองการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (Good Agricultural Practice หรือ GAP) โดยได้นำหลักวิชาเข้ามาช่วยทำให้ชุมชนได้มาตรฐาน GAP สู่ระดับสากล มีการสนับสนุนการรวมกลุ่มในชุมชน การแปรรูป และการตลาด หลังจากที่ได้เข้ามาดูแลใน 6 เดือนที่ผ่านมาทางกลุ่มก็มีความสนใจที่จะยกระดับสินค้าให้ได้มาตรฐาน GAP ผลิตภัณฑ์ของหมู่บ้านฮ่องฮีได้มีการนำร่องไปขายที่โรงพยาบาลศรีนครินทร์ ภายใต้ความร่วมมือของกระทรวงเกษตร ทบวง กรม และจังหวัด ในอนาคตเราก็จะสนับสนุนในเรื่องของเกษตรปลอดภัยจากการแปรรูปที่เรียกว่า GMP ทำการตลาดและการรวมกลุ่มที่มีความแข็งแรงที่จะผลึกกำลังกับภาคีเครือข่าย พันธมิตรต่าง ๆ ที่ยกระดับกลุ่มชุมชนให้ก้าวสู่ความเป็นสากล”
ถ่ายภาพ ชุตินันท์ พันธ์จรุง