“สืบฮีตเดือนสาม นำฮอยศรัทธา บูชาพระธาตุพนม” มข.ร่วมอัญเชิญพระอุปคุตในพิธีนมัสการพระธาตุพนม ๒๕๖๓

รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล รักษาการแทน อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น และ ดร.เอื้อนจิต พานทองวิริยะกุล ภริยา พร้อมด้วย รศ.ดร.นิยม วงศ์พงษ์คำ รองอธิการบดีฝ่ายศิลปวัฒนธรรมและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ อ.ดร.กิตติสันต์ ศรีรักษา ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายศิลปวัฒนธรรมและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ผศ.ณัฐพัชญ์ อนันต์ธีระกุล ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายการศึกษา ผศ.เขม เคนโคก รักษาการแทน ผู้อำนวยการศูนย์วัฒนธรรม อ.ดร.ลัดดาวัลย์ สีพาชัย รักษาการแทน รองผู้อำนวยการศูนย์วัฒนธรรม อ.ดร.ปิยนัส สุดี รักษาการแทน รองผู้อำนวยการศูนย์วัฒนธรรม อ.ดร.นิตยา ป้องกันภัย รักษาการแทน รองผู้อำนวยการศูนย์วัฒนธรรม ผศ.ดร.วายุ กาญจนศร รองคณบดีฝ่ายพัฒนานักศึกษาและองค์กรสัมพันธ์ คณะศึกษาศาสตร์ อ.ดร.พรสวรรค์ พรดอนก่อ ผู้อำนวยการวิทยาลัยนาฏศิลปกาฬสินธุ์ พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร คณาจารย์ นักศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่น ร่วมในพิธีนมัสการพระธาตุพนม ประจำปี ๒๕๖๓ พร้อมนำนักศึกษาเข้าร่วมในขบวนอัญเชิญพระอุปคุตเพื่อถวายเป็นพุทธบูชา เมื่อวันที่ ๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๓ ณวัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร อ.ธาตุพนม จ.นครพนม

ขบวนเกียรติยศอัญเชิญองค์พระอุปคุตในแนวคิด “สืบฮีตเดือนสาม นำฮอยศรัทธา บูชาพระธาตุพนม” เป็น ขบวนเกียรติยศอัญเชิญองค์พระอุปคุต อรหันตขีนาสพ ผู้เป็นเลิศทางปราบมาร จากสะดือแม่นํ้าโขง เพื่อไปประดิษฐาน ณ พระวิหารหอพระแก้ว ภายในวัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร ก่อนเปิดงานนมัสการองค์พระธาตุพนม เพื่อขอให้องค์พระอุปคุต มาช่วยคุ้มครองปกปักษ์รักษา ปกป้องภยันตรายต่างๆ ไม่ให้เกิดขึ้น จนกว่างานจะสําเร็จ เรียบร้อยเป็นไปด้วยดี

รูปแบบขบวนประกอบด้วย
– ป้ายนำขบวน โดยผู้ถือป้ายลูกพระธาตุพนม หลานพระธรรม ข้าบั้งจุ้ม
– เครื่องดุริยสัญญาณประโคมแห่ เป็นสัญญาณให้ทราบถึงการบุญอันกำลังบังเกิดขึ้น เพื่อให้สาธุชน ตลอดจนผี เทวดา อารักษ์ ได้ร่วมอนุโมทนาบุญ เครื่องดุริยสัญญาณประโคมแห่นี้
– เจ้าเฮือน ๓ พระองค์ คือ มเหสักข์หรือผีเสื้อบ้าน เสื้อเมืองที่ปกปักรักษาองค์พระธาตุและลูกหลานชาวธาตุพนม ผู้เป็นใหญ่ ๓ องค์ คือ องค์ผ้าขาวหรือเจ้าคำแสน, องค์โฮงกลาง หรือเจ้าแสนเมือง, องค์โต่งกว้างหรือเจ้าปากเซ เมื่อจะเริ่มงานนมัสการองค์พระธาตุพนม จะต้องบอกกล่าวเจ้าเฮือน ๓ พระองค์ ให้ปกปักรักษา อย่าให้มีเภทภัยอันตรายใดๆเกิดขึ้น โดยการปักธงที่หอเจ้าเฮือนสามพระองค์ จะเป็นสัญญาณบอกว่าเริ่มบุญประเพณีและคณะบั้งจุ้ม ได้ข้ามโขงมาถึงวัดพระธาตุพนมแล้ว
– หัวหน้าข้าโอกาส (บั้งจุ้ม) เป็นผู้ถือบั้งจุ้ม หรือบัญชีรายชื่อครัวคนกัลปนาข้าพระธาตุ เล่ากันสืบต่อมาว่า หัวหน้าข้าโอกาสผู้ถือบั้งจุ้ม อาศัยที่บ้านท่าล้งและบ้านท่าเทิง บริเวณตีนภูเขาแขวงสะหวันนะเขต หากไม่มีพวกเขาแล้ว งานบุญเดือนสามไม่อาจเกิดขึ้นได้ เพราะเป็นผู้ถือกุญแจพระธาตุพนม
– พญา ๕ นคร จำลององค์สมมติพญา ๕ นคร เพื่อรำลึกถึงตำนานอันเป็นสัญญลักษณ์ ของการรวมจิตรวมใจ จากหลากหลายแว่นแคว้นเผ่าพันธ์ที่ร่วมกันสร้าง บูรณะดูแลรักษาองค์พระธาตุพนม ไว้มาแต่ครั้งโบราณ คือ พญานันทเสน ครองเมืองศรีโคตรบูร พญาจุลณีพรหมทัต ครองเมืองจุลณี พญาอินทปัตถ์ ครองเมืองอินทปัตนคร พญาคำแดง ครองเมืองหนองหาญน้อย พญาสุวรรณภิงคารครองเมืองหนองหาญหลวง
– ขบวนเครื่องกริยาบูชา คือเครื่องสักการะบูชาตามแบบจารีตอีสาน อาทิเช่น ต้นผึ้ง ต้นเทียน ขันหมากเบ็ง หอผาสาท บายศรีหลวง
– ขบวนพระอุปคุต โดยอัญเชิญองค์พระอุปคุตจำลองขึ้นไว้ บนเสลี่ยงคานหาม นำหน้าโดย ท่านพ่อพระเทพวรมุนี ศรีธรรมโสภณ วิมลศาสนกิจ มหาคณิสสร บวรสังคารามคามวาสี (สำลี ปญฺญาวโร) เจ้าคณะจังหวัดนครพนม และเจ้าอาวาสวัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร แวดล้อมด้วยคณะสงฆ์ อุบาสก อุบาสิกา ตัวแทนศรัทธาสาธุชน คณะสมบัติคูนเมือง-ฮีตบ้านคองเมือง

สำหรับ พระธาตุพนมเป็นปูชนียสถานที่มีความสำคัญต่อมหาวิทยาลัยขอนแก่น อันเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของพุทธศาสนิกชนตลอดลำน้ำโขงมายาวนาน เมื่อแรกตั้งมหาวิทยาลัยขอนแก่น ท่านบูรพาจารย์ได้ ได้ปรึกษาหารือกับนักปราชญ์คนสำคัญของไทยและเป็นบุคคลสำคัญของโลก คือ ศาสตราจารย์ พระยาอนุมานราชธน(ยง เสถียรโกเศศ) ซึ่งท่านได้ให้แนวคิดในการออกแบบตราสัญลักษณ์ที่มีความหมายลึกซึ้งแยบคาย โดยกำหนดให้เป็นตราพระธาตุพนมอันเป็นสัญลักษณ์ของความเคารพศรัทธาของประชาชนทั่วภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวมถึง ฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงเช่นเดียวกับมหาวิทยาลัยขอนแก่นซึ่งเป็นหลักทางการศึกษาของภูมิภาคแห่งนี้องค์พระธาตุประดิษฐานเหนือขอนไม้แก่น สลักชื่อมหาวิทยาลัย หมายถึงเมืองที่ตั้งมหาวิทยาลัย สองข้างมีเทวดาอัญเชิญมิ่งมงคล ประทานสู่สถาบันแห่งนี้ พื้นหลังแบ่งเป็น ๓ ช่อง หมายถึงคุณธรรมของนักศึกษา ๓ประการ ได้แก่ วิทยา คือความรู้ดี จริยาคือความประพฤติดี ปัญญา คือความฉลาดอันเกิดแต่เรียนและคิด ผู้ร่างตรา คือ นายพินิจ สุวรรณบุณย์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (การออกแบบประยุกต์ศิลป์) ผู้มีผลงานการออกแบบตราสัญลักษณ์ เครื่องขัตติยราชอิสริยาภรณ์ และเหรียญกษาปณ์จำนวนมาก ลงเส้นโดยนายโนรี รจนะศิลปิน นายช่างกรมศิลปากร และต่อมาท่านบูรพาจารย์ของมหาวิทยาลัย คือ ศาสตราจารย์พิมล กลกิจ พร้อมด้วย ผู้ช่วยศาสตราจารย์เข้มแข็ง สีตะธนี และนักศึกษารุ่นบุกเบิก ได้ไปขออนุญาตต่อองค์พระธาตุพนม ในปีพ.ศ.๒๕๐๙ โดยท่านเจ้าอาวาสในขณะนั้น คือ พระธรรมราชานุวัตร (ท่านพ่อแก้ว กนฺโตภาโส) ได้ทำพิธีต่อหน้าองค์พระธาตุพนม อนุญาตให้มหาวิทยาลัยขอนแก่นใช้ตราพระธาตุพนมเป็นสัญลักษณ์มหาวิทยาลัย เป็นกรณีพิเศษแต่เพียงสถาบันเดียว โดยมหาวิทยาลัยขอนแก่นมีบทบาทในการบูรณาการงานด้านทำนุบำรุงศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม เข้ากับการจัดการเรียนการสอนงานวิจัย การบริการวิชาการ และกิจกรรมนักศึกษาผ่านงานบุญประเพณีท้องถิ่น พร้อมสร้างภาพลักษณ์และความสัมพันธ์อันดีระหว่างมหาวิทยาลัย สถาบันทางศาสนา และชุมชน อีกทั้งส่งเสริมบทบาทและความสัมพันธ์ของมหาวิทยาลัยขอนแก่นและองค์พระธาตุพนมให้เด่นชัดต่อชุมชน สร้างอัตลักษณ์ในฐานะผู้นำทางการบูรณาการงานศิลปวัฒนธรรมกับงานสอนงานวิจัย งานบริการวิชาการ ให้เป็นรูปธรรม ผ่านการจัดกิจกรรมบุญประเพณี เพื่อให้เกิดความหมายและการยอมรับในฐานะสถาบันการศึกษาที่มีความเข้าใจงานศิลปวัฒนธรรม

Scroll to Top