U2T for BCG คณะเกษตรศาสตร์ มข. จัดอบรมเชิงปฎิบัติ เรื่อง “การแปรรูปกล้วย” จากผลกล้วยสดสู่ผลิตภัณฑ์กล้วยฉาบเพื่อเพิ่มมูลค่าให้แก่ชุมชน ตามหลัก BCG model ในพื้นที่ ต.ป่ามะนาว อ.บ้านฝาง จ.ขอนแก่น

เมื่อวันที่ 6 กันยายน 2565 คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จัดอบรมเชิงปฎิบัติ เกี่ยวกับ “การแปรรูปกล้วย” ภายใต้การดำเนินโครงการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมฐานรากหลังโควิดด้วยเศรษฐกิจหมุนเวียน BCG (U2T for BCG) ณ วัดโนนศิลาอาสน์ ตำบลป่ามะนาว อำเภอบ้านฝาง จังหวัดขอนแก่น ซึ่งทางโครงการมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มศักยภาพและขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคการผลิตและบริการด้าน BCG ในการนำสินค้าและบริการในชุมชนมาพัฒนาและต่อยอดโดยการใช้องค์ความรู้ทางด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาเพื่มมูลค่าของสินค้าในชุมชนอย่างยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

การจัดงานอบรมครั้งนี้จัดขึ้นเนื่องจากกล้วยเป็นผลผลิตที่มีมากในชุมชน แต่เนื่องจากระยะเวลาการเก็บรักษาที่สั้นและได้รับความเสียหายได้ง่าย ทำให้มีการทิ้งผลกล้วยสดในปริมาณมากรวมทั้งขายได้ในราคาที่น้อย ทำให้คนในชุมชนมีความต้องการแปรรูปผลกล้วยดิบให้สามารถเก็บรักษาได้นานขึ้นและขายได้ในราคาที่เพิ่มขึ้น จึงได้มีการจัดอบรมเชิงปฎิบัติ ให้คนในชุมชมได้ลงมือแปรรูปตั้งแต่ต้นจนจบกระบวนการ โดยมีผู้เข้าร่วมกิจกรรมเป็นผู้ที่มีอาชีพปลูกและขายกล้วยอยู่แล้วภายในชุมชน ได้มาเรียนรู้เป็นการลงมือปฎิบัติจริงเกี่ยวกับวิธีการแปรรูปกล้วยให้เป็นผลิตภันฑ์กล้วยฉาบ เพื่อให้สามารถเพิ่มและยกระดับคุณภาพรวมถึงเพิ่มมูลค่าให้กับผลกล้วยที่มีมากในชุมชน

โดยการอบรมในครั้งนี้เป็นการลงมือปฎิบัติตั้งแต่ขั้นตอนการปลอกเปลือก แช่น้ำเกลือ การทอดแผ่นกล้วย ไปจนถึงการปรุงรสชาติต่างๆ ทั้งรสเค็ม รสหวาน รสชีส รสปาปิก้า ที่เป็นที่ชื่นชอบทั้งเด็กและผู้ใหญ่  รวมถึงสอดแทรกเคล็ดลับต่าง ๆ ในการแปรรูปกล้วยฉาบให้มีความกรอบ อร่อย และคงอยู่ได้นานขึ้นด้วย และมีการนำกล้วยฉาบมาใส่ในบรรจุภัณฑ์ที่มีตราสัญลักษณ์หรือโลโก้ของชุมชนป่ามะนาว เพื่อให้เกิดการจดจำผลิตภัณฑ์ในวงกว้างอีกด้วย

โดยมี รศ.ดร. ภาณุพล หงษ์ภักดี และ ผศ.ดร ศุภัชญา นามพิลา อาจารย์จากสาขาวิชาพืชสวน คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่นเป็นผู้รับผิดชอบดูแลโครงการในพื้นที่ตำบลป่ามะนาว และได้รับเกียรติ  จากคุณอังคณา เชยชัยภูมิ มาเป็นวิทยากรในการอบรมครั้งนี้

ทางโครงการหวังเป็นอย่างยิ่งว่าการอบรมครั้งนี้จะเป็นประโยชน์ต่อชุมชนป่ามะนาว ให้สามารถแปรรูปผลกล้วยสดเป็นผลิตภัณฑ์กล้วยฉาบได้ และนำความรู้ที่ได้ไปพัฒนา ต่อยอด เป็นอาชีพเสริม และช่วยเพิ่มรายได้ให้แก่ชุมชน

 

ข่าว : นางสาววิยดี ธัญยาธีรพงษ์ และ นางสาวรัตติยากร กลางเมืองขวา

Scroll to Top