ในปัจจุบันมีการพัฒนาด้านเทคโนโลยีการประมวผลภาพ (Image processing) และปัญญาประดิษฐ์ (Artificial intelligence: AI) ซึ่งสามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้อย่างหลากหลายในทางการแพทย์ ตัวอย่างเช่น การวินิจฉัยโรคผ่านภาพการเคลื่อนไหวจากกล้องวงจรปิด นอกจากนี้เทคโนโลยีดังกล่าวยังสามารถช่วยในการพัฒนาหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด ซึ่งทำให้เกิดแนวทางการรักษาด้วยวิธีการผ่าตัดรูปแบบใหม่ที่จะทำให้มีบาดแผลผ่าตัดมีขนาดเล็กหรือไม่มีเลย สามารถจำลองการผ่าตัดก่อนทำการผ่าตัดจริง หรือทำการผ่าตัดรักษาได้จากระยะไกล เป็นต้น กล่าวได้ว่าในอนาคตจะมีการเปลี่ยนแปลงของระบบการแพทย์ไปอย่างสิ้นเชิง (Disruption in Healthcare)
มหาวิทยาลัยขอนแก่นเล็งเห็นถึงความสำคัญของเทคโนโลยีดังกล่าว จึงได้จัดการประชุม The Asian Conference on Computer Aided Surgery ครั้งที่ 18 (ACCAS 2022) ระหว่างวันที่ 24-26 สิงหาคม 2565 ณ. อุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ภายใต้เจ้าภาพหลักคือ คณะกรรมาธิการสาธารณสุข สภาผู้แทนราษฎร์ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และมหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยมีหัวข้อหลักคือ “Digital Health Innovation” ซึ่งเป็นหัวข้อที่ครอบคลุมระบบการแพทย์ยุคใหม่ โดยเฉพาะด้านคอมพิวเตอร์ช่วยการผ่าตัด เพื่อเป็นเวทีให้กลุ่มนักวิชาการด้านการแพทย์ วิศวกรรมชีวการแพทย์ และนักวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ รวมถึงผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน ได้เสวนาแลกเปลี่ยนความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีทางการแพทย์ สร้างความร่วมมือต่างๆระหว่างนักวิจัยในประเทศกลุ่มสมาชิกของสมาคมคอมพิวเตอร์ช่วยผ่าตัดแห่งเอเชีย (The Asian Society of Computer Aided Surgery (ASCAS)) ซึ่งประกอบด้วยโดยคณาจารย์จากคณะแพทยศาสตร์และคณะวิศวกรรมศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยโตเกียว มหาวิทยาลัยคิวชู และมหาวิทยาลัยอื่นๆ ในทวีปเอเชีย เช่น เกาหลีใต้ จีน ไต้หวัน ฮ่องกง สิงคโปร์ รวมถึงประเทศไทย
ในพิธีการเปิดการประชุม ACCAS 2022 นี้ ได้รับเกียรติจากรองศาสตราจารย์นายแพทย์ ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น พร้อมด้วยผู้บริหารมหาวิทยาลัยขอนแก่น พร้อมทั้งคณาจารย์และบุคลากรจากประเทศกลุ่มสมาชิกของสมาคมคอมพิวเตอร์ช่วยผ่าตัดแห่งเอเชีย เป็นสักขีพยานในการเปิดการประชุม ACCAS 2022 ณ ห้องประชุม Auditorium อุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
ภาพ : วัชรพงษ์ หน่วยเขียว