เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2565 คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จัดอบรม “การผลิตเส้นไหมให้ได้มาตรฐาน และเทคนิคการย้อมสีจากธรรมชาติ” ภายใต้การดำเนินโครงการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมฐานรากหลังโควิดด้วยเศรษฐกิจหมุนเวียน BCG (U2T for BCG) ณ ห้องประชุม องค์การบริหารส่วนตำบลสำโรง อำเภอหนองสองห้อง จังหวัดขอนแก่น ซึ่งทางโครงการมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มศักยภาพและขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคการผลิตและบริการด้าน BCG ในการนำสินค้าและบริการในชุมชนมาพัฒนาและต่อยอดโดยการใช้องค์ความรู้ทางด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาเพิ่มมูลค่าของสินค้าในชุมชนอย่างยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
ที่มาของการจัดอบรมครั้งนี้ สืบเนื่องจากตำบลสำโรงมีประชาชนที่ทอผ้าไหมอยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งส่วนใหญ่ผลิตจากเส้นไหมที่เลี้ยงในชุมชน มีการทอผ้าไหมด้วยมือซึ่งเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่น และใช้สีย้อมเส้นไหมจากสารเคมี ปัญหาที่ชุมชนประสบคือ ขาดความสามารถในการแข่งขันกับผู้ผลิตรายอื่น เนื่องจากไม่มีจุดเด่นที่แตกต่างจากตลาดทั่วไป ดังนั้นเพื่อต้องการที่จะยกระดับและเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ผ้าไหม การฝึกอบรมครั้งนี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อการส่งเสริมการใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมไปยกระดับความสามารถในการผลิตผ้าไหม อย่างยั่งยืน เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และยกระดับกระบวนการผลิตผ้าไหม เพื่อขอการรับรองมาตรฐานตรานกยูงพระราชทาน โดย กรมหม่อนไหม ต่อไป ซึ่งจะเป็นการสร้างจุดเด่นให้กับเกษตรกรผู้ผลิตหม่อนไหม และทอผ้าไหม และนำไปสู่โอกาสทางการตลาดที่กว้างขึ้น โดยเฉพาะตลาดของผู้บริโภคที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม
โดยมี ผศ.ดร.เยาวรัตน์ ศรีวรานันท์ และผศ.หยาดรุ้ง มะวงศ์ไว อาจารย์จากสาขาเศรษฐศาสตร์การเกษตร คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นผู้รับผิดชอบดูแลโครงการในพื้นที่ตำบลสำโรง และได้รับเกียรติจาก คุณปรมัตถ์ เหล่าวอ เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานด้วยมาตรฐานหม่อนไหม กลุ่มงานบริการวิชาการและถ่ายทอดเทคโนโลยีหม่อนไหม ศูนย์หม่อนไหม เฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ขอนแก่น มาเป็นวิทยากร ในการอบรมครั้งนี้
ซึ่งทางโครงการคาดหวังว่าการอบรมครั้งนี้จะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนตำบลสำโรง นำเอาองค์ความรู้เกี่ยวกับการย้อมสีธรรมชาติมาเพิ่มมูลค่าของผ้าไหมทอมือ และการได้รับมาตรฐานตรานกยูงพระราชทานเพื่อเป็นมาตรฐานและช่วยเพิ่มมูลค่าของผ้าไหมของตนเองได้ต่อไป
ข่าว : นางสาวณัฐวดี โสเมือง