วันที่ 23 มิถุนายน 2565 เวลา 09.00 น. ณ ห้องประชุมออดิทอเรียม (Auditorium) อาคารอำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมหาวิทยาลัยขอนแก่น ฝ่ายนวัตกรรมและวิสาหกิจ โดยทีมนักวิจัยจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ คณะเกษตรศาสตร์ ร่วมกับภาคเอกชน ได้จัดการแถลงผลงานวิจัยสู่การปฏิบัติ ลดต้นทุน เพิ่มผลผลิตอัปเกรดเกษตรอุตสาหกรรมไทย เพื่อนำเสนอผลงานและบริการที่ได้จากโครงการแพลตฟอร์มหุ่นยนต์และยานพาหนะไร้คนขับสำหรับการเกษตรที่มีความแม่นยำเพื่อสร้างฟาร์มขนาดใหญ่เสมือน(Robotics platform and unmanned vehicle for precision agriculture to create a virtual mega farm) ภายใต้แผนงาน Spearhead ด้านเศรษฐกิจ โดยมีตัวแทนภาคเกษตรกรรมไร่อ้อย ตัวแทนภาคอุตสาหกรรมแป้งและน้ำตาล นักวิจัย นักวิชาการเกษตร ภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง และผู้ที่สนใจมาร่วมงานจำนวนมาก
พิธีเปิดกิจกรรมครั้งนี้ได้รับเกียรติจาก ดร.ณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม และประธานคณะกรรมการบริหารแผนงานด้านวิทยาการหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ ภายใต้แผนงานวิจัยและนวัตกรรมขนาดใหญ่เพื่อขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การวิจัยและนวัตกรรม 20 ปี (พ.ศ. 2560-2579) มาเป็นประธานกล่าวเปิดงาน โดยมี ศ.ดร. ธิดารัตน์ บุญมาศ รองอธิการบดีฝ่ายนวัตกรรมและวิสาหกิจมหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นผู้กล่าวต้อนรับคณะผู้มาร่วมงาน และ รศ.ดร.ธงชัย สุวรรณสิชณน์ รองผู้อำนวยการด้านบริหารงานวิจัย หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ กล่าวถึงที่มาและวัตถุประสงค์ของแผนงาน Spearhead ด้านเศรษฐกิจภายใต้แผนงานวิจัยและนวัตกรรมขนาดใหญ่เพื่อขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การวิจัยและนวัตกรรม 20 ปี (พ.ศ. 2560-2579) ตามลำดับ
ศ.ดร. ธิดารัตน์ บุญมาศ รองอธิการบดีฝ่ายนวัตกรรมและวิสาหกิจมหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า มหาวิทยาลัยขอนแก่นได้ตระหนักถึงความสำคัญในการพัฒนาผลงานด้านนวัตกรรม และการส่งเสริมวิสาหกิจให้เกิดความก้าวหน้าทางด้านวิชาการและความรู้วิทยาการใหม่ๆ ที่จะทำให้เกิดการต่อยอดและร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อพัฒนาผลงานนวัตกรรมในการต่อยอดเชิงพาณิชย์ ให้เป็นที่ยอมรับในระดับประเทศและระดับสากลงานนี้ ถือเป็นความสำเร็จอีกก้าวหนึ่งของการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านเกษตรของมหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยทีมนักวิจัยจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ คณะเกษตรศาสตร์ ร่วมกับภาคเอกชน บริษัท เอชจี โรโบติกส์ จำกัด (บริษัทผลิตหุ่นยนต์และโดรน) บริษัท โกลบอล ครอปส์ จำกัด (บริษัทเคมีเกษตร) ได้ร่วมกันดำเนินโครงการแพลตฟอร์มหุ่นยนต์และยานพาหนะไร้คนขับสำหรับการเกษตรที่มีความแม่นยำเพื่อสร้างฟาร์มขนาดใหญ่เสมือน (Robotics platform and unmanned vehicle for precision agriculture to create a virtual mega farm) ภายใต้แผนงาน Spearhead ด้านเศรษฐกิจ ซึ่งได้ทุนสนับสนุนการดำเนินโครงการจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) ซึ่งโครงการนี้ได้นำเครื่องมือหรือเทคโนโลยีและนวัตกรรม มาช่วยลดต้นทุนและเพิ่มผลผลิตเกษตรกรและอุตสาหกรรมเกษตรของไทยเช่น อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาล (Industrial group of cane and sugar) อุตสาหกรรมแป้งมันสำปะหลัง เป็นต้น โดยได้พัฒนาระบบวัดผลผลิตและความหวานจากภาพถ่ายโดรน ซึ่งใช้ในการวางแผนการเก็บเกี่ยวและขนส่งได้อย่างแม่นยำในต้นทุนที่ต่ำลง โดรนอัจฉริยะที่ปรับอัตราการฉีดพ่นอัตโนมัติ ซึ่งช่วยลดการใช้สารเคมีให้เกษตรกร ตลอดจนระบบให้คำแนะนำในการวางแผนการปลูก (Planning) ออกแบบแปลง (Farm design) การบำรุงรักษาและอารักขาพืช การเก็บเกี่ยวและการขนส่งให้มีประสิทธิภาพและผลผลิตตรงตามมาตรฐานมากขึ้น ช่วยลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต ให้เกษตรกรอยู่ดี กินดี เกิดความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน และอัปเกรดให้เกษตรอุตสาหกรรมของไทยไปสู่มาตรฐานโลก
จากนั้นเป็นการนำเสนอสรุปผลงานและบริการที่ได้จากโครงการแพลตฟอร์มหุ่นยนต์และยานพาหนะไร้คนขับสำหรับการเกษตรที่มีความแม่นยำเพื่อสร้างฟาร์มขนาดใหญ่เสมือน(Robotics platform and unmanned vehicle for precision agriculture to create a virtual mega farm) ภายใต้แผนงาน Spearhead ด้านเศรษฐกิจ โดย1. รศ.ดร.ขวัญตรี แสงประชารักษ์ จากคณะวิศวกรรมศาสตร์มหาวิทยาลัยขอนแก่น 2. ดร. มหิศร ว่องผาติ กรรมการ บริษัท เอชจี โรโบติกส์ จำกัด 3. นายประวิทย์ ธงชัยระวีวัฒน์ กรรมการบริษัท โกลบอล ครอปส์ จำกัด และ 4. นายสัณฑวัฒน์ สันติธีรากุล บริษัท เอชจี โรโบติกส์ จำกัด ต่อด้วยการแถลงข่าวต่อสื่อมวลชน และการนำเสนอ “การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและผลิตภัณฑ์เครื่องจักรกลการเกษตร”จากตัวแทนภาคเอกชนผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์
กิจกรรมภายในงานยังมีนิทรรศการและการสาธิตนวัตกรรมให้กับผู้ที่สนใจประกอบด้วย สาธิตนวัตกรรมใหม่ เครื่องผสมสารอัตโนมัติ โดรนฉีดพ่นอัจฉริยะ ชุดติดตามการทำงานของเครื่องจักรเกษตร ณ หมวดพืชไร่ คณะเกษตรศาสตร์ สาธิตโดรนฉีดพ่น ไทเกอร์โดรน ณ ลานหญ้า อาคารอำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทดลองใช้บริการระบบประมวลผลภาพถ่ายทางอากาศ (FPS: Hivegrid) ณ ห้องโถง ชั้น 1 อาคารอำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ภาพ/ ข่าว อุดมชัย สุพรรณวงศ์