สำนักบริการวิชาการ รับรางวัล รองชนะเลิศอันดับ 1 และ รางวัลชมเชย โครงการแนวปฏิบัติที่ดี (Good Practice) ประจำปี 2564

สำนักบริการวิชาการ รับรางวัล โครงการแนวปฏิบัติที่ดี (Good Practice)  ประจำปี 2564

                 วันที่ 31 พฤษภาคม 2565 รศ.น.สพ.ดร.ชูชาติ กมลเลิศ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่  เข้ารับรางวัลโครงการแนวปฏิบัติที่ดี (Good Practice) และแนวปฏิบัติที่เป็นการเลิศ (Best Practice) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 มหาวิทยาลัยขอนแก่น มอบโดย นายสุรพล เพชรวรา อุปนายกสภามหาวิทยาลัยและกรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิ ประธานกรรมการ คณะกรรมการด้านการบริหารจัดการที่ดี ณ ห้องประชุมสารสิน ชั้น 2 อาคารสิริคุณากร สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยขอนแก่น

             นางสาวเสาวลักษณ์ ราชำ เป็นผู้รับผิดชอบโครงการ

                   โดย ผลการคัดเลือกโครงการแนวปฏิบัติที่ดี (Good Practice) สำนักบริการวิชาการ ได้รับรางวัลทั้งสิ้น 2 รางวัล ประกอบด้วย  รางวัล รองชนะเลิศอันดับ 1  จาก โครงการการสร้างสรรค์กระบวนการใหม่ด้านบริการวิชาการ ตามรูปแบบสร้างสรรค์คุณค่าธุรกิจคู่สังคม “CSV” Creating Shared Value กรณีศึกษา ตำบลวังสวาบ อำเภอภูผาม่าน โดยมี นางสาวเสาวลักษณ์ ราชำ เป็นผู้รับผิดชอบโครงการ โดยมี  รศ.ดวงจันทร์  นาชัยสินธุ์ จากคณะศิลปกรรมศาสตร์ และ ผศ.ดร.สุกานดา  นาคะปักษิณ เป็นอาจารย์ที่ปรึกษาโครงการ ร่วมรับมอบรางวัล โครงการนี้เป็นการพัฒนาร่วมกันกับชุมชนตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ไปจนถึงปลายน้ำ โดยร่วมกันก่อตั้งโฮมสเตย์ภายในชุมชน การสร้างเครือข่ายในการท่องเที่ยวของชุมชน การผลักดันด้านการท่องเที่ยวโดยทีมนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยขอนแก่น รวมถึงการพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์ภายในชุมชน จนประสบความสำเร็จ โดยมีข้อโดดเด่นที่ได้รับคำชมจากกรรมการตัดสิน ในเรื่องของการเกิดการรวมกลุ่มที่สามารถผลิตสินค้าได้หลากหลายเกิดรายได้ การสร้างเครือข่ายการทำงานโดยมีหลายๆองค์กรร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียนในชุมชน มีรูปแบบการทำงานที่ชัดเจน มีนักศึกษาและอาจารย์ร่วมกันทำงานในหลายสถาบัน ทำงานร่วมกันอย่างมีขั้นตอน และส่งต่อข้อมูลกันอย่างเป็นระบบ

นายชนะชัย ฤทธิ์ทรงเมือง ผู้รับผิดชอบโครงการ

      และ รางวัลชมเชย จาก โครงการ พัฒนางานหัตถกรรมมรดกทางภูมิปัญญา และการผลิตผ้าไหมมอดินแดง ชุมชนต้นแบบสำนักบริการวิชาการ พื้นที่ ต.ท่ากระเสริม อ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น โดยมี นายชนะชัย ฤทธิ์ทรงเมือง ผู้รับผิดชอบโครงการ พร้อมด้วยตัวแทนจากหน่วยงานที่มีส่วนร่วมในโครงการนี้ ได้แก่ นส.พิมลรัตน์ เมธินธรังสรรค์ นักวิชาการเกษตรชำนาญการ ศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติฯ จังหวัดขอนแก่น และ นายประสิทธิ์ คลังกลาง นายก องค์การบริหารส่วนตำบลท่ากระเสริม ร่วมเข้ารับมอบรางวัล โดยโครงการนี้เป็นการต่อยอดการส่งเสริมการทอผ้าไหมในพื้นถิ่นซึ่งสำนักบริการวิชาการได้ลงพื้นที่เพื่อพัฒนากระบวนการในการทอผ้าไหมเพื่อให้ผ่านการรับรองจนได้รับตรานกยูงพระราชทานสีเงิน หลังจากนั้นจึงต่อยอดโดยการผสมผสานเข้ากับอัตลักษณ์ของมหาวิทยาลัยขอนแก่น นั้นคือดินแดง โดยการนำเอาดินแดงมาย้อมสีจนเกิดเป็นผ้าไหมมอดินแดง เพื่อเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับผ้าไหมของชุมชน

     รศ.น.สพ.ดร.ชูชาติ กมลเลิศ ได้กล่าวถึงพันธกิจในด้านการบริการวิชาการของสำนักฯ โดยในปัจจุบันมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการให้บริการวิชาการแก่สังคมเพื่อให้สอดคล้องกับประเด็นยุทธศาสตร์ของมหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยปรับเปลี่ยนในประเด็นเพื่อให้สอดคล้องกับการให้บริการวิชาการในรูปแบบของการให้คุณค่าร่วมกัน (CSV) และ ในประเด็นของเป้าหมายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs)ของสหประชาชาชาติ โดยทั้ง 2 โครงการนี้ได้มุ่งเน้นไปยังในเรื่องของการแก้ไขปัญหาความยากจน (SDGs1) และ ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs17) อีกด้วย

 

 

Scroll to Top