วันนี้ (17 พฤษภาคม 2565 ) เวลา 15.00 – 17.00 น. มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยฝ่ายวิจัยและบัณฑิตศึกษา กำหนดจัดกิจกรรมความร่วมมือ MOU ระหว่างมหาวิทยาลัยขอนแก่น กับธนาคารโลก หรือ World bank โดยได้รับเกียรติจาก รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น และ ดร.เบอร์กิต แฮนเซิล ผู้จัดการธนาคารโลกประจำประเทศไทย โดยมี รศ.ดร. ปุ่น เที่ยงบูรณธรรม รองผู้อำนวยการฝ่ายแผนและยุทธศาสตร์องค์กร หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.)จากสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.)ศ.ดร.มนต์ชัย ดวงจินดา รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบัณฑิตศึกษา และ รศ.ดร.ศุภวัฒนากร วงค์ธนวสุ รักษาการผู้อำนวยการฝ่ายสนับสนุนทุนวิจัยและนวัตกรรมโปรแกรมวิจัย 15 หน่วย บพท.เป็นพยาน การลงนามข้อตกลงความร่วมมือครั้งนี้เพื่อให้มีการศึกษาวิจัยบริบทและศักยภาพ ของเมืองเป้าหมาย และ ศึกษาข้อมูลจาก ต่างประเทศในด้านแหล่งเงินทุนในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ตลอดจนการจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายทิศทางและแนวคิดในมิติต่าง ๆ ของการลงทุนระดับประเทศ ที่จะยกระดับคุณภาพชีวิต และบรรลุเป้าหมายในการพัฒนาร่วมกัน ทั้งนี้ได้รับเกียรติจากผู้บริหารจากทั้งสองฝ่ายร่วมงานจำนวนมาก ณ ห้องสารสิน อาคารสิริคุณากร ชั้น 2 มหาวิทยาลัยขอนแก่น
รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า “การเป็นหุ้นส่วนในการวิจัยร่วมกับธนาคารโลกในครั้งนี้ จะเป็นก้าวย่างที่สำคัญสำหรับมหาวิทยาลัยในฐานะขุมพลังความรู้ของพื้นที่และเป็นหมุดหมายสำคัญสำหรับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระดับเมืองของประเทศไทย โดยมหาวิทยาลัยขอนแก่น ร่วมกับมหาวิทยาลัยเครือข่าย ได้แก่ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มหาวิทยาลัยบูรพา และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จะสร้างองค์ความรู้ เสริมสร้างศักยภาพความสามารถในการลงทุนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ดึงดูดและส่งเสริมความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน ในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานและบริการสาธารณะอื่น ๆ ในเมืองขอนแก่น รวมถึงเมืองเป้าหมายในการวิจัย ได้แก่ ภูเก็ต ระยอง เชียงใหม่ และนครสวรรค์ และถ่ายทอดองค์ความรู้เหล่านี้ไปสู่เมืองอื่น ๆ ของประเทศไทยในอนาคต” อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าว
รศ.ดร. ปุ่น เที่ยงบูรณธรรม รองผู้อำนวยการฝ่ายแผนและยุทธศาสตร์องค์กร หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.)กล่าวว่า “ในปัจจุบันเมืองต่าง ๆ เผชิญข้อจำกัดด้านงบประมาณและศักยภาพ ซึ่งปิดกั้นโอกาสที่จะได้พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่เหมาะสมและสร้างเมืองให้เป็นเมืองน่าอยู่ เราหวังว่าความร่วมมือกับธนาคารโลกครั้งนี้จะช่วยแก้ปัญหาข้อจำกัดดังกล่าวและช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ดียิ่งขึ้น”
ความร่วมมือนี้จะสร้างเวทีแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างธนาคารโลก นักวิจัยชาวไทย สถาบันภาครัฐและเอกชนที่สำคัญ ตลอดจนเจ้าหน้าที่จากห้าเมืองในโครงการจัดหาเงินทุนเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระดับเมือง โดยมีองค์ประกอบสำคัญคือ การร่วมวิจัยบริบทของแต่ละเมืองและการเปรียบเทียบกับแนวปฏิบัติทั่วโลก และการหารือและสะท้อนมุมมองของนักลงทุนและนักการเงินระหว่างประเทศ เพื่อระบุประเด็นปัญหา ข้อจำกัด และทางออก
ดร.เบอร์กิต แฮนเซิล ผู้จัดการธนาคารโลกประจำประเทศไทย เผยว่า “ขณะนี้มีพื้นที่เมืองกำลังผุดขึ้นมาภายนอกกรุงเทพมหานคร ซึ่งสร้างโอกาสให้กับประชากรในพื้นที่ เนื่องจากเมืองเหล่านี้ยังอยู่ในช่วงต้นของการพัฒนาเมือง เราหวังว่าความร่วมมือนี้จะทำให้เมืองเหล่านี้ได้มีทางเลือกในการพัฒนาเมืองของตนได้ดียิ่งขึ้น ธนาคารโลกมีบริการให้คำปรึกษาในลักษณะให้ความช่วยเหลือด้านเทคนิคนี้ได้รับการสนับสนุนเงินทุนวิจัยจาก สกสว. โดยใช้บริการการให้คำปรึกษาโดยมีค่าตอบแทน (Reimbursable Advisory Services (RAS)) กับประเทศที่มีรายได้ปานกลางและรายได้สูงตามการร้องขอของประเทศนั้นๆ โดยอาจจะอยู่ในรูปแบบ การศึกษา วิจัย และการสนับสนุนการดำเนินโครงการ ธนาคารโลกมีความร่วมมือกับประเทศไทยมาเป็นเวลากว่า 70 ปี ในช่วงแรก ธนาคารโลกให้ความช่วยเหลือทางการเงินโดยตรงสำหรับการพัฒนาในประเทศไทยโดยมุ่งเน้นการสร้างโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ถนน เขื่อน การชลประทาน การผลิตไฟฟ้า รถไฟ และท่าเรือ ซึ่งล้วนช่วยกระตุ้นกิจกรรมการผลิตและการค้าในประเทศ ปัจจุบัน ประเทศไทยกลายเป็นประเทศที่มีรายได้ปานกลางที่มีพลวัตรด้านการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งประโยชน์จากความร่วมมือกับธนาคารโลกจะไม่ใช่แต่เพียงด้านการเงินเท่านั้น แต่ยังครอบคลุมถึงบริการให้คำปรึกษาและการศึกษาวิจัยจากธนาคารโลกอีกด้วย”
รศ.ดร.ศุภวัฒนากร วงค์ธนวสุ รักษาการผู้อำนวยการฝ่ายสนับสนุนทุนวิจัยและนวัตกรรมโปรแกรมวิจัย 15 หน่วย บพท. กล่าวว่า เป็นทีทราบกันดีว่า การพัฒนาประเทศไทยที่ผ่านมา ที่มีนโยบายที่เน้นกรุงเทพฯ เป็นศูนย์กลางได้บิดเบี้ยวการจัดสรรทรัพยากร การเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทย ได้ก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำอันเป็นความเสี่ยงต่อการพัฒนาของประเทศในอนาคต ดังนั้น ทิศทางนโยบายรัฐบาลสำหรับการพัฒนาระดับภูมิภาคจึงเริ่มมุ่งเน้นไปที่รูปแบบการเติบโตที่สมดุลและทั่วถึง
“การพัฒนาเมือง จึงเป็นทางเลือกทางยุทธศาสตร์ที่สำคัญ บนบริบทของปะเทศไทยที่มีความแข็งตัวเนื่องจาการรวมศูนย์กลางที่จะกระจายโอกาสสู่ท้องถิ่นและภูมิภาคต่างๆ เป็นโอกาสที่จะให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วมการพัฒนาอย่างเป็นรูปธรรมในท้องถิ่นของเขาเอง และเป็นความท้าทายที่จะเป็นการร่วมมือของรัฐ ประชาชน และเอกชน ในกิจกรรมและการลงทุนต่างๆ ที่ผ่านมาในโปรแกรมวิจัยที่ 15 เมืองน่าอยู่และการกระจายศูนย์กลางความเจริญ มีการดำเนินการวิจัยผ่านสิ่งที่เรียกว่า กลไกใหม่ของการขับเคลื่อนเมือง โดยเน้นกรอบการเปลี่ยนแปลง 4 ด้าน คือ วิธีการแก้ปัญหาและตอบโจทย์เมือง (City Solution) ข้อมูลและความรู้ (Data & Knowledge) กลไกทางสังคม (Social Mechanism) และ แบบแผน การลงทุน (Investment Scheme) โดยการดำเนินการวิจัยที่ผ่านมาถือว่าตอบโจทย์การเปลี่ยนแปลงไปที่ นโยบาย (Policy) เป็นหลัก”
ดังนั้นเพื่อเป็นการปลดล๊อคขอจำกัดด้านความสามารถในการลงทุนในระดับพื้นที่ และสนองตอบต่อนโยบายของกระทรวงฯ ที่มุ่งให้มหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัยที่อยู่ติดพื้นที่และมีความใกล้ชิดเข้าใจพื้นที่เป็นขุมกำลังของการพัฒนา หน่วย บพท. โปรแกรมวิจัยที่ 15 จึงได้สนับสนุนทุนวิจัยจำนวน 15 ล้านบาท ให้กับมหาวิทยาลัยขอนแก่นและภาคีเครือข่าย ทำงานร่วมกับธนาคารโลก ในโครงการวิจัย “การประเมินแหล่งเงินทุนสำหรับการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเพื่อพัฒนาเมือง” ซึ่งเป็นที่มาของการลงนามในสัญญาการให้บริการให้คำปรึกษา ระหว่าง มหาวิทยาลัยขอนแก่นและภาคีเครือข่าย กับธนาคารโลกในวันนี้
KKU joins the World Bank and 5 Thai cities to locate funds for infrastructure development and upgrading quality of life in the whole country
ภาพ / ข่าว : จิราพร ประทุมชัย