มหาวิทยาลัยขอนแก่น ร่วมกับ สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) หรือ Electronic Transactions Development Agency: ETDA (เอ็ตด้า) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้ร่วมจัดทำโครงการวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อจัดทำคู่มือการสร้างความตระหนักรู้ในการใช้งานอินเทอร์เน็ต ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนากรอบความฉลาดทางดิจิทัล พัฒนาเนื้อหาและสื่อประกอบการเรียนรู้ และจัดอบรมเพื่อสร้างความตระหนักรู้ในการใช้งานอินเทอร์เน็ตและพัฒนาความเป็นพลเมืองดิจิทัล โดยในการพัฒนากรอบความฉลาดทางดิจิทัลของประเทศไทย ได้สังเคราะห์จากกรอบสมรรถนะของ DQ Institute ซึ่งเป็นองค์กรด้านความฉลาดทางดิจิทัลที่ได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ และประเทศผู้นำทางด้านดิจิทัลต่างๆ ทั่วโลก โดยพัฒนาให้เข้ากับบริบทของประเทศไทย จนได้มาเป็น “สมรรถนะการเป็นพลเมืองดิจิทัลของประเทศไทย” ซึ่งประกอบด้วย สมรรถนะ 5 ด้าน ได้แก่
ด้านที่ 1 อัตลักษณ์ดิจิทัล เป็นการระบุสมรรถนะของบุคคลเกี่ยวกับข้อมูลและลักษณะส่วนตัว ที่สามารถกำหนดให้เป็นที่รับรู้ในโลกดิจิทัล รวมทั้งการจัดการสิทธิ์ และความเป็นส่วนตัว
ด้านที่ 2 การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลอย่างเหมาะสม ซึ่งจะให้ความสำคัญเกี่ยวกับผลกระทบต่อสุขภาพ อารมณ์ และความรู้สึกจากการใช้เวลาหน้าจอไปกับโลกดิจิทัล
ด้านที่ 3การจัดการความปลอดภัยในโลกดิจิทัล โดยจะมุ่งเน้นการจัดการความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ สำหรับบุคคลและเครือข่าย
ด้านที่ 4 การรู้เท่าทันดิจิทัล โดยมุ่งเน้นให้สามารถค้นหา จัดการ วิเคราะห์และประเมินข้อเท็จจริงที่ได้รับจากโลกดิจิทัล รวมทั้งการผลิตและสร้างสรรค์เนื้อหาดิจิทัลได้
ด้านที่ 5 การสื่อสารดิจิทัล เพื่อการมีปฏิสัมพันธ์ สร้างความร่วมมืออย่างสร้างสรรค์ในโลกดิจิทัล รู้จัก และสามารถจัดการกับร่องรอยบนโลกดิจิทัล
จากกรอบความฉลาดทางดิจิทัลทั้ง 5 ด้านนี้ โครงการได้ดำเนินการพัฒนาคู่มือเนื้อหาเพื่อการเรียนรู้และการฝึกอบรมจำนวน 2 ฉบับ ฉบับที่ 1 เป็นคู่มือสำหรับเด็กและเยาวชน และฉบับที่ 2 เป็นคู่มือสำหรับผู้สูงอายุ ที่จะสามารถนำไปใช้ในการเรียนรู้ด้วยตนเอง และใช้เป็นส่วนหนึ่งของการจัดอบรม
คู่มือเยาวชน: https://online.fliphtml5.com/hlmpo/exgl/#p=1
คู่มือผู้สูงอายุ: https://online.fliphtml5.com/hlmpo/ftkf/#p=1
รวมทั้ง มีการผลิตวีดิทัศน์ประกอบการเรียนรู้ จำนวน 3 ชุด และสื่อกราฟิก จำนวน 5 ชุด นอกจากนี้ โครงการยังได้จัดอบรมเพื่อสร้างความตระหนักรู้ในการใช้งานอินเทอร์เน็ตและพัฒนาความเป็นพลเมืองดิจิทัล โดยมีกลุ่มเป้าหมายเป็นเด็กและเยาวชน รวมทั้งผู้สูงอายุในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ
อบรมกลุ่มเด็กและเยาวชนทั่วประเทศ จำนวน 237 ราย โดยแบ่งเป็น
- ภาคเหนือ มีผู้เข้าร่วมอบรมทั้งสิ้น จำนวน 40 ราย
- ภาคใต้ จำนวน 42 ราย
- ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 74 ราย
- ภาคกลางและตะวันออก จำนวน 41 ราย
- กรุงเทพฯ และปริมณฑล จำนวน 40 ราย
ส่วนกลุ่มผู้สูงอายุที่เข้าร่วมอบรมทั่วประเทศ มีจำนวนรวม 216 ราย โดยแบ่งเป็น
- ภาคเหนือ จำนวน 46 ราย
- ภาคใต้ จำนวน 47 ราย
- ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 43 ราย
- ภาคกลางและตะวันออก จำนวน 40 ราย
- กรุงเทพฯ และปริมณฑล จำนวน 40 ราย
ทั้งนี้ เพื่อให้สามารถขยายผลการพัฒนาความฉลาดทางดิจิทัลของคนไทยเกิดขึ้นอย่างกว้างขวางทางมหาวิทยาลัยขอนแก่น ร่วมกับ ETDA จึงได้จัดทำบทเรียนออนไลน์ขึ้น ซึ่งผู้สนใจสามารถเข้ามาเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง โดยหากผ่านการทดสอบการเป็นพลเมืองดิจิทัลจะได้รับในประกาศนีบัตรที่ผ่านการเรียนรู้ด้วย โดยการจัดทำบทเรียนเพื่อพัฒนาพลเมืองดิจิทัลนี้ ได้จัดทำขึ้น 2 บทเรียน คือ
- วัยเก๋าไทย Go Cyber สำหรับผู้สูงอายุและผู้สนใจทั่วไป
- เยาวชนไทย Go Cyber สำหรับเด็กและเยาวชน
ซึ่งทั้ง 2 บทเรียนสามารถเข้าเรียนรู้เพิ่มเติมได้ที่ ระบบ KKUX https://x.kku.ac.th
คอร์สเรียนออนไลน์บนระบบ KKKx
อย่างไรก็ตาม โครงการยังได้เผยแพร่สื่อต่าง ๆ ที่จะสามารถเรียนรู้ได้ด้วยตนเองทางเว็บไซต์ของสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ www.etda.or.th ซึ่งในการเรียนรู้ผ่านสื่อดังกล่าวนี้ จะเป็นประโยชน์ในระดับบุคคลที่จะประเมินและพัฒนาตนเอง ในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลอย่างสร้างสรรค์ และมั่นคงปลอดภัย โดยเฉพาะในกลุ่มเยาวชนและผู้สูงอายุ
การเรียนรู้และพัฒนาความฉลาดทางดิจิทัลนี้ จะเป็นแนวทางที่ส่งเสริมให้คนไทยใช้เทคโนโลยีเพื่อสร้างประโยชน์ ปกป้องตนเองจากภัยคุกคามออนไลน์ และร่วมสร้างสรรค์โลกดิจิทัลมาร่วมเป็นพลเมืองดิจิทัลที่ดี กับ ETDA และมหาวิทยาลัยขอนแก่นไปด้วยกัน เพื่อยกระดับชีวิตและสังคม เพราะเราเชื่อว่าสังคมดิจิทัลที่ดีเราทุกคนสร้างได้
เว็บไซต์ ETDA https://www.etda.or.th/th