เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2564 เวลา 09.00 น. คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จัดโครงการฝึกอบรมเรื่องการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพดีในชุมชน ภายใต้โครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ (มหาวิทยาลัยสู่ตำบล สร้างรากแก้วให้ประเทศ: U2T) ณ โดมอเนกประสงค์ หมู่ที่ 7 บ้านโนนสมนึก ตำบลบ้านแท่น อำเภอชนบท จังหวัดขอนแก่น โดยมี ผศ.ดร.จิรวัฒน์ สนิทชน อาจารย์ประจำสาขาวิชาพืชไร่ คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นวิทยากรหลักในการฝึกอบรม และมี ผศ.ดร.อรุณี พรมคำบุตร หัวหน้าสาขาส่งเสริมการเกษตรและเชิงเกษตรเชิงระบบ คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ดูแล และผู้ประสานงานและติดตามผลการดำเนินงานโครงการ ฯ ตำบลบ้านแท่น อำเภอชนบท จังหวัดขอนแก่น
สำหรับการจัดฝึกอบรม มีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกษตรกรในชุมชนมีความรู้ที่ถูกต้องในการผลิตและเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์ข้าวเพื่อเก็บไว้ทำเมล็ดพันธุ์เอง เนื่องจากเกษตรกรต้องซื้อหรือขอรับการสนับสนุนเมล็ดพันธุ์ข้าวจากหน่วยงานราชการทุกปี ซึ่งจะทำให้ลดต้นทุนการผลิต และลดการพึ่งพิงปัจจัยการผลิตข้าวนอกชุมชน นอกจากนี้ หากเกษตรกรสามารถผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพดีได้ ยังสามารถพัฒนาเป็นสินค้าของชุมชน ตำบลบ้านแท่น อ.ชนบท จังหวัดขอนแก่น ได้อีกด้วย
ซึ่งในการอบรมครั้งนี้ผู้อบรมได้ความรู้ 3 หัวข้อหลัก ได้แก่
1. แนวทางการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับเมล็ดพันธุ์ข้าว (GAP)
2. การแก้ไขปัญหาการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพดี
3. แนวทางการพัฒนากลุ่มผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพดีเพื่อจำหน่าย
จากการประชุมหารือ พบว่า เกษตรกรปลูกข้าวแบบหว่านข้าวแห้ง ส่งผลให้มีปัญหาเรื่องวัชพืช มีหญ้าในนาข้าวเป็นจำนวนมาก หญ้าที่เป็นปัญหาสำคัญได้แก่ หญ้าใบข้าว หญ้าตีนตุ๊กแก โสนแดง และไมยราบ วิธีแก้ปัญหาที่แนะนำคือ การทำนาดำ ช่วยให้กำจัดหญ้าได้ง่าย โดยไม่ต้องใช้สารเคมีในการกำจัดวัชพืช นอกจากนี้ ยังใช้อัตราเมล็ดพันธุ์ข้าวน้อยกว่าการหว่าน อย่างไรก็ตาม พบว่า เกษตรกรส่วนใหญ่ไม่นิยมทำนาด้วยวิธีการปักดำ เนื่องจากต้นทุนสูง และพื้นที่แห้งแล้ง วิทยากรจึงได้เสนอวิธีการทำนายอด ทั้งนี้เพราะการทำนาหยอด สามารถกำจัดวัชพืชและข้าวพันธุ์ปนได้ง่าย อย่างไรก็ตาม หากมีความจำเป็นต้องทำนาหว่านการกำจัดวัชพืชโดยการการตัดใบข้าวพร้อมหญ้าที่ระยะข้าวแตกกอ สามารถเพิ่มการแตกกอของข้าวและเพิ่มผลผลิตพร้อมกำจัดวัชพืชได้ นอกจากนี้ ยังพบว่าเกษตรกรส่วนใหญ่ใช้วิธีเก็บเกี่ยวข้าวด้วยรถเกี่ยวข้าวพร้อมนวด ซึ่งส่วนใหญ่เป็นรถรับจ้างจากจังหวัดในภาคกลาง จึงทำให้ข้าวที่เก็บเกี่ยวได้มีข้าวพันธุ์ปนค่อนข้างมาก ทั้งนี้ วิทยากรได้แนะนำให้ใช้วิธีการเกี่ยวด้วยมือ เมื่อเกษตรกรสามารถแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้อย่างถูกวิธีก็จะส่งผลให้ผลผลิตที่ได้มีคุณภาพมากขึ้น และส่งผลให้เกษตรกรสามารถพัฒนาข้าวให้มีคุณภาพดี พัฒนาไปสู่การผลิตข้าวที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน Good Agricultural Practices : GAP : การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (สำหรับเมล็ดพันธุ์ข้าว)
โครงการฝึกอบรมนี้ได้รับความร่วมมือจากผู้นำชุมชน องค์การบริหารส่วนตำบล กำนันตำบลบ้านแท่น และผู้นำหมู่บ้านในการประชาสัมพันธ์และประสานงานเป็นอย่างดียิ่ง ซึ่งมีผู้สนใจเข้าร่วมกิจกรรมจากหมู่ที่ 7 บ้านโนนสมนึก จำนวน 50 คน
ข่าว : นางสาววราภรณ์ สวัสดิ์นะที และ นางสาวอรปรียา เกรียงศรี (ผู้ปฏิบัติงานโครงการมหาวิทยาลัยสู่ตำบลบ้านแท่น)